เกษียร เตชะพีระ | หวังเฉาฮัววิเคราะห์การประท้วงใหญ่ในฮ่องกง (4)

เกษียร เตชะพีระ

(เรียบเรียงจากบทวิเคราะห์เบื้องหลังสถานการณ์ประท้วงในฮ่องกงของ ดร.หวังเฉาฮัว นักเขียนและนักวิจัยอิสระ อดีตแกนนำการชุมนุมประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของนักศึกษาจีนเมื่อปี ค.ศ.1989 เรื่อง “Hong Kong v. Beijing”, London Review of Books, 41:16 (15 August 2019), 11-12.)

“ที่กล่าวมาข้างต้น (ในตอนที่แล้ว) คือสถานการณ์ในฮ่องกงเมื่อเราจัดประชุมกันขึ้น ณ กรุงไทเป (เมื่อเดือนมิถุนายนศกนี้) ทั้งอัลเบิร์ต โฮ และเอมิลี เลา (ทนายโฮและนักหนังสือพิมพ์หญิงเลาเป็นนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและเคยเป็นประธานพรรคประชาธิปไตยของฮ่องกงด้วยกันทั้งคู่ – ผู้แปล) ต่างก็เคยเกี่ยวข้องกับการเจรจาที่อื้อฉาวกับรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่งในปี ค.ศ.2012

ตอนนั้น พวกแนวคิดขุดรากถอนโคนในฮ่องกงพากันกล่าวหาอัลเบิร์ต โฮกับเอมิลี เลา ว่าเป็นผู้ทรยศ ทว่า ตอนนี้ก็เลิกกล่าวหาแล้ว ทั้งนี้เพราะอนาคตประชาธิปไตยของฮ่องกงกำลังตกอยู่ในอันตรายและภาวะสิ้นหวังซังกะตายทำให้ศัตรูกลับกลายมาเป็นสหายกัน

มองจากมุมรัฐบาล ดูเหมือนตอนต้นปีนี้แกนนำตัวแสบล้วนถูกทำให้สิ้นสมรรถภาพหรืออย่างน้อยก็คุมอยู่แล้วทั้งสิ้น

ค่ายประชาธิปไตยในสภานิติบัญญัตินั้นพิกลพิการเสียจนกระทั่งค่ายนิยมปักกิ่งผ่านกฎหมายว่าด้วยระเบียบการประชุมออก มาสำเร็จซึ่งเพิ่มอำนาจประธานที่ประชุมขึ้นอักโข

ส่งผลให้การอภิปรายมาราธอนซึ่งเป็นเครื่องประวิงเวลาการประชุมสภา (filibuster) ที่พวกสมาชิกสภาฝ่ายประชาธิปไตยเคยอาศัยเพื่อขัดขวางร่างกฎหมายซึ่งไม่เป็นที่นิยมของมหาชนนั้นถูกขจัดไป

ในจังหวะนี้เองที่แคร์รี่ หล่ำ หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงคนปัจจุบันเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนฉบับที่ใช้อยู่เพื่อให้ส่งตัวผู้ร้ายไปยังจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันได้

เธออ้างย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงคดีที่ไม่อาจส่งตัวผู้ต้องสงสัยเป็นฆาตกรจากฮ่องกงไปไต้หวันได้เพราะไม่มีข้อตกลงกันไว้

เธอเผื่อเวลาประชาพิจารณ์ไว้ให้แค่สองสัปดาห์ อีกทั้งปฏิเสธคำร้องขอเข้าพบของสมาชิกสภานิติบัญญัติเอย พรรคฝ่ายค้านทั้งหลายเอย พวกนักกฎหมายเอย และสื่อมวลชนเอยครั้งแล้วครั้งเล่า

กรณีเดียวที่รัฐบาลของเธอยอมอ่อนข้อให้คือตัดข้อหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจออกจากร่างกฎหมายตามที่ฝ่ายธุรกิจร้องขอ

แม้กระทั่งหลังประชาชนกว่าล้านคนออกมาเดินขบวนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนแล้ว แคร์รี่ หล่ำ ก็ยังประกาศอย่างเรียบเฉยว่าร่างกฎหมายจะผ่านการพิจารณาวาระที่สองในอีกสามวันให้หลัง

วันที่ 4 มิถุนายน พันธมิตรฮ่องกงเพื่อหนุนช่วยขบวนการรักชาติรักประชาธิปไตยในจีน ซึ่งอัลเบิร์ต โฮ เป็นประธานคนปัจจุบันและสาธุคุณจูยิวหมิงเป็นสมาชิกมาช้านาน ได้จัดงานจุดเทียนรำลึกกรณีสังหารหมู่เทียนอันเหมินครบรอบสามสิบปีขึ้นที่อุทยานวิกตอเรีย

สองวันถัดมา เหล่านักกฎหมายฮ่องกงก็ใส่ครุยว่าความออกเดินขบวนโดยสงบเพื่อประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนและวิธีการที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้

การเดินขบวนมหึมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน จัดขึ้นโดยแนวร่วมสิทธิมนุษยชนและพลเมือง อันเป็นองค์การที่มีเอ็นจีโอและพรรคการเมืองเกือบห้าสิบแห่งด้วยกันเป็นสมาชิก

วันที่ 12 มิถุนายน ในสภาพที่การพิจารณาร่างกฎหมายวาระสองกำลังจะเกิดขึ้น บรรดาผู้ประท้วงหนุ่มสาวพากันรวมตัวหน้าอาคารหลักของสภานิติบัญญัติเพื่อพยายามขัดขวางสมาชิกสภาไม่ให้เข้าไปข้างใน

ปรากฏว่าตำรวจใช้แก๊สน้ำตายิงใส่ผู้ชุมนุมถึง 150 นัด รวมทั้งยิงกระสุนถุงตะกั่วและกระสุนยางใส่ด้วย

แทบจะทันทีทันควัน ประดาสถานีหนุนช่วยการชุมนุมก็ถูกจัดตั้งขึ้นและเส้นทางขนถ่ายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็ถูกจัดวางโดยเหล่าอาสาสมัครเพื่อส่งน้ำและอุปกรณ์ป้องกันไปให้แนวหน้า

พวกผู้ประท้วงเลือกเพลงสวดมาร้องเป็นเพลงเดินขบวน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ดูเหมือนคลี่คลายขยายตัวไปโดยปราศจากการนำทางการจัดตั้งใดๆ

ยังไม่ทันพลบค่ำ ผู้บัญชาการตำรวจก็ออกมาประกาศแล้วว่าการชุมนุมแสดงพลังครั้งนี้เป็น “การก่อจลาจล” ซึ่งมีผลกระทบทางกฎหมายต่อใครก็ตามที่เกี่ยวข้อง ดังที่คดีของเอ็ดเวิร์ด เลิง จะแสดงให้เห็น มหาชนแสดงความฮือฮาคับแค้นขุ่นเคืองการใช้ศัพท์คำนี้มาก ตอนนี้เองที่หัวหน้าผู้บริหาร แคร์รี่ หล่ำ ละล่ำละลักออกมาสัญญาว่าจะพักร่างกฎหมายไว้ แต่การยอมอ่อนข้อให้แค่นั้นมันน้อยเกินไปและสายเกินไปเสียแล้ว แนวร่วมสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ได้จัดชุมนุมมวลชนขึ้นอีกครั้ง ซึ่งคราวนี้เป็นการเดินขบวนใหญ่เป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อนถึงสองล้านคนเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน

เหล่าผู้ประท้วงรอบนี้ได้เรียนรู้บทเรียนต่างๆ จากการประท้วงครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ฝ่ายทางการพยายามเสมอที่จะทำลายขบวนการลงโดยหมายหัวพวกผู้นำขบวนการ การประท้วงรอบปัจจุบันจึงไม่มีการนำและกระจายศูนย์อย่างสูง โซเชียลมีเดียกลายเป็นพาหะหลักของการระดมมวลชน

แถมการประท้วงรอบนี้ยังไม่มีการแตกแยกภายในด้วย แต่กระนั้นความสมานฉันท์กันก็หาได้หยั่งยึดอยู่ด้วยวินัยทางการเมืองไม่ แม้ในยามพี่น้องปีนเขาด้วยกัน แต่ละคนก็ยังต้องเพียรพยายามด้วยตนเอง ปฏิบัติการครั้งหนึ่งอาจตามติดมาด้วยปฏิบัติการอีกครั้งทันที หรือหยุดพักสองสามวันก็ได้

คำพังเพยของบรู๊ซ ลี กลายเป็นกฎทองของการประท้วงไป กล่าวคือ “สายน้ำอาจไหลรี่หรือซัดกระหน่ำเอาก็ได้ เพื่อนเอ๋ยจงเป็นเหมือนน้ำ”

สองสัปดาห์ถัดมาสถานการณ์เปลือกนอกดูเหมือนสงบราบคาบ แต่เอาเข้าจริงความตึงเครียดเบื้องลึกกลับยิ่งสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะเกิดเหตุผู้ประท้วงหลายคนตกจากที่สูงหรือกระโดดลงมาตาย โดยทิ้งบันทึกข้อความแสดงความคับแค้นทางการเมืองของตัวไว้

การชุมนุมครั้งถัดไปถูกวางแผนไว้ในวันที่ 1 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของฮ่องกงจากบริเตนให้จีนเมื่อปี ค.ศ.1997

ทางการปักกิ่งและนางแคร์รี่ หล่ำ จินตนาการว่าการประท้วงก็คงดำเนินรอยตามแบบแผนที่คุ้นชินกันอยู่ กล่าวคือ ผู้ประท้วงหนุ่มสาวพากันชุมนุมแสดงพลัง ตำรวจตอบโต้ด้วยไม้แข็ง มหาชนพากันรีบเข้าไปหนุนช่วยคนหนุ่มสาวและประณามตำรวจ มิช้านานความแข็งขันกระตือรือร้นก็จะจางหายไปเอง

ทว่า ในวันที่ 1 กรกฎาคม เหล่าผู้ประท้วงกลับพังทะลวงผนังกระจกที่ล้อมรอบอาคารสภานิติบัญญัติแล้วเข้ายึดหอประชุมใหญ่ของสภาไว้ชั่วคราว ทำให้กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก

ไม่มีความแตกแยกทางยุทธวิธีในหมู่ผู้ชุมนุมเลย แทนที่จะเป็นเช่นนั้น

กลับปรากฏว่าช่วงก่อนเที่ยงคืนอันเป็นเส้นตายที่ตำรวจขีดไว้ว่าจะเข้าเคลียร์พื้นที่ พวกผู้ประท้วงที่ออกจากอาคารมาแล้วพากันรีบแห่กลับเข้าไปอีกพลางร้องตะโกนเป็นจังหวะว่า “ไปด้วยกัน”

พร้อมกับแบกผู้ชุมนุมสี่คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ข้างในออกมา

การประท้วงไม่ได้เพลาลงในช่วงสองเดือนหลังนี้ ตรงกันข้ามมันกลับมีลักษณะเผชิญหน้ามากขึ้นกับตำรวจเอย รัฐบาลฮ่องกงเอย และแม้กระทั่งกับสำนักงานประสานงานของรัฐบาลกลางด้วย แต่กระนั้นแรงสนับสนุนของมหาชนก็หาได้ลดน้อยถอยลงไม่

มีฉันทามติเงียบๆ ว่าขบวนการประท้วงที่ยังไม่ถูกขนานนามนี้เป็นการลงมติรวมหมู่แสดงความไม่ไว้วางใจทางการปักกิ่ง

ปักกิ่งต้องเข้าใจความข้อนี้แน่ไม่มากก็น้อย แต่ยังไม่ได้ยอมรับออกมา

หวังเฉาฮัวปราศรัยต่อผู้ร่วมชุมนุมประท้วง ณ จัตุรัสเทียนอันเหมินปี ค.ศ.1989 & ปัจจุบัน

การแถลงข่าวครั้งแรกของทางการปักกิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบันในฮ่องกงดำเนินการโดยสำนักงานของสภารัฐกิจในปักกิ่งประจำฮ่องกง-มาเก๊าเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมนี้ โฆษกเน้นย้ำว่ารัฐบาลกลางสนับสนุนนางแคร์รี่ หล่ำ และกล่าวซ้ำถ้อยคำของผู้บัญชาการตำรวจฮ่องกงที่บรรยายการปะทะกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ว่าเป็น “การก่อจลาจล”

การแถลงข่าวตอกย้ำเรื่องเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักแน่นมั่นคง ซึ่งเตือนใจดิฉันให้หวนนึกถึงยุทธศาสตร์ของเติ้งเสี่ยวผิงในแผ่นดินใหญ่จีนภายหลังการสังหารหมู่เทียนอันเหมินที่ว่า “เสถียรภาพเป็นวาระเร่งด่วนสุดยอด” และ “การพัฒนาเป็นสัจธรรมอันมิอาจล้มล้างได้” มันยังเตือนใจดิฉันให้นึกถึงความปักใจเชื่อของชานคุนฉง (นักเขียนนิยายชาวจีนผู้แต่งเรื่อง ปีแห่งความอ้วนพี หรือ The Fat Years เมื่อ ค.ศ.2009 – ผู้แปล) ว่าปักกิ่งต้องการให้หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงเป็นส่วนเสริมต่อเจตจำนงของตนเองและให้ประชาชนชาวฮ่องกงปลอดการเมืองโดยสิ้นเชิงด้วย

ความมุ่งมาดปรารถนาประการหลังของปักกิ่งที่ว่านี้ห่างไกลจากความเป็นจริงในสนามมาก มันยังบ่งชี้ความเข้าใจไปเองของทางการปักกิ่งว่าวิธีคิดแบบ “อาณานิคม” นี่แหละเป็นตัวขัดขวางความพยายามของปักกิ่งที่จะทำให้ฮ่องกงกลายเป็นพาหะสนองผลประโยชน์ของตัว

ดิฉันคิดว่าช่วงเวลาสำคัญยิ่งในแง่นี้คือระยะสามสิบปีแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งปักกิ่งไม่เอาฮ่องกงกลับคืนมาเป็นของตน สำนึกในความเป็นฮ่องกงของชาวฮ่องกงเองเริ่มงอกงามออกมาในคริสต์ทศวรรษที่ 1970 มีบางคนในฮ่องกงต้องการรับเอาทรรศนะหรือแม้กระทั่งเอกลักษณ์ของแผ่นดินใหญ่มาอย่างจริงใจ แต่ทว่า การสำนึกสำเหนียกหมายเอกลักษณ์ของตนเองเข้ากับแผ่นดินใหญ่ไม่มีทางจะหยั่งรากอยู่ในประสบการณ์อย่างแท้จริงได้เลย

แนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนย่อมหมายความว่าประชาชนฮ่องกงต้องยอมหันมามองตนเองเป็นพลเมืองชั้นสองของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ว่าตัวจะมั่งคั่งร่ำรวยกว่าผู้คนจำนวนมากบนแผ่นดินใหญ่แค่ไหนก็ตาม หรือไม่ก็จะยิ่งรู้สึกแปลกแยกกว่าเก่าขึ้นไปเรื่อยๆ

และยิ่งสำนึกว่าตนเองเป็นพลเมืองฮ่องกงแรงกล้าเข้าไปอีก (2 สิงหาคม 2019)