สมรรถภาพใน “การปรับตัว” คือความสำเร็จในชีวิต | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าใครเป็นคนตั้งธรรมเนียมว่า โรงเรียนควรจะมีคำขวัญประจำโรงเรียน

แต่ก็สังเกตเห็นว่า ถ้าเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงยั่งยืนมาช้านาน ก็มักจะมีคำขวัญประจำโรงเรียนด้วยกันทั้งสิ้น เช่น พ่อของผมเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ คำขวัญของโรงเรียนนั้นที่ว่าอย่าเป็นคนรกโลก แถมยังมีภาษาบาลีกำกับไว้ด้วย

เป็นเรื่องที่พ่อได้เล่าให้ผมฟังตั้งแต่เป็นเด็ก ถึงแม้ผมจะไม่ใช่นักเรียนเก่าโรงเรียนนั้นก็พลอยจำคำขวัญของโรงเรียนนี้ได้ขึ้นใจ

ผมสังเกตดูว่าคำขวัญของโรงเรียนทั้งหลาย อาจจะจำแนกได้เป็นสองสามกลุ่ม

กลุ่มแรกนำมาจากพุทธภาษิต เช่นโรงเรียนเทพศิรินทร์ที่ผมว่ามาข้างต้น

หรือโรงเรียนที่ผมเป็นนักเรียนชั้นประถม คือโรงเรียนสวนบัว ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชน มีคุณหมออวย เกตุสิงห์ เป็นเจ้าของโรงเรียน ท่านก็นำพุทธภาษิตที่ว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา มาเป็นคำขวัญ

และมีคำแปลเป็นภาษาไทยที่แต่งเป็นกาพย์ฉบังว่า แสงสว่างใดในโลกนี้ ไป่โรจน์รุจี เสมอแสงแห่งปัญญา และอาจจะมีอีกหลายโรงเรียนที่มีคำขวัญเดินในแนวทางนี้

ส่วนกลุ่มที่สองนั้น แลดูทันสมัยเข้ากับยุคปัจจุบันมากขึ้น โดยนำปรัชญาหรือความคิดที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาแห่งนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาผูกเป็นคำขวัญ โดยมากก็จะมีเนื้อหาวนเวียนอยู่กับเรื่องของความรู้ คุณธรรม วินัย การกีฬา มารยาท หรืออะไรทำนองนี้

ลองตรวจสอบดูแล้วจะพบว่าประเด็นที่ตีคู่กันมาและได้รับความนิยมสูงสุดน่าจะเป็นเรื่องของความรู้และคุณธรรมซึ่งผลัดแพ้ผลัดชนะกันว่าใครจะมาก่อนมาหลัง

เช่น บางโรงเรียนก็ว่า ความรู้คู่คุณธรรม ขณะที่อีกโรงเรียนหนึ่งบอกว่า คุณธรรมนำความรู้

ตัวอย่างของคำขวัญประจำโรงเรียนในกลุ่มนี้มีมาก ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช มีคำขวัญว่า การเรียนดี ฝีมือเด่น กีฬาเยี่ยม มารยาทยอด

ในขณะที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม บอกว่า รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ศึกษา กีฬาเด่น ฯลฯ

 

ผมลองใช้ Google เข้าไปสอบค้นดู ตามที่ท่านผู้ใหญ่ของประเทศท่านแนะนำ พบว่าคำขวัญประจำโรงเรียนกลุ่มนี้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นรายหนึ่งบอกว่า คำขวัญประจำโรงเรียนของเขามีว่า เรียนดี กีฬาเด่น เน้นค่าเทอม อ่านแล้วไม่กล้าพาลูกหลานไปสมัครเรียนเลยครับ

ถ้าใครรู้ว่าอยู่แถวไหนบอกกันบ้าง จะได้หลบหนีทัน

นอกจากโรงเรียนสวนบัวซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นประถมต้นของผมแล้ว ผมยังได้เรียนชั้นประถมปลายและชั้นมัธยมศึกษาจนจบชั้นสุดท้ายก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน คำขวัญของโรงเรียนแห่งนี้มาแหวกแนวไม่เหมือนใครอื่น เพราะไม่ได้อ้างอิงพุทธภาษิตหรือถ้อยคำยอดนิยมชุดที่ว่ามาข้างต้น หากแต่บอกนักเรียนว่า “สมรรถภาพในการปรับตัวคือความสำเร็จในชีวิต”

ผมไม่ทราบจริงๆ ครับว่าครูบาอาจารย์ท่านไหนเป็นผู้คิดคำขวัญประโยคนี้ขึ้น และตอนเด็กๆ ก็จำไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่ามีคำขวัญนี้ มาเห็นคุ้นตาและจำได้จริงๆ ก็ตอนเรียนจบมาหลายปีแล้ว

ยิ่งมีชีวิตยืนยาว มีอายุมากขึ้นและผ่านพบประสบการณ์มาทั้งสุขและทุกข์ ก็ยิ่งเห็นว่าคำขวัญนี้สอนใจอะไรได้มาก และเป็นประโยชน์จริงๆ

ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงว่า เรื่องความรู้กับคุณธรรมนั้น เป็นเรื่องสองเรื่องที่โรงเรียนทุกโรงเรียนต้องพยายามปลูกฝังให้มีขึ้นในผู้เป็นนักเรียนของตัวเองอยู่แล้ว จะเรียกว่าเป็นภาคบังคับก็เห็นจะได้

ส่วนจะทำได้ดีเพียงไหนก็เป็นอีกโจทย์หนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าทุกโรงเรียนและครูทุกคนก็พยายามทำหน้าที่ในส่วนนี้จนเต็มกำลัง

แต่โลกที่อยู่นอกโรงเรียนยังมีอะไรที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนกว่านั้นอีกมาก เพียงแต่ความรู้ในทางวิชาการกับคุณธรรมที่รู้ผิดรู้ชอบ จำแนกชั่วและดีออกจากกันได้ อาจจะไม่สามารถตอบคำถามที่เกิดขึ้นรายวันข้างนอกโรงเรียนได้

แต่ต้องระวังนะครับ อย่าเผลอไปนึกว่า “การปรับตัว” ในความหมายนี้ จะต้องปรับตัวไปจนกระทั่งถึงขีดขั้นที่ผิดหลักวิชาและฝ่าฝืนกับคุณธรรม ถ้าเราปรับตัวไปสุดโต่งจนถึงขีดขั้นนั้นแล้ว เห็นจะไม่ไหวแล้วละครับ

แค่มองตัวเองในกระจกก็ละอายต่อบาปเต็มทีแล้ว

การปรับตัวที่เป็นสมรรถภาพสำคัญที่ควรปลูกฝังไว้ในใจของเราทุกคนนี้สามารถนำไปใช้ได้ในทุกเรื่องทุกมิติ ทั้งเรื่องหน้าที่การงานหรือแม้กระทั่งเรื่องชีวิตส่วนตัว ตลอดไปจนถึงทัศนคติในการมองโลก เพื่อให้เรารู้เท่าทันและสามารถอยู่ได้ในโลกอย่างมีความสุขตามอัตภาพ

ยกตัวอย่างใกล้ตัว ผมมีหลานชายและหลานสาวอย่างละหนึ่งคนที่ผมต้องทำหน้าที่เป็นลุงดีเด่นแห่งชาติ

เราพบกันอยู่เสมอเพื่อพูดคุยกันบ้าง ไปกินข้าวด้วยกันบ้าง

ด้วยความที่อายุของเราห่างกันหลายสิบปี การที่เราจะรักษาสัมพันธภาพระหว่างสองฝ่ายไว้ให้ราบรื่น ผมก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจผม

ขณะเดียวกัน บางครั้งหลานก็ต้องเอาใจผมไปใส่ใจเขาเหมือนกัน กล่าวโดยย่อก็คือ ทั้งสองฝ่ายต้องปรับตัวเข้าหากัน

แค่จะไปเที่ยวที่ไหนดี กินข้าวร้านไหนดี ข้อมูลความรู้ของเขาและของผมก็เป็นคนละชุดกัน บางครั้งผมก็ต้องเป็นลุงที่ทำตามข้อเสนอของหลาน

และเมื่อทำตามแล้วก็เห็นว่าได้ผลดีอยู่ เช่น เราไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกัน ถ้าให้ผมเลือกร้านอาหารก็มีแต่ร้านซ้ำๆ ที่เคยกินมายี่สิบสามสิบปีแล้ว

แต่ถ้าให้หลานเป็นคนเลือกร้านดูบ้าง ผมก็จะพบร้านอาหารใหม่ๆ ว่ามีอยู่หลายร้านที่น่าสนใจ

และผมก็พร้อมจะปรับตัวเข้ากับเมนูของร้านอาหารนั้น

ขณะที่หลานทั้งสองคนของผม ก็รู้จักปรับตัวยอมเดินเข้าไปดูพิพิธภัณฑ์กับผมอยู่บ่อยครั้งเหมือนกัน

เรียกว่าพบกันคนละครึ่งทาง

 

ตัวอย่างใกล้ตัวอีกเรื่องหนึ่ง คือชีวิตหลังเกษียณ หลายอย่างเป็นเรื่องที่เราต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถทำให้ได้ด้วยตัวเอง

อย่าเพิ่งหมั่นไส้ผมเลยนะครับ ตอนผมยังอยู่ในหน้าที่ราชการ การทำนัดหมายทั้งหลายก็มีเลขานุการและน้องๆ ช่วยกันทำ ทุกอย่างย่อมราบรื่นเรียบร้อยเป็นธรรมดา

แต่ตอนนี้ผมเป็นข้าราชการเกษียณเต็มขั้น การรับนัดหมายและการจดนัดหมายทั้งหลายซึ่งยังต้องไปประชุมที่โน่นที่นี่อยู่ เป็นภารกิจที่ผมต้องทำเอง โดยมีโทรศัพท์มือถือเป็นเลขานุการ

ใครโทรศัพท์มาขอนัดพบหรือเชิญประชุมก็บันทึกไว้ในโทรศัพท์ของตัวเอง นี่เป็นสมรรถภาพในการปรับตัวอย่างหนึ่งหลังเกษียณอายุ

โทรศัพท์ใช้ไม่คล่องว่องไวก็เรียกหลานมาสอนให้ ประเดี๋ยวเดียวก็ใช้การได้

สนุกดีเหมือนกันครับ โดยเฉลี่ยแล้วนัดหมายของผมก็มีความถูกต้องเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่ที่จดเลอะเทอะก็มีเหมือนกันนะครับ เช่น เคยจดว่ามีการบรรยายอยู่ที่สถาบันแห่งหนึ่งในย่านคลองหลวง เลยรังสิตออกไปอีก การบรรยายอยู่วันอาทิตย์เช้า 9 โมง ยังนึกอยู่เหมือนกันว่าเวลาช่างแปลกจริงๆ ใครจะมานั่งเรียนหนังสือตอนเช้าวันอาทิตย์อย่างนี้ แต่ก็ปากหนักไม่ได้โทรศัพท์ถามใคร

แล้วก็เป็นจริงอย่างที่สังหรณ์ไว้ คือไปผิดวันผิดเวลา ถูกอย่างเดียวคือถูกสถานที่

เศร้า!

เมื่อไปผิดแล้วก็ต้องนึกถึงคำขวัญของโรงเรียนเรื่องสมรรถภาพในการปรับตัวขึ้นมาให้ได้ จะหงุดหงิดหรือโกรธใครแม้แต่ตัวเองก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร สู้หาอะไรทำแถวนั้นดีกว่า หาร้านอาหารสักร้านหนึ่งที่ถูกปาก ราคาไม่แพง จอดรถง่ายเพราะเป็นวันหยุด แค่นี้ก็เป็นความสำเร็จของชีวิตในเช้าวันอาทิตย์เช่นนี้แล้ว

การปรับตัวให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของเราเป็นเรื่องสำคัญมาก

เมื่อก่อนเราอยู่ในวัยหนุ่มสาว เราอาจจะทำอะไรหลายอย่างที่คล่องแคล่วว่องไวได้สบายมาก

แต่พออายุเท่าผมและเพื่อนๆ แล้ว เราต้องปรับตัวให้ช้าลง อย่าไปโลดโผนโจนทะยานมากๆ พูดง่ายๆ ว่าต้องรู้จักวิธีเดิน วิธีใช้ชีวิตให้เหมาะกับอายุ เพื่อนผมบางคนลืมความจริงในข้อนี้ ล้มคว่ำคะมำหงายกันไปหลายรอบแล้ว

ในสังคมที่มีคนหลากหลาย มีความแตกต่างทั้งเรื่องอายุ ความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ประสบการณ์และฐานะที่ต่างคนต่างมีต่างมา ถ้าเราจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขพอสมควร เราก็ต้องปรับตัวครับ ได้ยินได้ฟังอะไรที่ขุ่นใจ ก็ปล่อยวางเสียบ้าง อย่าไปนึกว่าเราจะต้องเป็นคนถูกคนเดียวขณะที่คนอื่นผิดหมด

สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องเล็ก ถ้าเราไม่ปรับตัวปรับใจของเราเสียบ้าง ให้เราสามารถอยู่กับปัญหานั้นได้ในระดับที่มีความเข้าใจพอเพียง ความทุกข์ก็จะใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งอาจจะใหญ่โตถึงขนาดที่เราไม่สามารถจะทานทนต่อไปได้ด้วยซ้ำ

ขอบพระคุณครูหรือท่านใดก็แล้วแต่ที่คิดคำขวัญข้างต้นมาสอนใจผม และผมได้อาศัยคำขวัญนั้นมาเป็นแว่นส่องโลกอยู่จนทุกวันนี้

ผู้ใหญ่หลายท่านที่เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ จะยืมแว่นผมไปใช้บ้างก็ได้นะครับ

ไม่คิดค่าเช่าด้วยนะเออ