จัตวา กลิ่นสุนทร : แก้ไข “รัฐธรรมนูญ 2560” ไม่ง่าย แต่ (ก็) ไม่ยาก

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน “อำนาจ” อะไรย่อมปิดทางขวางกั้นไม่ได้

ปัญหาการรวมตัวกันของ “7 พรรคฝ่ายค้าน” อาจารย์ นักวิชาการอิสระ นักกฎหมายทั่วไป สามารถเปิดเวทีเพื่อชี้แจงให้ประชาชนเจ้าของประเทศส่วนใหญ่ได้ตาสว่าง ได้เห็นกระทั่งสัมผัสได้ว่า “รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560” นอกจากจะเป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพต่างๆ แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับโอกาสในการประกอบธุรกิจ ต่อเนื่องถึงเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย

ไม่เพียงชี้แจงเพียงแค่เรื่องกฎหมาย และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่าเป็นเครื่องมือการ “สืบทอดอำนาจ” ของกลุ่ม “เผด็จการ” และสนองตอบคนเพียงบางกลุ่ม มิใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ

ดังที่เริ่มปรากฏให้ได้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่การ “เลือกตั้ง” มีนาคม 2562 และขั้นตอนการเข้าสู่อำนาจของ “รัฐบาล” และ สมาชิก “วุฒิสภา” ชุดปัจจุบัน

ประชาชนของประเทศถูกปิดกั้นจำกัดสิทธิบางสิ่งบางอย่างเพื่อฝ่ายที่ต้องการ “สืบทอดอำนาจ” ได้ช่วงชิงสิ่งเหล่านั้นไปโดยอาศัยกฎหมายใหญ่ที่กลุ่มพวกเขาได้ช่วยกันวางแผนออกแบบจัดทำมา

โดยใช้เงินภาษีอากรจากหยาดเหงื่อของคนในประเทศเป็นค่าเงินเดือน เบี้ยประชุมจำนวนมาก

 

ในประเทศนี้ มีคนฉลาดรู้ทันจำนวนมาก เพียงแต่พวกเขาไร้อำนาจ ไม่มีกำลัง ไม่มีอาวุธเพื่อต่อสู้ขัดขวางแบบลัดขั้นตอนชนิดหักเอาเฉยๆ เพื่อ “ยึดอำนาจ” เพื่อ “ล้มกระดาน” นอกเสียจากต้องพยายามต่อสู้ อดทนรอให้ฟ้าเปิด และกลุ่มผู้ครองอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมไม่สามารถทัดทานเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการ “ประชาธิปไตย” ต่อไปได้อีก ต้องเปิดเวที จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป

ดังที่เห็น ตามที่ทราบว่าสืบเนื่องมาจากการวางแผนเรื่องกติกา และวางตัวจัดตั้งผู้คนกระทั่งสามารถฝ่าแนวต้านทานของประชาชนส่วนมากเข้าสู่อำนาจได้ แม้ไม่สง่างามก็ไม่เคยสนใจใคร เทาๆ ดำๆ ผิดๆ ถูกๆ ก็ลากกันมาด้วยกติกาที่บอกว่าออกแบบมาเพื่อพวกเขา

การคิดคำนวณเสียงผู้แทนแบบที่หยิบยื่นตำแหน่งให้กับพรรคเล็ก พรรคละ 1 คน ทั้งๆ ที่พรรคเหล่านั้นส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งทั่วประเทศแต่กลับมีผู้ลงคะแนนเสียงให้เท่ากับผู้แทนในระบบเขตเพียง 1 คนเท่านั้น เพื่ออะไรเพื่อจะได้มีเสียงพอจัดตั้งรัฐบาลได้ เอากันดื้อๆ ด้านๆ แบบนี้แหละใครจะทำไม จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการชี้แจงแถลงให้ชัดเจนว่ามันเป็นกฎเกณฑ์จากที่ไหน ระบบอะไร ซึ่งถึงกระนั้นรัฐบาลก็ยังมี “เสียงปริ่มน้ำ” อยู่ดี และต้องปล่อยกองหน้าเที่ยวออกช้อปผู้แทน หรือตกปลาในบ่อเพื่อน เอากล้วยไปเป็นเหยื่อล่อให้ลิงกิน พยายามสร้างฟาร์มงูเห่าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

“เราเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ–รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกออกแบบมาให้แก้ไขได้ยากมาก หรือเกือบจะแก้ไขไม่ได้เลย–

สิ่งที่จะทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้คือ “มติมหาชน” ดังนั้น ในอนาคตข้างหน้า คือการทำให้พี่น้องประชาชนทั้งหมดได้ตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอุปสรรค มีปัญหา ขัดขวางการทำมาหากิน หรือการมีชีวิตอยู่ที่ดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร?

ถ้าเห็นพ้องต้องกันโอกาสที่จะเปิดประตูนับ 1 ในการแก้ไขก็จะเกิดขึ้น “นายภูมิธรรม เวชยชัย” จากพรรค “เพื่อไทย” ให้ความเห็น

และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค “อนาคตใหม่” พูดถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า– “ไม่ช้าก็เร็วเราจะเดินไปถึงวันนั้นอยู่แล้ว เสียงรัฐบาลไม่อาจทานเสียงของประชาชนได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 นี้มีปัญหามาก ตั้งแต่ที่มา เนื้อหา และกระบวนการ–

เราต้องอาศัยความแน่วแน่ และการทำงานอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นเรื่องของความฝันของยุคสมัย เป็นเรื่องของประชาชน จึงเรียนว่าหากแก้ไม่ได้ ประเทศไม่สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ แต่ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นตรงกันว่า จะไม่แตะต้องมาตรา 1 และหมวด 2–“

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งบรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่เมื่อพรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอให้นายกรัฐมนตรีถือธงนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ท่านกลับไม่เอาด้วย กลับบอกให้ทำอะไรก็ว่ากันไปตามกฎหมายก็แล้วกัน และได้เคยแสดงความคิดเห็นไว้ก่อนหน้านั้น ว่า–

“เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องมาศึกษาประเด็นที่แก้ไขก่อน เรื่องแก้ไขได้กำหนดไว้ในนโยบายรัฐบาลแล้ว ว่า สามารถดำเนินการได้ตามขั้นตอนต่างๆ ต้องดูว่าแก้เพื่ออะไร เพื่อใคร และประชาชนจะได้อะไร ได้ประโยชน์หรือไม่ เพราะเรื่องเร่งด่วนกว่านี้คือ การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน และปัญหาเศรษฐกิจที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น จากสงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ–”

พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทย ซึ่งหาเสียงกับประชาชนไว้ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 พรรคประชาธิปัตย์ใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองในการเข้าร่วมรัฐบาลด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนว่า 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านกลับเร่งเดินหน้าเต็มที่ เสนอ “ญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560” โดยไม่รอพรรคอื่น ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นๆ รีบยื่นประกบ เรียกว่าโดดร่วมขบวนไปด้วย และที่ประชุมสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เลื่อนญัตตินี้ขึ้นมาพิจารณาก่อนเป็นเรื่องเร่งด่วน

พรรคเพื่อไทยเคยพาดพิงถามถึงพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โฆษกของพรรคออกมาชี้แจงตอบโต้ด้วยลีลาแพรวพราวสวยงามตามสไตล์ก่อนหน้านั้น ท่อนหนึ่งว่า–

“กรณีที่พรรคประชาธิปัตย์แถลงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้นคือหลักการสำคัญ โดยจะเริ่มต้นปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก แน่นอนว่าในอนาคตเราก็สามารถแก้ไขด้วยหลักกติกาปกติ จึงแก้ไขในมาตรานี้ก่อน ส่วนรายละเอียดในการแก้ไขมาตราไหน อย่างไรนั้น ข้อมูลมีครบก็จะเป็นขั้นตอนในวันข้างหน้าต่อไป”

7 พรรคฝ่ายค้านวิเคราะห์กันแล้วว่า “รัฐธรรมนูญ 2560” เป็นฉบับที่มีปัญหาอุปสรรคเรื่อง “ประชาธิปไตย” มีความจำเป็นต้องมีการแก้ไข หรือจัดตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” เพื่อจัดทำขึ้นใหม่จึงลงมือดำเนินการผ่านช่องทางสภา และตระเวนเปิดเวทีเสวนาให้ประชาชนมีส่วนร่วม เมื่อเปิดเวทีเสวนาในภาคใต้ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ก็เกิดปัญหา

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ได้รับมอบอำนาจเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และนักวิชาการ 12 คน ว่ามีความผิดตามมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น ภาพจึงปรากฏชัดเจนได้เห็นตัวตนว่าใคร ฝ่ายไหนขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

เป็นฝั่งรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ (ทุ่มทุนภาษีประชาชน) สร้าง “รัฐธรรมนูญ 2560” ขึ้นมากระทั่งได้สืบทอดอำนาจ ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี โดยไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้ง เรียกว่าได้ตำแหน่ง “หัวหน้ารัฐบาล” แบบไม่ต้องยกก้นจากเก้าอี้ตัวนี้ติดต่อกันเข้าปีที่ 6

พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ เพิ่งได้ยศ “นายพล” หลังจากเป็นผู้รับมอบอำนาจเที่ยวแจ้งความดำเนินคดีจำนวนมากแก่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งต่อต้านรัฐบาล “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) เมื่อ 5 ปีที่ผ่าน

จาก “พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ” ไล่เรียงมาถึง “พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์” แม่ทัพภาคที่ 4 ผอ.กอ.รมน. และสุดท้ายจึงถึง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบไว้ชนิดปิดประตูตาย ยากแก่การแก้ไข แค่ต้องใช้เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนทั้งหมด และสมาชิกวุฒิสภาอีกส่วนหนึ่ง ก็มองไม่เห็นหนทางที่จะเป็นไปได้

ก่อนเกิดเหตุการณ์ “วันมหาวิปโยค” (14 ตุลาคม 2516) ดูเหมือนจะเป็นการเริ่มต้นมาจากการเรียกร้อง “รัฐธรรมนูญ” ของเหล่าผู้นำนักศึกษา จำนวน 13 คนเท่านั้น ซึ่งไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อนว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งสามารถได้รัฐธรรมนูญ และ “ประชาธิปไตย” แม้จะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อและชีวิต

ฝ่ายค้านกล่าวถึง “ประชาชน” พูดถึง “มติมหาชน” ซึ่งจะเป็นผู้ที่ร่วมกันเดินไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง สู่เป้าหมายร่วมกัน ประชาชนส่วนใหญ่ของแผ่นดินต้องมีจุดหมายเดียวกัน คือ “ประชาธิปไตย” เรื่องยากก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย

ย่อมไม่มี “อำนาจ” อะไรมาปิดกั้น “พลังของประชาชน” ได้ โดยเฉพาะการแก้ไข “รัฐธรรมนูญ ปี 2560”