เศรษฐกิจ / แบน 3 สารเคมี… ปมร้อนที่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ แต่กลายเป็นปมร้อนทางการเมือง เมื่อ ‘ปชป.’ ต้องเลือกฐานเสียงหรือกระแสสังคม

เศรษฐกิจ

 

แบน 3 สารเคมี…

ปมร้อนที่ไม่ใช่แค่เรื่องสุขภาพ

แต่กลายเป็นปมร้อนทางการเมือง

เมื่อ ‘ปชป.’ ต้องเลือกฐานเสียงหรือกระแสสังคม

 

กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เรื่องการแบนสารเคมีอันตราย 3 ชนิด “พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส” ที่ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ เสียแล้ว

แม้ว่าจะมีมติออกมาอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดแน่นอน ถึงขนาดกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน

แต่ทันทีที่มีข่าวออกมา ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรก็บุกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอพบเจ้ากระทรวงที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อแสดงจุดยืนว่าต้องการใช้สารเคมี 3 ชนิดต่อไป

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย ออกอาการทันทีเมื่อรู้ว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ หรือหมวกอีกใบคือเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ หนีหน้าไม่มาพบ

“งงว่าตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังเล่นอะไรกันอยู่ ทำไมถึงไม่ฟังเสียงของเกษตรกร ที่ผ่านมาสมาพันธ์ทำหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 10 ฉบับ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่างจริงๆ หรือพยายามหนีกันแน่ เมื่อตอนที่หาเสียง ผมแทบไม่ต้องเดินทางไปหา ท่านก็พร้อมที่จะเดินทางมารับฟังปัญหาตลอดเวลา แต่ตอนนี้กลับเปลี่ยนไปเสียแล้ว”

ฟากตัวแทนเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่ร่วมเดินทางไปกระทรวงเกษตรฯ ด้วย กล่าวว่า หากพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ฟังเสียงของประชาชน ในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็มีกลุ่มเกษตรกรอีกหลายกลุ่มที่พร้อมจะเบือนหน้าหนีแน่นอน

 

กรณีนี้ ดูเหมือนพรรคประชาธิปัตย์กำลังตกที่นั่งลำบากที่สุด ขณะที่พรรคภูมิใจไทยส่ง น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดูเหมือนจะโกยคะแนนมาเต็มๆ

พรรคประชาธิปัตย์จึงตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะออกมาเชียร์กลุ่มเกษตรกรที่อยากใช้ 3 สารเคมีดังกล่าวต่อไป ก็ต้องโดนกระแสสังคมรุมสกรัมทันที เพราะเรื่องสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเป็น “มะเร็ง” เป็นเรื่องเซ็นซิทีฟที่ไม่มีใครอยากเจอ

หากพรรคประชาธิปัตย์เลือกอยู่ข้างกระแสสังคม พรรคประชาธิปัตย์เองจะตกอยู่ในความเสี่ยงทันที เสี่ยงต่อฐานเสียงภาคใต้ที่เป็นฐานแข็งแกร่งของพรรคต้องโดนเจาะยาง ที่อาจถึงขนาดสูญพันธุ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่!

ภาพที่เห็นในทีวีก่อนหน้าคณะทำงาน 4 ฝ่ายจะมีมติแบน 3 สารเคมี จึงเห็นอาการของนายเฉลิมชัยพูดแบบเสียงไม่ดังฟังไม่ชัดว่าจะแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด พร้อมทั้งบอกว่ามอบหมายให้ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ในฐานะผู้กำกับดูแล เป็นผู้จัดการเรื่องนี้ โดยจะไม่เข้าไปก้าวก่าย

ตอนจบของเรื่อง 3 สารเคมีอันตรายจะแบนหรือใช้ต่อ เชื่อว่าคงอีกไม่นานจะได้บทสรุป

แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่เสียรังวัดไปแล้ว คงต้องรีบแก้เกมนี้ด่วน!

 

หากดูท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่หัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ควบตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย เลขาฯ พรรค และ ส.ส.ของ ปชป.ทั้งหมด อิงกระแสสังคมให้แบน 3 สาร แต่ได้พยายามหาทางออกให้เกษตรกรผู้เป็นฐานเสียงด้วยการหาสารใหม่ที่ปลอดภัยกว่ามาทดแทนสารเดิม นั่นคือ “กลูโฟซิเนต” รวมถึงการพยายามประโคมข่าวการประกันรายได้ให้เกษตรกร ที่เป็นนโยบายของพรรค ถึงขนาดใช้งบประมาณซื้อช่วงเวลาจากช่อง 9 อสมท ถ่ายทอดสด kick off จ่ายเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว เพื่อให้ผลงานเห็นเป็นประจักษ์

แต่ดูเหมือนว่าความพยายามแก้เกมครั้งนี้ ยังไม่ค่อยได้ผลมากนัก เพราะได้ยินเสียงสะท้อนจากเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา และปาล์ม ไม่ตอบรับการใช้สารใหม่ทดแทนสารเดิม เนื่องจากราคาต้นทุนซื้อสูงถึงลิตรละ 480-500 บาท หรือประมาณ 2,000 บาทต่อแกลลอน ขณะที่สารเดิมขายเพียงลิตรละ 120-150 บาท ราคาต่างกันถึง 2-3 เท่า แถมอัตราสิ้นเปลืองการใช้เมื่อเทียบกับตัวเดิม ต้องใช้เพิ่มสูงถึง 1 เท่าตัว!!

ขณะที่แนวคิดอื่นๆ ที่กระทรวงเกษตรฯ เตรียมขับเคลื่อนเร่งด่วนรองรับกรณีเลิกใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว คือ

  1. เร่งส่งเสริมการใช้สารชีวภาพชีวภัณฑ์ทดแทน 3 สาร โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพืชไร่พืชสวนใช้ทดสอบในแปลงทดลองทุกภาคทั่วประเทศไปแล้วก่อนหน้านี้
  2. เสนอร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ. … ต่อสภาผู้แทนฯ โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างดังกล่าวอยู่ในชั้นกฤษฎีกา รอเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเข้าสภาผู้แทนฯ ต่อไป
  3. ยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันสามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองออร์แกนิก มีอัตราเติบโต 16% ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเชีย วางเป้าหมายเติบโตขยายตัว 25% ต่อปี และกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังเป็นเรื่องระยะกลางถึงยาว น่าจะไม่ได้เห็นผลในเร็วๆ นี้ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มเกษตรกร ส่วนการประกันรายได้ที่เป็นความภูมิใจของพรรคประชาธิปัตย์ อาจส่อเค้าจะไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบในทุกด้าน ทั้งเจอภาวะแล้งช่วงก่อนหน้า เจอภาวะน้ำท่วมซ้ำเติมอีก และยังเจอราคาผลผลิตโลกตกต่ำ โดยเฉพาะราคายางพารา จากที่แย่อยู่แล้วราคาตกต่ำเหลือ 3 โล 100 บาท กลายเป็น 3 โล ไม่ถึง 100 บาท

 

นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ ณ นาทีนี้ที่ดูย่ำแย่แล้ว อีกหนึ่งหน่วยงานที่โดนทิ้งบอมบ์เต็มๆ เช่นกัน หนีไม่พ้นกรมวิชาการเกษตร ในฐานะตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ จัดทำข้อมูลเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเพื่อพิจารณาแบน 3 สารเคมี

จึงไม่แปลกที่จะโดนกดดันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องของผลประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติการแบน ยืนตามมติคณะทำงาน 4 ฝ่าย หรือจะไม่แบน ประชาชนและเกษตรกรก็ต้องร่วมลุ้นกันต่อไป

ซึ่งตามกำหนดจะมีประชุมวันที่ 22 ตุลาคมนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ฉบับเดิม พ.ศ.2535 แต่วาระการประชุมที่ถูกบรรจุไว้แล้ว จะเป็นการพิจารณาตามที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นเรื่องเข้ามาแล้ว อาทิ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.), กรมปศุสัตว์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอพิจารณากฎหมายลูกที่จะรองรับพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับใหม่ พ.ศ.2562 ส่วนวาระเรื่องการยกเลิก 3 สาร จากกรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีการยื่นเรื่องเข้า

ก็ต้องตามลุ้นกันต่อว่า จะยื่นเรื่องบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาทันวันที่ 22 ตุลาคมนี้ หรือไม่

จากนี้ ประชาชนและเกษตรกร ต้องติดตามกันต่อไปว่าทิศทางในการแบนสารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ขณะที่มีทั้งกลุ่มหนุนและกลุ่มต้าน ทั้งสนับสนุนให้ยกเลิกใช้ 3 สารเคมี และกลุ่มต่อต้านที่ยังอยากให้ใช้ได้อยู่ต่อไป

  ถึงเวลานั้น เกมชักเย่อของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แม้ทุกพรรคร่วมฯ จะออกมาในเสียงเดียวกันว่า “แบน” แต่ท่าทีกลับไม่ชัดเจน เหมือนยื้อๆ ไว้ สุดท้ายต้องพึ่งยาสามัญประจำรัฐบาล ที่ชื่อ “ตู่” เป็นคนชี้ขาดอีกหรือไม่