คำ ผกา : ยุติธรรมที่เลือกปฏิบัติ

คำ ผกา

ข่าวรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาถูกจับได้ว่าขโมยรูปภาพออกจากโรงแรมแห่งหนึ่งในใจกลางเมืองเกียวโตรวม 3 ภาพ มูลค่า 4,500 บาท จากนั้นทางกงสุลไทยได้ประสานงานกับทางญี่ปุ่น และสุดท้าย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้รับการปล่อยตัวและกลับประเทศไทย

เรื่องนี้เป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจกันในหลายประเด็น เช่น

– งามหน้า เป็นถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แต่ไปขโมยของ รู้ถึงไหนอายถึงนั่น

– คนจนขโมยของเป็นความชั่ว คนรวยขโมยของบอกว่าเป็นโรคจิต

– “คนดี” ขโมยของ รัฐบาลไปช่วยจนไม่ติดคุก คนธรรมดาทำเหมือนกันติดคุก

สังคมไทยอยู่กับภาวะสองมาตรฐานทางการเมืองและความยุติธรรมมาโดยตลอด จึงเข้าใจได้ว่า เหตุการณ์ที่รองอธิบดีขโมยของครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดประตูเขื่อนให้น้ำแห่งความอัดอั้นโกรธแค้นได้ล้นทะลักออกมา ประเด็น ข้าราชการ “คนดี” ไม่ติดคุก ได้รับการปกป้อง

แต่คนธรรมดา สถานทูตไม่เคยใส่ใจดูแล หรือคนจนในเมืองไทย เอะอะก็ติดคุก คนรวย ชนชั้นนำ ทำอะไรก็ไม่ผิด

มันไม่เป็นไรที่เราจะโกรธ และระบายความอัดอั้นตันใจออกมา

แต่มันจะเริ่มเป็นอะไรที่เราเริ่มใช้ประสบการณ์ของเมืองไทยไป “ทำความเข้าใจ” คดีนี้ที่ญี่ปุ่น เช่น เข้าใจว่าการขโมยต้องติดคุกเท่านั้นในทุกกรณี

ขอเริ่มอย่างนี้

กรณีรองอธิบดีขโมยรูปภาพในโรงแรม

เรื่องคอขาดบาดตายมีเรื่องเดียวเท่านั้นคือ รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก ไม่ว่าการขโมยนั้นจะเป็นปัญหาทางจิตหรือไม่

การที่ คุณวิษณุ เครืองาม หรือ ม.ล.ปนัดดา หรือใครก็ตามมาบอกนักข่าวว่า เรื่องนี้เป็นความผิดเล็กน้อย อย่าไปขยายความ จึงเป็นการพูดที่ยิ่งตอกย้ำความวิตถารในการประเมิน “จริยธรรม” และ “จรรยาบรรณ” ที่ข้าราชการต้องมี

การขโมยครั้งนี้แม้ไม่ต้องติดคุก แต่การกระทำความผิดฐานขโมยยังอยู่ และผิดอย่างชัดแจ้ง

และต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกอย่างไม่มีเงื่อนไข

โฟกัสของเรื่องนี้จากสังคมควรเป็นประเด็นนี้เท่านั้นคือ – กรมทรัพย์สินทางปัญญา จะ “ลงโทษ” รองอธิบดีอย่างไร

ตัวรองอธิบดีจะลาออกหรือไม่?

ถ้าไม่ สมควรถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักและกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะต้องพบกับวิกฤตศรัทธาจากประชาชน

พูดภาษาชาวบ้านคือเสียหมา

ทั้งหมดควรมีเท่านี้ แต่ปรากฏว่ามีประเด็นโอละเห่ โอละพ่อ ที่สังคมดูเหมือนจะไขว้เขว และมันสะท้อนลักษณะไทยๆ อย่างหนึ่งคือ ชอบจับแพะชนแกะ เช่น ขโมยรูปโป๊ นั่นไงล่ะ เลวครบเครื่อง ขี้ขโมยแล้วยังหื่น หรือ ไม่เข้าใจว่า ทำไมไม่ติดคุกวะ!

มีการส่งข่าวกันว่า รองอธิบดีคนนี้เป็นข้าราชการที่เคยเป่านกหวีด

และกระซิบกันต่อว่าเป็นข้าราชการสังกัดกลุ่ม “คนดี” ที่น่ารังเกียจ

คดีนี้จึงแปรสภาพมาสู่การเป็น “ตุ๊กตา” ตัวแทนแห่งระบบ “คนดี” ที่ทำชั่ว

อย่ากระนั้นเลย พวกเราลุยมัน!

ใช่ ลุยเถอะ มันเป็นโอกาสของเราแล้ว แต่เราไม่ควรลุยด้วยข้อมูลผิดๆ หรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับข้อมูลเท็จเพียงเพราะว่าข้อมูลนั้นมันเข้าทางเรา ใช่หรือไม่?

ถูกต้องที่ว่า การที่ข้าราชการชั้นสูงไปลักเล็กขโมยน้อย เป็นความอับอายขายขี้หน้าอย่างยิ่งยวด

แต่ในอีกทางหนึ่ง เราจำเป็นต้องทบทวน “มายาคติ” ที่ทำงานอยู่ในวิธีคิดของเราด้วย เช่น

ทำไมเราคิดว่า ข้าราชการชั้นสูง หรือคนชั้นสูง หรือเศรษฐี จะไม่ขโมย???

นี่คือมายาคติอันใหญ่มาก เวลาเราเห็นคนจน เห็นคนผอมกะหร่องเป็นโฮมเลส เรามักมองว่า คนพวกนี้เป็นโจร ติดยา แต่เวลาเราเห็นคนมียศ มีศักดิ์ มีตำแหน่ง เราจะวาวใจไว้ก่อนว่าเขาคือคนดี!!!!!!

การที่เราโวยวายหนักมากที่รองอธิบดีขโมยของนั้นมันเปิดโปงมายาคติในตัวเราเอง เพราะหากเราไม่มีมายาคตินี้เราจะไม่ตกใจ เพราะเราควรจะรู้ว่า “โจร” โดยมากก็เป็นคนมีอำนาจ มียศ มีทรัพย์ศฤงคารอันเนืองนองทั้งสิ้น

และโจรเหล่านี้ไม่ได้ทำแค่ลักเล็กขโมยน้อย แต่สามารถปล้นงบประมาณ คอร์รัปชั่น กินหัวคิว ขายสัมปทานทรัพยากรของชาติทีละหลายพันหลายหมื่นล้าน

จำไว้ว่า คนที่ใหญ่โตยิ่งปล้น! ยิ่งคนใหญ่คนโตยิ่งไม่น่าไว้ใจ

การด่าเผด็จการ สามารถด่าได้เลย โดยไม่ร้องใช้เคสรองอธิบดีเป็นตุ๊กตาเย้นหยัน เพราะความผิดทำนองคลองธรรมของเผด็จการมันชัดเจนแจ่มแจ้งด้วยตัวของมันเอง

ขโมยรูปโป๊???

ผีห่าทาร์ซาน (ไม่ใช่ซาตาน) ตนใดไม่ทราบที่ดลใจให้สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ปล่อยข่าวออกมาว่า ภาพที่ขโมยไปเป็นภาพวาดเหมือนของดาราเอวี

ข้อแรก : ชอบรูปดาราเอวีแล้วน่าอายตรงไหน? ทำไมถึงคิดว่า การชอบดาราเอวีมันดิสเครดิตคนได้?

ข้อสอง : มันเป็นข่าวปลอม

ข้อสาม : การขโมย จะเป็นรูปดาราเอวี หรือรูปพระพุทธรูป ก็ถือว่าขโมย ผิดทางกฎหมายเสมอเหมือนกัน!

ดังนั้น การไป “เต้าข่าว” ว่ารูปที่ขโมยไปเป็นรูปดาราเอวี แล้วคนไทยจำนวนหนึ่งที่หมั่นไส้ “คนดี” เป็นทุน จึงพากันแชร์ข่าวนี้อย่างเมามันในอารมณ์ หารู้ไม่ว่ามันเป็นการประจานความมือถือสากปากถือศีลของตนเอง ที่ต้องวี้ดว้ายกระตู้วู้ เห็นดาราเอวีและหนังโป๊เป็นความเสื่อมทรามทางศีลธรรม ที่สำคัญมันไม่เกี่ยวในโทษฐานขโมย

การขโมยของในโรงแรมเป็นอะไรที่ช็อกเหลือเกิน!

บทความชื่อ What do hotel guests steel? http://www.smarttravelasia.com/HotelTheft.htm บอกว่า Hotel theft is epidemic. โรงแรมกับการขโมยของของแขกที่เข้าพักมันเป็นเหมือนเกิดมาคู่กัน

ในบทความนี้บอกว่า อย่าคิดว่าโรงแรมหรูๆ คืนละเป็นพันเหรียญ ที่ลูกค้าล้วนแล้วแต่ยุรยาตรลงมาจากเครื่องบินชั้นเฟิร์สต์คลาสของจะไม่หาย

เรื่องแบบนี้ไม่เกี่ยวกับดีเอ็นเอ ชาติตระกูล หรือความรวย

กลุ่มอาการอยาก “จิ๊ก” ของ หรือ Kletomaniac ที่ถูกกระตุ้นจากบรรยากาศชวนฝันในโรงแรมหรูเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ดังนั้น มาตรการของโรงแรมคือ คิดไว้เลยว่า แขกที่เข้าพักทุกคนมีแนวโน้มขโมยของออกจากห้องทั้งสิ้น

และแต่ละโรงแรมก็มีมาตรการของตนเองในการจัดการ เช่น อาจระบุราคาของทุกสิ่งอย่างในห้องพักไว้ เพื่อชาร์ตแก่ลูกค้าที่หยิบมันไป

บ่อยครั้งที่ลูกค้าหยิบเครื่องชงกาแฟไปทั้งเครื่อง กาต้มน้ำ หรือแม้แต่คริสตัลบนแชนเดอเลีย

รีสอร์ตบุลการีในบาหลี ออกแบบหมวกชายหาด และบอร์ดเกมมาให้ลูกค้าขโมยโดยเฉพาะ ไม่ต้องพูดถึงผ้าเช็ดตัวเป็นไอเท็มที่ถูกขโมยมากที่สุด

สำหรับคนที่ไม่มีความ kleptomania เมื่อเข้าพักโรงแรม อาจกรีดร้องว่า อี๋ ขยะแขยง เพราะไม่รู้ว่าผ้าเหล่านั้นผ่านการเช็ดตัวใครมาแล้วบ้าง

โรงแรมทั่วโลกเจอมาหมดแล้วทั้งขโมย ไบเบิล เตาผิง เตียง พรม แกรนด์เปียโน ลูกหมา แม้แต่ล็อบสเตอร์จากห้องอาหารจีน!!!!!!

การที่เราเข้าใจว่า การขโมยกับโรงแรมเป็นตำนานคู่กัน ไม่ได้แปลว่าเรามาส่งเสริมการขโมยกันเถอะ

ไม่ใช่

เพราะการนำของที่มากกว่า สบู่ แชมพู ปากกา ออกไปจากโรงแรม ในทางเทคนิคแล้วถือเป็น “อาชญากรรม” ทั้งสิ้น

และต่อให้ไม่กลัวกฎหมายก็ควรมีหิริโอตตัปปะ ไม่หยิบฉวยสิ่งใดที่ไม่ใช่ของตน

หรือถามตัวเองให้ชัวร์ว่า แน่ใจเหรอว่า เราอยากได้รีโมตทีวีของโรงแรมกลับบ้านจริงๆ!

หรือเราอยากได้ถุงส่งผ้าซัก ไม้แขวนเสื้อ ของโรงแรมกลับบ้าน!!!!!!

แต่เราควรเปิดโลกของเราไปเรียนรู้เพื่อเราจะไม่กลายเป็นพวกนาซีทางศีลธรรม ที่คิดว่า โลกต้องผ่องแผ้วนพคุณปราศจากความชั่ว การกระทำความผิด ความด่างพร้อยมลทิน

ลองทบทวนตัวเองดีๆ ว่า อันตัวเราก็ต้องเคยทำชั่วทำผิดอะไรมาบ้างแหละ แม้เราอาจจะไม่เคยขโมยของ แต่ชีวิตนี้เราไม่เคยทำอะไรผิดเลยหรือ?

แน่ใจนะ?

การที่มีมนุษย์เชื่อว่าโลกเป็นสถานที่ปลอดเชื้อ ปราศจากการกระทำความผิดใดโดยสิ้นเชิง มันเสี่ยงมากที่จะทำให้คนคนนั้นกลายเป็นเผด็จการความดี และหวังแก้ปัญหาความชั่วด้วยการกวาดล้าง จับกุม ประหารชีวิต ฆ่าคนชั่วหรือเอาคนชั่วไปขังให้หมด เหลือแต่คนดีเอาไว้

ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงคือ ในโลกนี้มีทั้งคนดีคนเลวในหลายเฉดสี มีคนเข้มแข็งอ่อนแอในหลายเฉดสี สังคมที่ไม่มองโลกเป็นขาวและดำ ก็จะมีคนเขียนบทความ ขำ-ขำ เกี่ยวกับการขโมยของในโรงแรมออกมาอย่างที่ฉันยกมาให้ดู

การที่เราเห็นโลกในหลายเฉดสีมีประโยชน์อย่างไร?

ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือ มันทำให้เราอยู่กับความเป็นจริง มองโลกมองสังคมอย่างรอบด้าน

มีความสามารถในการเผื่อจิตเผื่อใจไว้เพื่อเมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ และเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างมีเหตุมีผล

เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในโลกสีขาวผุดผ่องที่แลกมาด้วยการทำลายความเป็นมนุษย์ของกันและกันลง

น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่มีความสมัยใหม่พอที่ตระหนักในหัวข้อนี้

สำนึกของสังคมไทยต่อบาป การกระทำความผิด ความชั่ว และการลงทัณฑ์ สะท้อนในศิลปะ ประติมากรรมแบบวัดไผ่โรงวัว เรามีความอยากเอาปากนกแหลมไปจิกทึ้งควักหัวใจคน “ชั่ว” ออกมาจนเลือดสาด บาปขโมยของ บาปเอารัดเอาเปรียบ บาปไม่หุงข้าวให้ผัวกิน บาปกินเหล้า บาปตีเมีย บาปไม่กราบเท้าผัว บาปมีชู้ ล้วนถูกลงทัณฑ์ด้วยความโหดร้าย สยดสยอง เช่น การปีนต้นงิ้วแล้วเอาเหล็กแหลมคอยทิ่มๆ แทงๆ อีกทอดหนึ่ง

สำนึกที่บ่มเพาะกันมาแบบนี้ทำให้สังคมไทยเสพติดความรุนแรง โทษยิ่งแรงยิ่งดี ยิ่งทรมานยิ่งสาแก่ใจ

และเรามักลืมคิดไปว่าสำนึกเช่นนี้คืออุปสรรคในการบ่มเพาะความเชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และนั่นก็จะพอเป็นคำอธิบายว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมของไทยจึงเป็นแบบที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้

ทำไมสภาพเรือนจำเราเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้

ทำไมเราคิดว่านักโทษไม่ควรมีสิทธิที่พึงได้รับการปกป้องใดๆ ฯลฯ

สำนึกเช่นนี้บ่มเพาะให้เชื่อว่าโลกที่ปราศจากมลทินมีจริงถ้าเราหนักแน่นและเด็ดขาดพอที่จะกวาดล้าง “คนชั่ว” ออกไปให้หมด จนเหลือแต่ “คนดี” อย่างเรา

ทำไมญี่ปุ่นไม่เอาเข้าคุก รัฐบาลไทยเอาอะไรไปแลกหรือเปล่า?

คําถามเช่นนี้ มาจากทนายคนที่เชื่อว่าประเทศไทยยิ่งใหญ่มากและเป็นศูนย์กลางจักรวาล

ก่อนจะถามคำถามนี้ควรตั้งหลักถามตัวเองสักนิดว่า ประเทศไทยใหญ่มาจากไหน ญี่ปุ่นเขาถึงต้องมายอมทำตามที่ข้าราชการไทยขอ!!

เหตุที่รองอธิบดีไม่ติดคุก เพราะ Criminal Procedural Code Article 248 (ประมวลวิอาญา) อัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ เช่นในกรณีที่ความผิดชัดเจน ความผิดเล็กน้อย และผู้กระทำผิดไม่มีแนวโน้มจะกระทำความผิดอีก เพื่อลดปริมาณคดีที่จะเข้าสู่ศาล และประหยัดทรัพยากรเพื่อไปใช้สำหรับคดีอี่นๆ

ที่สำคัญกว่าประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ก็ให้อำนาจดุลพินิจแบบเดียวกันนี้กับอัยการ จากการสอบถามผู้รู้ทางกฎหมายญี่ปุ่น

ท่านได้อธิบายมาดังนี้

“ในกรณีนี้ต่อให้สถานทูตไม่ช่วย ก็คงไม่ต้องรับโทษอาญาอะไรมากอยู่แล้ว ในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับคดีลักเล็กขโมยน้อยก็จริง แต่อัยการจะสั่งฟ้องหรือศาลตัดสินลงโทษจริงก็เฉพาะคดีที่มีการกระทำความผิดซ้ำ หรือผู้ต้องหาไม่สำนึกผิด (ด้วยเหตุผลว่าตำรวจอัยการศาลมีงานสำคัญต้องทำเยอะแยะ ถ้าจะฟ้องจริงก็ต้องมีการสืบสวนสอบสวน เปลืองทรัพยากรมากๆ จะเอามาใช้ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดมีแนวโน้มจะสร้างความเดือดร้อนระยะยาว หรือในกรณีของเด็กที่จำเป็นต้องเยียวยาให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้เสียแต่เนิ่นๆ)

ในส่วนของที่มีข่าวพูดถึงว่าถ้าคนเป็นโรคเครปโตมาเนีย (อาการทางจิตเวชประเภทหนึ่งที่ผู้ป่วยจะลักเล็กขโมยน้อยเพื่อเหตุผลอื่นที่ไม่ใช่เพื่อเอาทรัพย์มาเป็นประโยชน์แก่ตัว) จนทำผิดซ้ำๆ แล้วถูกดำเนินคดีได้นั้น

ปัจจุบันโรคนี้ก็ไม่ถึงกับได้รับการยอมรับให้เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดได้ แต่อาจจะเป็นสาเหตฺลดโทษได้ เนื่องจากโดยตัวโรคแล้วแม้จะถูกลงโทษทางอาญา เช่น ปรับหรือจำคุกก็ไม่ได้ทำให้หายจากอาการนี้

ทนายที่เข้าใจก็อาจจะสู้คดีในแง่ที่ว่าให้รับโทษปรับไปแล้วรีบรักษาอาการทางจิตเวชให้หายดี จะได้ไม่ก่อเหตุแบบเดิมอีก แต่ในคดีนี้เราก็ไม่รู้ข้อเท็จจริงอยู่ดีว่ารองอธิบดีเขาเป็นโรคนี้จริงหรือไม่ จึงพูดอะไรไม่ได้

สุดท้ายในเคสนี้แม้ไม่ได้รับโทษทางอาญาอย่างหนัก (อาจจะแค่ปรับ) แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผลร้ายเลย หน่วยงานทางปกครองอื่น เช่น ตม. อาจจะมีขึ้นบัญชีห้ามเข้าญี่ปุ่นหรืออะไรก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้เจ้าหน้าที่รัฐเขาก็จะพิจารณาตามแต่จะเกิดผลประโยชน์แก่รัฐเขามากที่สุด

เขาไม่มานั่งคิดหรอกว่าทางฝั่งไทยจะคิดอะไรมากมาย สื่อเขาก็ไม่ได้รายงานขนาดนี้ เพราะไม่ใช่คนสำคัญสำหรับเขา”

เพราะฉะนั้น ต่อให้เราอยากให้ รองอธิบดีติดคุกให้สาสมกับความผิดแค่ไหน ถ้าทางอัยการญี่ปุ่นไม่ฟ้อง ฝ่ายไทยคงไปเปลี่ยนดุลพินิจเขาไม่ได้

หรือในทางกลับกันถ้าทางอัยการเห็นว่าควรฟ้องทางเราจะไปขอให้ไม่ฟ้องก็คงทำไม่ได้อีกนั่นแหละ

ทําไมคดีผู้หญิงที่ไปขโมยของที่ดิสนีย์แลนด์ต้องรออัยการพิจารณา 45 วัน และลงเอยด้วยการถูกควบคุมตัว?

เพื่อนนักกฎหมายคนเดิมอธิบายไว้เช่นนี้

“เข้าใจว่ามันเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานญี่ปุ่นแหละว่าจะจัดการอย่างไร (ดูลักษณตัวบุคคล รูปคดี แนวโน้ม ผลกระทบต่อความรับรู้ประชาชน ผู้เสียหาย ฯลฯ) ต่อให้คดีรองอธิบดีนี่ สถานทูตก็พูดได้แบบเดียวกัน คือช่วยเต็มที่แต่ไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายการทำงานของกระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่น แต่ถามว่าจะวิพากษ์ได้ไหมว่ากระบวนการยุติธรรมญี่ปุ่นตัดสินสองมาตรฐาน ก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ถ้าจะพูดแบบนั้นก็ต้องมีข้อมูลและหลักฐาน”

สถานทูตไทยต้องชดใช้ค่าเสียแทนรองอธิบดีหรือไม่?

ตามหลักเกณฑ์แล้ว จะไม่มีการออกเงินให้ก่อนในกรณีความเสียหายทางแพ่ง มีกรณีเดียวเท่านั้นที่จะออกเงินให้ก่อนได้คือ ติดคุกออกมาแล้วไม่มีเงินซื้อตั๋วเครื่องบินกลับ แต่ต้องทำสัญญาเพื่อชดใช้เงินคืนภายหลัง ฉะนั้น ในระดับเจ้าหน้าที่คงไม่มีใครทะลึ่งแหกระเบียบ เพราะจะซวยเอาในภายหลัง

ทีนี้ถ้ายังไม่เชื่อ ก็ต้องเรียกร้องให้ทางกงสุลไทยที่โอซาก้าชี้แจง

ทําไมตายายเก็บเห็ดโดนจับ แต่รองอธิบดีขโมยของไม่โดนจับ

ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ เพราะทางญี่ปุ่นเขาไม่ลงโทษรองอธิบดีจากความผิดนี้ แต่ กม.เมืองไทยจับคนที่เก็บเห็ดในป่า – เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันเป็นความผิดของญี่ปุ่นหรือที่ไม่เอาอีตานี่เข้าคุก?

แทนการร้องกระจองอแงว่า ทำไมทีเราทำผิด ทีเค้าทำไม่ผิด ไม่ยอมๆ ตรงกันข้าม เราควรเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ดุลพินิจจากอัยการเหมือนญี่ปุ่น ไม่เอาคดีเล็กน้อยขึ้นศาลให้เปลืองทรัพยากร เปลืองเวลา ไม่ใช่บอกว่า ญี่ปุ่นต้องเอาไอ้บ้านี่เข้าคุกด้วยเพราะเมืองไทยคนจนเก็บเห็ดแล้วเข้าคุก!

ใช่! ที่ผ่านมา เราไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เราถูกกระทำ แต่เราไม่ควรใช้หลัก “ถ้ากูไม่ได้รับความเป็นธรรม มึงก็ต้องไม่ได้ด้วย” แต่เราอาจลืมไปว่า สิ่งที่เราต้องเรียกร้องคือ “ถ้ามึงได้รับความยุติธรรม กูต้องได้เหมือนกับมึง!” ต่างหาก

การเรียกร้องความเป็นธรรมนั้นต้องเรียกร้องเพื่อให้มันมีมากขึ้น กว้างขวางขึ้นครอบคลุมคนทุกคน

ไม่ใช่เรียกร้องให้น้อยลง เช่น ตอนนี้กูไม่มี พวกมึงต้องไม่มีเหมือนกู

บรรทัดฐานทางกฎหมาย และความช่วยเหลือประสานงานกงสุลในกรณีรองอธิบดี ควรเป็นบรรทัดฐานที่ถูกเรียกร้องให้ใช้กับทุกคน การดูแลคนไทยที่มีคดีความที่ต่างประเทศทุกเคสต้องได้รับการดูแลเช่นนี้ในทุกคดีทั้งเบา ละหนัก และต่อให้คนนั้นเป็น “อาชญากร” เป็น “นักโทษ” ไม่ว่าจะด้วยข้อหาใดก็ตาม เราต้องเรียกร้อง ต่อสู้ให้สิทธิของผู้ต้องหาและนักโทษได้รับการดูแล ปกป้อง ตามหลักสากล

สิ่งที่เราต้องทบทวนตัวเองให้หนักมากคือในขณะที่เราเรียกร้องความยุติธรรม หลักสิทธิมนุษยชน ความรัก ความเข้าใจต่อเพื่อนมุษย์ ตัวเราเองพร้อมจะมอบสิ่งนั้นให้กับคนอื่นหรือไม่?

หรือจะเฝ้าแต่คิดว่า สิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรม ไม่ได้มีไว้สำหรับ “ศัตรู”