วิเคราะห์ : เมื่อ “กลาเซียร์” เป็นจุดพลิกฟื้นกระแสรักษ์โลกในการเมืองสวิส

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ข่าวกลาเซียร์หรือธารน้ำแข็งละลายบนเทือกเขาแอลป์ ส่งผลให้การเลือกตั้งในประเทศสวิตเซอร์แลนด์พลิกโฉมหน้าใหม่ พรรคที่มีแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้รับคะแนนนิยมอย่างท่วมท้นอย่างเหลือเชื่อ

ปกติแล้วการเมืองในสวิสนั้นค่อนข้างเฉื่อยๆ ผู้คนไม่ตื่นตัวซะเท่าไหร่ เนื่องจากมีความผูกพันกับพรรคการเมืองหลักๆ แค่เพียง 4 พรรค ได้แก่ พรรคโซเชียล เดโมแครต พรรคคริสเตียน เดโมแครต พรรคเรดิคัล และพรรคประชาชนสวิส

ทั้ง 4 พรรคครอบงำการเมืองสวิสมานานเพราะเลือกตั้งทีไรผลออกมาก็คล้ายๆ กัน อย่างพรรคโซเชียล เดโมแครต ตั้งมาเมื่อปี 2432 เป็นพรรคแนวคิดฝ่ายซ้าย ต่อต้านลัทธิทุนนิยม ถือเป็นพรรคใหญ่อันดับ 2 ของสวิส ได้รับความนิยมมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

พรรคเรดิคัลซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2437 ยังคงได้รับความนิยมเช่นกัน

ตามด้วยพรรคคริสเตียน เดโมแครต มีอายุเก่าแก่ 107 ปี ได้รับความนิยมในหมู่ชาวสวิสที่นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก

สำหรับพรรคประชาชนสวิส เพิ่งตั้งเมื่อปี 2514 เป็นการรวมตัวของเกษตรกร พ่อค้าแนวอนุรักษนิยม ในเวลานี้เป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดของสวิส ครองเสียงในสภา 65 ที่นั่งจากจำนวน 200 ที่นั่ง

แต่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เพิ่งสิ้นสุดลงไปหมาดๆ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม ปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือพรรคกรีน มีกระแสนิยมแรงจัด สามารถคว้าที่นั่งในสภาผู้แทนฯ คิดเป็นสัดส่วน 13 เปอร์เซ็นต์ หรือเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่พรรคประชาชนสวิส คะแนนลดลง 3.6%

 

บรรดาสื่อมวลชนในสวิสชี้ตรงกันว่าข่าวโลกร้อนที่ทำให้ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาแอลป์ละลายเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองสวิส

เป็นที่รู้ๆ กันว่าชาวสวิสปลาบปลื้มหลงใหลกับภูมิประเทศที่ธรรมชาติสรรค์สร้างอย่างลงตัวทั้งภูมิอากาศที่มีครบ 4 ฤดู ภูมิทัศน์สวยงาม ภูเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะตลอดทั้งปี

ในฤดูร้อน ธารน้ำแข็งละลายช่วยเติมเต็มทะเลสาบ ระบบนิเวศน์จึงเกิดสมบูรณ์ น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่ต่างๆ ทั่วสวิสสร้างความชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเขียวสะพรั่ง

แต่เวลานี้กลาเซียร์ที่มีอยู่นับร้อยแห่งบนเทือกเขาแอลป์ละลายลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากอุณหภูมิโลกพุ่งสูงจนแทบไม่มีสภาพเป็นกลาเซียร์เหมือนอดีต

ชาวสวิสหวาดกลัวว่าระบบนิเวศน์อันสมบูรณ์สวยงามจะเปลี่ยนสภาพเพราะกลาเซียร์ละลาย

ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อถึงฤดูร้อน ชาวสวิสต่างคุ้นเคยสัมผัสกับอากาศเย็นๆ ในท่ามกลางแสงแดดจ้า เงยหน้ามองเทือกเขาแอลป์ล้อมรอบเป็นด้วยหิมะขาวโพลน

ครั้นเมื่อถึงฤดูหนาว หิมะตกหนาจนปกคลุมไปทั่วเมือง ผู้คนต่างออกมาเดินเล่นสัมผัสกับปุยหิมะพร้อมๆ กับเฉลิมฉลองเนื่องในเทศกาลต่างๆ ก่อนจะถึงปีใหม่

หิมะในสวิสเวลานี้ไม่ได้ตกหนาเหมือนก่อน แถมอุณหภูมิไม่ได้เย็นจัด ทำให้หิมะละลาย เหลือแค่กองน้ำแข็งสีน้ำตาลคล้ำๆ เป็นหย่อมๆ

สวิสในหน้าหนาว ไม่ได้สวยเหมือนเก่า โลกร้อนมีผลกับชาวสวิสและภูมิประเทศอย่างชัดแจ้ง

ส่วนฤดูร้อน อากาศร้อนอบอ้าวยิ่งกว่าอยู่ในเตาอบ ปลายยอดของเทือกเขาแอลป์มีก้อนหินสีเทาหม่นโผล่เรียงรายตามแนวขอบฟ้า หิมะสีขาวๆ หายไป

ฤดูร้อนของสวิสไม่ได้มีอากาศเย็นสบายเหมือนเก่า

 

เมื่อไม่นานนี้ ชาวสวิสนับร้อยคนแต่งชุดดำไว้ทุกข์ ปีนขึ้นไปบนยอดเขาแกลรัส (Glarus) ทางทิศตะวันออกของสวิสซึ่งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,600 เมตร เพื่อไว้อาลัยกลาเซียร์ชื่อ “พิซอล” (Pizol glacier) ซึ่งมีน้ำแข็งเกาะตัวหนาราวๆ 50 เมตร แต่นับจากปี 2549 เป็นต้นมา น้ำแข็งละลายไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์

ผู้ร่วมไว้อาลัยซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม นักธรรมชาตินิยม เห็นว่าพิซอลกำลังจะสิ้นลม

ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสวิสออกมาเผยแพร่ข้อมูลว่าในช่วงเวลา 5 ปี ธารน้ำแข็งของสวิสหดตัวลง 10%

เป็นอัตราที่ลดลงอย่างรวดเร็วไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดช่วงศตวรรษ

ฤดูร้อนปีนี้ คลื่นความร้อนแผ่ซ่านหลอมละลายกลาเซียร์มากเป็นประวัติการณ์ ทำลายสถิติเดิมๆ

กลาเซียร์ทั่วโลกเผชิญปัญหาโลกร้อนเช่นเดียวกับสวิตเซอร์แลนด์

 

พรรคกรีนฉวยจังหวะนี้นำประเด็นโลกร้อนไปหาเสียงในท่ามกลางการตื่นตระหนกของชาวสวิส ซึ่งได้รับประสบการณ์ตรงมานานหลายปี จึงได้ผลเกินคาด

ก่อนการเลือกตั้งมีโพลสำรวจความเห็น กระแสของพรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำโด่งแซงหน้าพรรคคริสเตียน เดโมแครต

พรรคอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสวิตเซอร์แลนด์มี 2 พรรค พรรคกรีน และพรรคกรีน ลิเบอรัล

พรรคกรีน ก่อตั้งเมื่อปี 2514 เป็นแค่พรรคท้องถิ่นเล็กๆ กว่าจะได้รับความนิยมใช้เวลาถึง 8 ปี จึงมี ส.ส.คนแรก

ช่วงสิบปีที่ผ่านมาชาวสวิสหันมาชื่นชมนโยบายของพรรคกรีนเพิ่มขึ้น ดูได้จากสมาชิกพรรคได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีถึง 2 แห่ง

เมื่อปี 2550 แกนนำในพรรคกรีนแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ชื่อกรีน ลิเบอรัล แห่งสวิตเซอร์แลนด์

ผลการเลือกตั้งล่าสุด พรรคกรีนทั้งสองพรรคได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นจากชาวสวิสที่มีสิทธิออกเสียง 5.3 ล้านคน พรรคกรีนเพิ่ม 13% เพิ่มจากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อน 6% พรรคกรีน ลิเบอรัล เพิ่มจาก 4.6% เป็น 7.6%

ผู้ที่เทคะแนนเสียงให้พรรคกรีนทั้งสองนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวสวิสรุ่นหนุ่มสาวที่ให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อนซึ่งต้องการบอกให้รัฐบาลสวิสได้รู้ว่า ชาวสวิสต้องการให้มีนโยบายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

สื่อวิเคราะห์ว่า พรรคกรีนในสวิสที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเช่นนี้ อาจจะเป็นกระแสคลื่นสึนามิที่แผ่กระหน่ำการเลือกตั้งครั้งใหม่ของหลายประเทศในสหภาพยุโรป

ปัจจุบันพรรคกรีนได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภายุโรป 74 เสียงจากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 751 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งของออสเตรียเมื่อปลายเดือนกันยายน พรรคกรีนออสเตรียได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น 14%

ว่าแต่ว่า กระแสคลื่นอย่างนี้เมื่อไหร่จะแผ่มาถึงเมืองไทย?