จรัญ มะลูลีม : บทบาทสหรัฐฯในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแคชเมียร์จากอดีตถึงปัจจุบัน

จรัญ มะลูลีม

เช่นเดียวกัน นับเป็นเวลายาวนานมาแล้วที่ประธานาธิบดีซึ่งอยู่ในตำแหน่งได้นำเสนอต่อสาธารณะว่าต้องการเป็นผู้เจรจาสันติภาพแคชเมียร์

สหรัฐและอังกฤษต่างก็เคยพยายามเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเรื่องแผนสันติภาพของแคชเมียร์ในปี 1962 มาแล้ว

สหรัฐขอให้เยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ตกลงที่จะพูดคุยกับปากีสถาน หลังจากอินเดียประสบความพ่ายแพ้ต่อจีนในปี 1962

เนห์รูได้มีความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐเป็นระยะเวลาสั้นๆ เมื่อรัฐบาลสหรัฐเข้ามาช่วยรัฐบาลคองเกรส ที่ตกอยู่ในช่วงแห่งความตระหนกจากการโจมตี

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยของตะวันตกล่มลงในปี 1963

ในที่สุดอินเดียก็ก้าวล่วงเข้าไปสู่จุดยืนที่แข็งกร้าวในเรื่องแคชเมียร์จนถึงปัจจุบัน

 

ฝ่ายบริหารของโอบามา (Barack Obama) ในตอนต้น ได้แต่งตั้งริชาร์ด โฮลบรูก (Richard Holbrooke) มาเป็นตัวแทนพิเศษในภูมิภาค โดยโฮลบรูกเชื่อว่าความมั่นคงในปากีสถานเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาสถานการณ์ทั้งในอัฟกานิสถานและแคชเมียร์

เขาเชื่อว่าความมั่นคงในปากีสถานจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถแก้ไขทั้งปัญหาอัฟกานิสถานและปัญหาแคชเมียร์ ทั้งนี้ โฮลบรูกต้องการสร้างแรงกดดันต่ออินเดียเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแคชเมียร์

ในขณะที่อินเดียมีจุดยืนที่มั่นคงในการต่อต้านการเชื่อมโยงเรื่องราวของอัฟกานิสถาน ปากีสถานและแคชเมียร์ (Af-Pak-Kashmir) เข้าด้วยกันโดยกระทรวงต่างประเทศ

โอบามาซึ่งมีแผนที่จะใช้การรวมตัวทางทหารทางตะวันออกเพื่อท้าทายจีน มีความต้องการอินเดียเป็นพันธมิตร

กระทรวงต่างประเทศของอินเดียเตือนสหรัฐว่าความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศจะมีความยากลำบากหากโฮลบรูกยอมให้ปัญหาแคชเมียร์มาอยู่ในแผนของเขาด้วย

 

ข้อเสนอของโฮลบรูกในเรื่องแคชเมียร์ครั้งแรกดูจริงจังและจากนั้นก็ถูกปัดออกไป

โอบามาออกคำสั่งให้มีการรวมตัวกันทางทหารในอัฟกานิสถานโดยหวังว่าจะเอาชนะฝ่ายฏอลิบานทางทหารให้ได้

ในที่สุดปัญหาแคชเมียร์ก็ถูกกลบลงสู่ใต้ดินซึ่งทำให้อินเดียโล่งใจเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีการประท้วงอย่างกว้างขวางต่อกองกำลังความมั่นคงของอินเดียในแคชเมียร์ ซึ่งออกปฏิบัติการเกินขนาดจนเป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่าร้อยคน โดยฝ่ายบริหารของโอบามาปิดปากเงียบ

อิมรอน ข่าน อาจพยายามรื้อฟื้นลัทธิของโฮลบรูกขึ้นมาใหม่ โดยหวังว่าทรัมป์จะเข้าร่วมด้วยอย่างน้อยก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

นับตั้งแต่สมัยของบุช (George W. Bush) มาแล้วที่ประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งครองอำนาจต่างช่วงเวลากันเชื่อว่าอินเดียจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก ซึ่งการสนับสนุนอินเดียเป็นความจำเป็นของสหรัฐที่ต้องเผชิญกับศัตรูเก่าและศัตรูใหม่อยู่ทั่วโลก

ฝ่ายบริหารของทรัมป์จึงย้ำว่าจะเล่นบทบาทที่เข้มแข็งในแคชเมียร์ได้ก็ต่อเมื่ออินเดียเปิดไฟเขียวให้เท่านั้น

 

รัฐบาลพรรคภารัตติยะ ชะนะตะ (Bharatiya Janata Party) หรือ BJP ตัดสินใจที่จะพูดถึงสิทธิทางการเมืองของชาวแคชเมียร์ ซึ่งแต่แรกรัฐบาลอินเดียเคยมอบให้กับชาวแคชเมียร์ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกมองว่าเป็นการขานรับการที่ทรัมป์เข้ามาใกล้ชิดปากีสถานและนำเอาปัญหาแคชเมียร์ขึ้นมาอยู่แนวหน้า

อาจจะไม่ได้เป็นความบังเอิญที่ว่าความรุนแรงตามเส้นควบคุม (Line of Control) ได้นำไปสู่ความตึงเครียด เมื่อพิจารณาตั้งแต่การมาเยือนวอชิงตันของอิมรอน ข่าน และการเริ่มต้นการเจรจาสันติภาพของชาวอัฟกานิสถานในกรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

ในภาคปฏิบัติ รัฐบาลอินเดียกำลังแสดงให้โลกเห็นว่าในความจริงแล้วมีความเกี่ยวโยงกันของปัญหา อัฟกานิสถาน ปากีสถานและแคชเมียร์ (Af IPka Kashmir connection)

 

ตัวแทนของสหรัฐในการแก้ไขปัญหาอัฟกานิสถาน และปากีสถาน ซัลเมย์ คาลิซาด (Zalmay Khalizad) อยู่ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม (2019) อันเป็นวันที่อินเดียยกเลิกสถานะพิเศษที่มอบให้ชาวแคชเมียร์

เขาเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสที่สุดที่มาเยือนอินเดียหลังจากมีพัฒนาการที่สั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้คนในแคชเมียร์ คาลิซาดได้พบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย ซึ่งตามคำอ้างของเจ้าหน้าที่อินเดียมันเป็น “การพูดคุยที่มีประโยชน์” ที่เกิดขึ้นและตัวแทนของสหรัฐได้กล่าวสรุปถึงการตัดสินใจเกี่ยวกับแคชเมียร์ด้วยการยืนกรานว่าเป็น “กิจการภายใน”

ทั้งนี้ นักการทูตได้สรุปกับเจ้าหน้าที่อินเดียถึงความก้าวหน้าที่มาจากการพูดคุยกับฝ่ายฏอลิบาน ตามรายงาน

เขาได้แนะนำว่าอินเดียได้สำรวจถึงความเป็นไปได้ที่จะเริ่มติดต่อกับขบวนการฏอลิบาน

 

ฝ่ายอินเดียได้ยกประเด็นความใกล้ชิดกับฝ่ายทหารของปากีสถานของสหรัฐและอันตรายที่มีต่อความมั่นคงของประเทศมากล่าวถึง

ความโดดเดี่ยวของปากีสถานยังปรากฏให้เห็นหลังจากอัฟกันฏอลิบานออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลปากีสถานมิให้โยงปัญหาอัฟกันกับปัญหาแคชเมียร์เข้าด้วยกัน

การโยงประเด็นแคชเมียร์กับอัฟกานิสถานโดยบางพรรคจะไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นในตอนนี้ เพราะประเด็นอัฟกานิสถานมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

แถลงการณ์ของฏอลิบานกล่าว