เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ปางอุลตร้าแมน : ละเมิดต่อศรัทธาชาวพุทธ บกพร่องทางจริยธรรม

มีคำถามเรื่องการนำเศียรพระพุทธรปมาวาดแทนหัวหุ่นอุลตร้าแมน กระทั่งเอาตัวหุ่นอุลตร้าแมนไปนั่งบนอาสนะพระพุทธรูปในกรอบซุ้มเรือนแก้ว รวมถึงการระบายสีองค์พระพุทธรูปเป็นสีของหุ่นอุลตราแมนนั้น

ผิดไหม อย่างไรหรือไม่

ตอบว่า

ไม่ผิดหลักธรรม

แต่

ละเมิดต่อศรัทธาของพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ ถือเป็นพฤติกรรมที่บกพร่องทางจริยธรรมในวิถีวัฒนธรรมของชาวพุทธ

ซึ่งผู้รังสรรค์ศิลป์พึงสังวร

ศาสนาทุกศาสนาในโลกนี้มีสองภาคส่วนที่สำคัญ หรือจะเรียกว่ามีอยู่สองหลักก็ได้

หลักหนึ่งคือหลักคิด ซึ่งก็คือ “หลักธรรม”

หลักหนึ่งคือหลักความเชื่อ ซึ่งก็คือ “หลักศรัทธา” ทุกศาสนาจะมีหัวใจของศาสนาที่เป็นหลักธรรม ดังเช่นพุทธศาสนามีพุทธธรรม คริสต์มีคริสตธรรม อิสลามมีอิสลามมิกธรรม เป็นต้น

หลักธรรมคือหลักคิด จะมีส่วนที่ตรงกันในทุกศาสนา เช่น ไม่เห็นแก่ตน เห็นแก่ผู้อื่น เป็นต้น

ส่วนหลักความเชื่อคือศรัทธานั้นมีหลากหลาย ทั้งรูปแบบและเนื้อหา จนอาจเรียกเป็น “ระบบความเชื่อ” ด้วยเป็นความเชื่อที่เกิดจากวัฒนธรรมต่างกัน ความเชื่อตามค่านิยมของสิ่งแวดล้อม สังคม ความเชื่อตามองค์กรที่บัญญัติขึ้นมาเป็นพิธีรีตอง ฯลฯ

ซึ่งล้วนหลากหลายจนกลายเป็นระบบความเชื่อของแต่ละศาสนา ที่สุดจนกลายเป็น “ตัวศาสนา” ไปเลย

ดังมักมีวาทะว่าอย่าเถียงกันเรื่องศาสนา ด้วยต่างระบบความเชื่อ ต่างทัศนะกันไปนั่นเอง

ศาสนาพุทธเราเองก็มีระบบความเชื่อต่างพื้นภูมิ ต่างทัศนะกันมากมายแทบจะหาที่สุดมิได้เอาเลยทีเดียว เช่น ไหว้พระเก้าวัด นุ่งขาวห่มขาว ปล่อยนกปล่อยปลา ฯลฯ

เรื่องปล่อยนกปล่อยปลานี้มีเรื่องแทรกคือ เจ้าเพื่อนคนหนึ่งเดินผ่านท่าน้ำหน้าวัด ซึ่งมีแม่ค้านั่งขายนกขายปลาปล่อย เพื่อให้คนได้ทำบุญสุนทานว่างั้นเถิด เจ้าเพื่อนเดินผ่านเฉยจนแม่ค้าเอ่ยว่าไม่คิดโปรดสัตว์ทำบุญบ้างหรือ

เจ้าเพื่อนหันไปกล่าวกับแม่ค้าว่า

“แล้วไปจับมันขังไว้ทำไมล่ะ ปล่อยเอาบุญเองเลยซี่”

เจ้าเพื่อนธิบายภายหลังว่า พวกแม่ค้าเหล่านี้แหละบาป นอกจากจับนกจับปลามาขังทรมานสัตว์แล้วยังมารีดไถเงินชาวบ้านอีก

เลยไม่รู้ว่าใครได้บุญ ใครได้บาปแน่

ระบบความเชื่อหรือศรัทธานี้จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยิ่งศาสนาพุทธที่เจือด้วยพราหมณ์ ฮินดูด้วยแล้ว ยิ่งสร้างระบบความเชื่อหรือศรัทธาซับซ้อนจนแยกไม่ออกว่าอะไรพุทธ อะไรพราหมณ์ อะไรวิชา อะไรอวิชชา และอะไรคือพุทธศาสตร์ อะไรคือไสยศาสตร์กันแน่

เราอยู่กับระบบความเชื่อเช่นนี้จนคิดว่านี่คือวิถีของพุทธศาสนา

วัฒนธรรมความเชื่อเช่นนี้แหละที่กลายมาเป็นวัฒนธรรมของพุทธศาสนาในบ้านเรา

นี้คือหลักศรัทธาที่ครอบงำหลักธรรมอันเป็นหลักคิดสำคัญที่เป็น “หัวใจศาสนา” แท้จริง

หลักธรรม หัวใจของศาสนาพุทธคือ “ความดับทุกข์” โดยเฉพาะทุกข์ทางใจ เป็นหลักธรรมจำเพาะอันเป็นหลักคิดของพุทธศาสนา

ดังคาถาพระอัสสชิ ซึ่งพบเป็นอักษรปัลลวะจารึกไว้ใต้ฐานองค์พระปฐมเจดีย์ ที่ว่า

“เย ธัมมา เหตุปภวา

เตสังเหตุม ตะถาคะโต

เตสัญจะโย นิโรโธจะ

เอวังวาที มหาสะมะโณ”

แปลความว่า

“ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ

พระองค์ตรัสเหตุแห่งธรรมนั้น

และตรัสถึงความดับแห่งเหตุนั้นด้วย

พระองค์กล่าวเพียงเท่านี้”

คาถานี้ พระอัสสชิกล่าวตอบแก่ผู้ถามพระอัสสชิว่า อะไรคือหัวใจแห่งคำสอนของศาสดาท่าน

“เอวังวาที มหาสมโณ” แปลว่า “พระองค์ (มหาสมโณ) กล่าวเท่านี้ (เอวังวาที)”

ใจความทั้งหมดของคาถาพระอัสสชินี้แหละคือ “ความดับทุกข์”

พ้นไปจากนี้แล้วล้วนเป็นสมมุติบัญญัติทั้งสิ้น แม้องค์พระปฏิมาก็เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพุทธะ คือความสะอาด สว่าง สงบ หาใช่ตัวตนแท้จริงไม่ หากเป็นเพียงตัวแทนหรือสัญลักษณ์ของความเป็นพุทธะอันบริสุทธิ์สมบูรณ์ตามอุดมคตินั้นเอง

หลักคิดหรือหลักธรรมเป็นนามธรรมซึ่งต้องสาธยายเป็นรูปธรรมด้วยสัญลักษณ์นานา ดังเรื่องเล่าในชาดกมากมายที่เกี่ยวกับการ “เสวยชาติ”

เป็นทั้งเทพและสรรพสัตว์

อุลตร้าแมนกลายเป็นอีก “ปาง” ของยุคนี้ ถ้าผู้สร้างปางนี้จะนำเศียรพุทธะไปประทับไว้ตรงหัวใจอุลตร้าแมนเท่านั้น

อุลตร้าแมนจะศักดิ์สิทธิ์กว่านี้ทันที ที่ทำกันอยู่นี่

ไม่ผิดหลักธรรม แต่ละเมิดศรัทธา

ซึ่งบางทีก็สากรรจ์กว่าความผิดจริงจริงจริง

ปางอุลตร้าแมน

ความหมายอันสูงสุดแห่งพุทธองค์

คือผู้ทรงความรู้ ประจักษ์แจ้ง

เบิกบานอยู่ในธรรมอันสำแดง

เจิดแจรงเรืองราม ความตื่นรู้

คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

อยู่ในธรรมโพธิญาณ มั่นคงอยู่

คือภาวะแห่งจิต พินิจดู

สมญาโลกะวิทู รู้แจ้งแล้ว

พุทธรูป สมมติ พุทธองค์

จำลองลงแต่ละปาง ดั่งดวงแก้ว

ให้ฉายชัดสัจธรรม ดำเนินแนว

สะท้อนแววปริศนาธัมมาภิวัตน์

ผจญมาร ชนะมาร ด้วยญาณยุทธ์

เศกพิสุทธิ์สมพิสัย เวไนยสัตว์

เสวยชาติ ชาดก ยกนิทัศน์

ให้ผู้รู้ ถอดรหัส แม้บัดนี้

เสวยชาติ เป็นพญา อุลตร้าแมน

อันข้ามภพ ข้ามแดน ข้ามวิถี

กระทบไปทุกปาง ต่างท่าที

กระเทือนที่…กล้าท้า ศรัทธาชน!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์