ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : จารึกของฉินสื่อหวง (จิ๋นซีฮ่องเต้) ในนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ดูเหมือนว่า ใครๆ ที่สนใจทางด้านประวัติศาสตร์, โบราณคดี หรือศิลปวัฒนธรรมในประเทศนี้ก็พากันไปดูนิทรรศการ “จิ๋นซีฮ่องเต้ : จักรพรรดิองค์แรกของแผ่นดินจีนกับกองทหารดินเผา” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บริเวณท้องสนามหลวง จนกลายเป็นกระแส “จิ๋นซีฟีเวอร์” ไปแล้วนะครับ

และไฮไลต์ที่ใครต่อใครต่างอยากดูกันก็คือ “ทหารดินเผา” รวมไปถึง “รถม้าสำริด” (จำลอง) ที่นักโบราณคดีจีนขุดพบจากสุสานของพระองค์ จำนวนรวมหลายพันชิ้น จนเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลกนั่นเอง

(แน่ละ แม้แต่ชื่อนิทรรศการยังมีคำว่ากองทหารดินเผาและทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ก็ยังจัดแสดงทหารดินเผา และรถม้าสำริดจำลองที่ว่านี้ อยู่ในห้องตรงกลาง อันเป็นห้องศูนย์กลางของงาน)

ข้าวของที่ถูกฝังลงในสุสานของ “จิ๋นซีฮ่องเต้” (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.296-322) ตามสำเนียงเรียกแบบไทยๆ หรือ “ฉินสื่อหวงตี้” ที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “ฉินสื่อหวง” ในสำเนียงจีนกลางนั้น เป็นของที่ตระเตรียมไว้ให้กับฉินสื่อหวงในโลกหลังความตาย

และเมื่อสุสานของพระองค์มีขนาดใหญ่ยาวระดับที่เรียกได้ว่ามหึมา พร้อมกับกองทหารดินเผา บวกข้าวของอื่นๆ ที่แม้จะยังขุดสุสานไปเพียงไม่เท่าไหร่แต่ก็มีพบสิ่งของต่างๆ เฉียดๆ หมื่นชิ้น ก็แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้เป็นอย่างดี

เพราะสำหรับความเชื่อของชาวจีนโบราณแล้ว อะไรที่คล้ายๆ กับวิญญาณในตัวมนุษย์นั้น แบ่งออกได้เป็นสองส่วนคือ “หุน” กับ “พั่ว” แถมยังมีคำกล่าวโบราณอีกด้วยว่า “หุนกลับสู่ท้องฟ้า พั่วกลับสู่พื้นดิน”

“ท้องฟ้า” ที่หุนกลับไปในที่นี้คือ “โลกอมตะ” หรือที่อยู่ของบรรดาเซียนทั้งหลาย

ส่วน “พื้นดิน” ที่พั่วกลับไปนั้น (มีคำอธิบายว่า การที่รถม้าสำริดในสุสานของฉินสื่อหวง หันหน้าออกจากสุสานก็เพราะความเชื่อที่ว่า หุนของฉินสื่อหวงจะเดินทางไปสู่โลกอมตะนี่แหละ) ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวจีนให้ความสำคัญกับการสร้างสุสาน และการดูแลสุสานเพราะถ้าไม่ได้รับการฝังอย่างถูกต้องตามประเพณี พั่วจะอยู่ไม่เป็นสุข และกลายเป็นผีร้าย

(จึงไม่ต้องแปลกใจเลย ที่สุสานหรือฮวงซุ้ยของชาวไทยเชื้อสายจีนในบ้านนี้เมืองนี้จะมีราคาแพงแสนแพง เพราะนอกจากจะกลายเป็นผีร้ายแล้ว ยังเชื่อกันว่าจะทำให้ลูกหลานไม่เจริญรุ่งเรืองอีกด้วยต่างหาก)

ดังนั้น ยิ่งเมื่อเป็นสุสานของบุคคลระดับ “จักรพรรดิ” (หวงตี้ หรือฮ่องเต้) ผู้ยิ่งใหญ่อย่างฉินสื่อหวงแล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่สุสานของพระองค์จะวิลิศมาหรายิ่งกว่าใคร โดยเฉพาะเมื่อพระองค์ทรงเป็นอะไรที่เรียกว่า “หวงตี้” พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ของจีน

 

ก่อนหน้าสมัยของฉินสื่อหวง คือก่อนยุคราชวงศ์ฉินนั้น ยังไม่มีแม้แต่คำว่า “หวงตี้” เลยนะครับ เจ้าผู้ครองแว่นแคว้นต่างๆ เป็นแค่เพียง “หวัง” หรือที่ไทยเรามักจะเรียกว่า “อ๋อง” และถ้าจะมีใครที่มีอำนาจมากกว่านั้นก็คือ “เทียนจื่อ” ที่ทำซับไตเติลภาษาไทยได้ว่า “โอรสสวรรค์” เท่านั้นเอง

คำว่า “หวงตี้” นั้น เป็นนวัตกรรมที่ฉินสื่อหวงประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยได้นำเอาชื่อเรียกกลุ่มของกษัตริย์ในตำนาน ที่มีลักษณะเป็นวีรบุรุษทางวัฒนธรรม (cultural hero) เพราะแต่ละพระองค์ก็มีเรื่องเล่าว่าเป็นผู้สั่งสอนให้มนุษย์รู้จักกับความรู้ต่างๆ เช่น การใช้ไฟ การค้นพบหยูกยา การประดิษฐ์ตัวอักษร หรือปฏิทิน เป็นต้น โดยเชื่อกันว่ามีชีวิตอยู่ในยุคก่อนสถาปนาราชวงศ์ต่างๆ ของจีน มาใช้ในการประดิษฐ์ศัพท์คำว่าหวงตี้ขึ้นมา

กษัตริย์ในตำนานกลุ่มนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม เรียกรวมกันว่า “ซานหวงอู่ตี้” หรือ “สามราชาห้าจักรพรรดิ” คำว่า “ราชา” คือคำว่า “หวง” ส่วนคำว่า “จักรพรรดิ” คือคำว่า “ตี้” ในตำราจีนโบราณแต่ละเล่ม ให้รายชื่อทั้ง 3 ราชา และ 5 จักรพรรดิ แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมๆ แล้วมักจะใช้กันตามหนังสือสื่อจี้ ที่เขียนขึ้นระหว่าง พ.ศ.400-500 ตรงกับสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ที่ระบุว่า 3 ราชา ประกอบไปด้วย ฝูซี, หนี่วา และเสินหนง ส่วน 5 จักรพรรดิประกอบด้วย จักรพรรดิเหลือง, จักรพรรดิจานซวี, จักรพรรดิคู่, จักรพรรดิเหยา และจักรพรรดิซุ่น

ฉินสื่อหวงได้นำคำว่า “หวง” ใน 3 ราชา และ “ตี้” ใน 5 จักรพรรดิ อันเป็นกษัตริย์ในตำนานที่ชาวจีนเคารพเทิดทูน มาประดิษฐ์เป็นคำว่า “หวงตี้” หลังจากรวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ ที่เคยรบพุ่งกันอย่างวุ่นวายมาตลอดหลายร้อยปีในสมัยราชวงศ์ก่อนหน้าคือราชวงศ์โจว เพื่อแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่เป็นที่สุด พร้อมกับที่สถาปนาพระองค์เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกในประวัติศาสตร์จีน

 

นอกเหนือจากคำว่า “หวงตี้” ที่กลายเป็นมรดกตกทอดสำคัญในราชสำนักจีนและ “สุสาน” ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอารยธรรมจีนของฉินสื่อหวงแล้ว “กำแพงเมืองจีน” ก็เป็นสิ่งปลูกสร้างอีกอย่างที่ถูกอ้างไว้ด้วยว่า พระองค์เป็นผู้สั่งให้สร้างขึ้น

ที่จริงแล้ว ตามแคว้นต่างๆ ในสมัยราชวงศ์โจวก็มีกำแพงใหญ่สร้างไว้อยู่แล้วนะครับ ว่ากันว่าสร้างขึ้นเพื่อป้องกันศัตรู (ที่ไม่ใช่จีน และจีนถือว่าเป็นอนารยชน) ที่อยู่ทางทิศตะวันตก (บริเวณมณฑลซินเจียงในประเทศจีนปัจจุบัน) ฉินสื่อหวงเพียงแค่เชื่อมพวกมันเข้าด้วยกัน เพื่อวัตถุประสงค์เดิมเท่านั้นเอง

แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการเชื่อมกำแพงเข้าด้วยกันก็ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะแต่ละแคว้นก็มีระยะทางที่ห่างจากกัน

แถมยังต้องคำนึงถึงการปรับโครงสร้างกำแพงให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันอีกด้วย ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะมีการพูดถึงความทุกข์ยากของประชาชนในสมัยของฉินสื่อหวง ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ต่างๆ เพราะมีการสร้างอะไรใหญ่ยักษ์ทั้งสุสานและกำแพงเมืองจีน จะให้ไม่มีคนบ่นได้อย่างไรไหว?

 

ในหนังสือสื่อจี้ เล่มเดียวกันกับที่ให้รายชื่อของสามราชาห้าจักรพรรดิเอาไว้ ได้กล่าวถึงความโหดร้ายของฉินสื่อหวงไว้อย่างจงหนัก และเอาเข้าจริงแล้ว ข้อมูลเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับการสร้างสุสานของจักรพรรดิองค์แรกของจีนพระองค์นี้ก็มาจากหนังสือโบราณเล่มนี้นี่เอง

ถึงแม้จะเก่าแก่ถึงระดับสองพันปีเศษเลยก็ตาม แต่สื่อจี้ก็เป็นหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นหลังรัชสมัยของฉินสื่อหวงราวๆ ร้อยปีเลยทีเดียว ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือซือหม่าเชียน (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.398-458) นักบันทึกประวัติศาสตร์คนสำคัญของจีน ที่ทำงานรับใช้ราชสำนักแห่งราชวงศ์ฮั่น

และก็แน่นอนนะครับว่า ราชวงศ์ฮั่นที่สถาปนาตัวเองขึ้นมาหลังการล่มสลายของราชวงศ์ฉิน ย่อมต้องกล่าวถึงตัวเองว่า เป็นผู้ปราบทุกข์เข็ญในยุคก่อนหน้าอยู่แล้วไม่ใช่หรือ?

นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ๆ ในทุกวันนี้จึงเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งที่ถูกบันทึกอยู่ในหนังสือสื่อจี้ ของซือหม่าเชียน โดยเฉพาะในบทที่ว่าด้วยเรื่องราวในสมัยราชวงศ์ฉิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวของฉินสื่อหวงนี่แหละ

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอกันว่า การจะทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นไป ยุคสมัยฉินสื่อหวงได้นั้น อาจทำได้จากการศึกษาจารึกต่างๆ ในสมัยของพระองค์ ซึ่งเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่แต่เดิมไม่ค่อยถูกนำมาใช้มากนัก

 

จารึกในสมัยฉินสื่อหวงนั้นมีอยู่มากมายหลายชิ้น แต่ละชิ้นก็พูดถึงเรื่องราวที่แตกต่างกันไปบ้าง ซ้ำกันบ้าง แต่เรื่องราวสำคัญที่นักประวัติศาสตร์ได้จากจารึกเหล่านี้ก็คือ การสร้างมาตรฐาน (standardization) ในการชั่ง ตวง วัด และอีกสารพัดเรื่องไม่ว่าจะเป็นประกาศขนาดล้อและความกว้างของรถม้า (ซึ่งย่อมสัมพันธ์กับขนาดของถนน) ประกาศบังคับใช้ตัวอักษรชนิดเดียวกันทั้งจักรวรรดิ และก็อีกให้เพียบสารพัดประกาศทำนองเดียวกัน

ต้องอย่าลืมนะครับว่า ก่อนหน้าที่ฉินสื่อหวงจะสถาปนาตนเองเป็น “หวงตี้” อะไรที่เรียกว่า “จีน” นั้น แตกออกเป็นแคว้นเล็ก แคว้นน้อย ซึ่งก็ย่อมเต็มไปด้วยมาตรฐานของการชั่ง ตวง วัด ขนาดรถม้าและถนน รวมไปถึงตัวอักษร ที่แตกต่างกันไปหมด ซึ่งย่อมยากต่อการปกครองและพัฒนา

จารึกเหล่านี้จึงให้ภาพของ “ฉินสื่อหวง” ที่เต็มไปด้วยวิชั่นของนักปกครองที่เก่งฉกาจ มากกว่าภาพของทรราชผู้โหดเหี้ยม และในนิทรรศการเกี่ยวกับพระองค์ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คราวนี้ก็มีการนำจารึกพระราชโองการให้ใช้มาตราชั่ง ตวง วัดเดียวกันชิ้นหนึ่งมาจัดแสดงไว้ด้วย ใครที่ไปชมนิทรรศการก็อย่าพลาดชมนะครับ เพราะนี่คือหนึ่งในหลักฐานสำคัญว่า ทำไมจีนถึงกลายเป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในโลกได้เลยทีเดียว