ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 ตุลาคม 2562 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
ไทย สมัย “ไม่ไทย” ในเอกสารโบราณของจีน มีบอกไว้ไม่น้อย แต่นักวิชาการไทยมีไม่มากที่อ่านเอกสารโบราณของจีน ส่วนมากอ่านผ่านตำราฝรั่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเบาบางที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องไทยจากจีน เพราะส่วนมากทุ่มเททางอินเดีย
หนังสือภาษาไทยรวบรวมหลักฐานจีนที่พาดพิงถึงไทยสมัยต้นประวัติศาสตร์แล้วพึ่งพาได้มาก คือ ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก : กรณีศึกษาลุ่มแม่น้ำจรเข้สามพัน ของ ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ และคณะ [เป็นงานวิจัยเสนอต่อสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2530] สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2552
ขอยกมาโดยสรุปดังต่อไปนี้
อุษาคเนย์ในเอกสารโบราณของจีน
จีนมีความรู้ทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับดินแดนต่างๆ จนจดทะเลดำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางการค้าทางบกตั้งแต่ พ.ศ.400
ส่วนดินแดนทางทะเลก็รู้จักดีขึ้นเรื่อยๆ และรู้มากขึ้นหลัง พ.ศ.544 ซึ่งเป็นช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นยุคแรก โดยผู้สำเร็จราชการแผ่นดินชื่อ หวังหมาง ส่งคณะทูตเดินทางไปเยือนแคว้นต่างๆ ที่อยู่ทางทะเลใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
คณะทูตจีนชุดดังกล่าวได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับดินแดนต่างๆ ไว้ และเป็นข้อมูลที่ถูกใช้อ้างอิงในสมัยต่อๆ มา
สมัยสามก๊ก จีนรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีขึ้นอีก เนื่องจากก๊กซุ่นกวนซึ่งมีอำนาจอยู่ทางภาคใต้ของจีนมีอำนาจเหนือเมืองกวางตุ้ง สนับสนุนการค้าและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
ระหว่าง พ.ศ.788-793 ซุ่นกวนส่งจูอิ้งและคังไถ่ เป็นทูตเดินทางไปฟูนันและพำนักอยู่เป็นเวลานาน เมื่อเดินทางกลับได้เขียนรายงานเกี่ยวกับบ้านเมืองต่างๆ ไว้
เรือจีนและชาวจีนในระยะแรกๆ มิได้ทำการค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง ความรับรู้เกี่ยวกับบ้านเมืองต่างๆ นั้น แม้ในบางครั้ง จีนส่งทูตจีนเดินทางมาโดยตรงก็ตามก็อาศัยการบอกเล่าอีกต่อหนึ่ง มิใช่เกิดจากประสบการณ์โดยตรง
ดังนั้น ข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานจีนในระยะแรกๆ จึงค่อนข้างคลุมเครือ ขาดรายละเอียดอยู่มาก และข้อความไม่กระจ่างชัดเท่าที่ควร และมักจะเป็นการคัดลอกจากหลักฐานเก่าต่อมาเป็นทอดๆ ความสับสนในการถ่ายเสียงศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกชื่อเมืองและอื่นๆ จึงเป็นปัญหาอยู่เสมอจนยากที่จะตีความได้
อย่างไรก็ตาม หลักฐานจีนก็เป็นหลักฐานประเภทเอกสาร ที่มีเรื่องราวของบ้านเมืองและชุมชนโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่สมัยเก่าแก่ที่สุด และมีรายละเอียดมากกว่าหลักฐานอินเดียและกรีก-โรมัน
สุวรรณภูมิ ในหลักฐานจีน
“สุวรรณภูมิ” จีนก็ดูเหมือนว่าจะรับรู้ชื่อตั้งแต่สมัยแรกๆ เช่นกัน กล่าวคือ หลักฐานจีนกล่าวถึงแคว้นจิ้นหลิน หรือกิมหลิน ซึ่งก็มีความหมายว่า จิ้น หรือกิม แปลว่า ทอง หลิน แปลว่า ดินแดน จิ้นหลิน จึงแปลว่าแดนทองโดยตรง
จีนกล่าวถึงจิ้นหลินครั้งแรกสุดตั้งแต่ราว พ.ศ.552-565 ในปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นยุคแรก โดยระบุว่าหวังหมาง ผู้สำเร็จราชการซึ่งตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ได้แต่งทูตมาเจริญไมตรีกับจิ้นหลิน
ใน ซานตู๋ฟู่ (หรือบทกลอนสามนคร) ซึ่งเขียนโดยโจสือ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 7-8 แต่มีผู้เพิ่มเติมให้สมบูรณ์ในพุทธศตวรรษที่ 12 มีข้อความระบุเกี่ยวกับจิ้นหลิน ว่า
“จิ้นหลินอยู่ห่างฟูนันออกไปประมาณ 2,000 ลี้ หรือมากกว่านั้น ผลิตแร่เงิน ประชากรมีจำนวนมาก ชอบจับช้างขนาดใหญ่โดยการจับเป็น ถ้าช้างตายก็จะเก็บงาไว้”
บันทึกของหลวงจีนอี้จิง สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ก็กล่าวถึงจิ้นหลินว่าถวายเครื่องบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงจีนเช่นเดียวกับเกาหลีและอินเดีย และยังระบุว่าจีนรู้จักจิ้นหลินเป็นอย่างดี
ในไถ่ผิงหยูหลาน กล่าวถึงชื่อจิ้นหลินสองครั้ง ข้อความที่คัดลอกจากหนังสือ อีหวู่จี่ ซึ่งเขียนขึ้นราวพุธศตวรรษที่ 12 (ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว) ข้อความคล้ายกับที่ปรากฏในซานตู๋ฟู่ ดังนี้
“จิ้นหลินมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘จิ้นเฉิน’ อยู่ห่างฟูนันมากกว่า 2,000 ลี้ ผลิตแร่เงินมีประชากรมาก ชอบล่าช้างขนาดใหญ่ โดยการจับเป็นเพื่อมาใช้ขี่ ถ้าช้างตายก็เก็บงาไว้”
ข้อความอีกตอนหนึ่งเป็นข้อความที่คัดลอกจาก ว่ายกว๋อจ้วน ความว่า “ถ้าเดินทางจากฟูนันไปทางทิศตะวันตกกว่า 2,000 ลี้จะถึงจิ้นเฉิน”
ในเหลียงสื่อ (ประวัติศาสตร์ราชวงศ์เหลียง บทที่ว่าด้วยประวัติฟูนัน) สมัยพุทธศตวรรษที่ 12 ก็กล่าวพาดพิงถึงจิ้นหลินว่าถูกฟูนันรุกรานในราวพุทธศตวรรษที่ 8-9 เหลียงสื่อยังระบุทิศทางของจิ้นหลินว่าจากฟูนันต้องข้ามอ่าวใหญ่ (อ่าวไทย) เสียก่อน
ในฉุยชิงจู้ อ้างข้อความที่คัดลอกจากฝูหนานจี่ ว่า
“ถ้าเดินทางจากจิ้นเฉินไปหลินหยาง ซึ่งอยู่ห่างออกไป 2,000 ลี้ จะต้องใช้คานหามหรือม้า เพราะไม่มีทางน้ำที่จะใช้เดินทางได้ (หลินหยาง) เป็นดินแดนที่ประชากรนับถือพุทธศาสนา”
ข้อความอีกตอนหนึ่งในฝูหนานจี่ ได้กล่าวอ้างถึงข้อความเกี่ยวกับผลิตผลสำคัญของจิ้นหลิน ซึ่งเคยปรากฏในคำกราบบังคมทูลจักรวรรดิสมัยราชวงศ์ฉินในพุทธศตวรรษที่ 8-9 ว่า “ในจิ้นหลิน มีทองคำบริสุทธิ์และงาช้างกระจ่างใส (สวยงาม)”
ความรับรู้ของจีนในเรื่องของดินแดนทองหรือจิ้นหลินดังกล่าวข้างต้น ยังเป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่ามีความสัมพันธ์กับบริเวณชุมชนจรเข้สามพันและเมืองอู่ทองโบราณมากน้อยเพียงใด
[ไทยในเอกสารโบราณของจีน งานวิจัยของ ผศ.ดร.สืบแสง พรหมบุญ นอกจากเล่มนี้ยังมีงานวิจัยสำคัญมากคือ หนังสือ ความสัมพันธ์ในระบบบรรณาการระหว่างจีนกับไทย ค.ศ.1282-1253 โดย สืบแสง พรหมบุญ (มูลนิธิโครงการตำราฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2525)]