วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / จาก พ.ร.บ.การพิมพ์ ถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

จาก พ.ร.บ.การพิมพ์

ถึงประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 17

หน้าที่ “บรรณาธิการ” มาตรา 4 ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 (แก้ไขเพิ่มเติม) หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์

มาตรา 23 หนังสือพิมพ์ซึ่งพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรต้องมี ฯลฯ บรรณาธิการ

มาตรา 24 บุคคลใดจะเป็น ฯลฯ บรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ต้อง

(1) มีคุณสมบัติตามมาตรา 15

(2) ไม่เป็นผู้ไม่มีสิทธิหรือขาดสิทธิตามมาตรา 16

(3) มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย

(4) ทำหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาแห่งประเทศของตน หากจะมีภาษาอื่นปนอยู่บ้างก็เฉพาะเป็นการทวนความ หรือการกล่าวอ้างถ้อยคำ หรือสำนวนเพียงเพื่อประกอบบทประพันธ์ หรือข้อความเกี่ยวกับการโฆษณาในทางการค้า หรือเป็นข้อความเพื่อประโยชน์แก่การศึกษาโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่มากเกินสมควร

(จากวงเล็บ 5 เป็นข้อความ (ก) – (ซ) และ (6) อยู่ในการแจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์)

 

ส่วนมาตราอื่นคือเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 (แก้ไขเพิ่มเติม) นอกนั้นเป็นเรื่องของเจ้าพนักงานการพิมพ์ที่มีสิทธิตักเตือน หรือมีอำนาจสั่งให้หนังสือพิมพ์เพื่อตรวจก่อนโฆษณา แต่มีสิทธิอุทธรณ์ ขณะที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับดังกล่าวมีการตรวจหรือเซ็นเซอร์ ในภาวะไม่ปกติ

มาตรา 33 ห้ามโฆษณาความลับของราชการในหนังสือพิมพ์ก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

มาตรา 34 เมื่อมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อธิบดีกรมตำรวจ หรือผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจออกคำสั่งชั่วคราวเป็นหนังสือแก่บุคคลใด หรือมีคำสั่งทั่วไป โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือหนังสือพิมพ์รายวัน ระบุห้ามการโฆษณาเรื่องใดที่เกี่ยวกับราชการทหารหรือการเมืองระหว่างประเทศ

มาตรา 35 ในคราวที่ประเทศมีเหตุฉุกเฉินหรือตกอยู่ในภาวะสงครามอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจสั่งเป็นหนังสือแก่บุคคลใดหรือประกาศโดยวิธีใดให้เสนอข้อความทั้งสิ้นที่จะโฆษณาในหนังสือพิมพ์ให้เจ้าหน้าที่ตรวจข่าวตรวจก่อน

นอกจากนั้น มาตรา 36 หากมีการกระทำตามมาตรา 34 เจ้าพนักงานอาจดำเนินการตาม (1) – (3) ตักเตือนเป็นหนังสือแก่บรรณาธิการ หรือเรียกบุคคลมารับคำอธิบายและให้ลงลายมือชื่อรับทราบ หรือให้ตรวจข่าวก่อน หรือสั่งพักใช้ หรือถอนใบอนุญาต งดการเป็นบรรณาธิการ ฯลฯ และอีกหลายประการที่เกี่ยวกับบรรณาธิการ รวมถึงการโฆษณาเรื่องราชการที่คลาดเคลื่อน และเรื่องของบุคคล

 

ส่วนสำคัญของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 (แก้ไขเพิ่มเติม) คือ ความรับผิดและบทกำหนดโทษ ในส่วนที่เกี่ยวกับบรรณาธิการ ตั้งแต่มาตรา 48 เป็นต้นไป ระบุว่า ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย

ส่วนใหญ่ หนังสือพิมพ์ บรรณาธิการย่อมเป็นทั้งผู้พิมพ์ผู้โฆษณา และแม้แต่เป็นเจ้าของด้วย

มาตรา 61 บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ใด ไม่ส่งรูปถ่ายใหม่เมื่อครบระยะเวลาห้าปี ตามมาตรา 26 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสิบสองบาท

มาตรา 62 บรรณาธิการ หรือผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์คนใดฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 33 หรือฝ่าฝืนคำสั่งของอธิบดีกรมตำรวจหรือผู้รักษาราชการแทนตามมาตรา 34 มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ (มาตรา 33 เรื่องโฆษณาความลับของทางราชการ)

ประการสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 17 แห่งยุคปฏิวัติสมัยจอมพลสฤดิ์ ธนะรัชต์ พ.ศ.2501 มีว่า

โดยที่การเสนอข่าวและบทความในหนังสือพิมพ์บางฉบับได้เป็นไปในลักษณะที่ไม่สมควร เช่น ในบางกรณีเป็นการกระทบกระเทือนพระบรมเดชานุภาพ ในบางกรณีส่งเสริมให้เกิดความหลงเชื่อนิยมในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือเป็นกลอุบายของคอมมิวนิสต์เพื่อก่อกวนบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ ทั้งนี้ อาจส่งผลให้เป็นภัยร้ายแรงแก่ประเทศและความสงบสุขในบ้านเมือง และโดยที่การกระทำดังกล่าวนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจป้องกันและระงับได้โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คณะปฏิวัติเห็นว่า ควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่ว่านี้เสียใหม่ในเมื่อได้มีสภานิติบัญญติขึ้นแล้ว แต่เพื่อให้กิจการได้ดำเนินไปด้วยความเหมาะสมในขณะนี้ เห็นควรให้มีข้อกำหนดบางประการ เพื่อป้องกันมิให้มีเหตุดังที่ได้กล่าวแล้ว

หัวหน้าคณะปฏิวัติจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้ (รวม 4 ข้อ)

ให้มีการยี่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบพิมพ์ที่กำหนด เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะดำเนินการได้

หนังสือพิมพ์ใดโฆษณาข้อความดังต่อไปนี้ ละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ ฯลฯ กล่าวร้าย เสียดสี เหยียดหยามประเทศชาติ ปวงชนชาวไทย ที่สามารถทำให้ต่างชาติเสื่อมความเชื่อถือ ไม่ไว้วางใจประเทศไทย กล่าวร้ายรัฐบาลไทยหรือกระทรวงทบวงกรมอย่างเคลือบคลุม ข้อความแสดงถึงความเคลือบคลุมว่ามีความเสื่อมโทรม เลวทรามในรัฐบาล ส่งเสริมลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นเท็จ ปลุกปั่นยุยงให้เกิดความไม่สงบ ข้อความหยาบคาย เป็นทางเสื่อมเสียศีลธรรม วัฒนธรรมชาติ ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้อยคำหยาบคาย ความลับทางราชการ

ให้พนักงานที่มีอำนาจตักเตือนหรือยึดหนังสือพิมพ์นั้นทำลายเสีย หรือสั่งถอนใบอนุญาต แต่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย คำวินิจฉัยนั้นถือเป็นที่สุด

มิให้ดำเนินการแก่ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ที่ได้ดำเนินการอยู่ก่อนประกาศนี้

ต่อมามีการยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 17 เมื่อ พ.ศ.2518 ที่ใช้มายาวนาน 17 ปี ตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการเนื่องจากเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย เหตุผลอีกประการหนึ่ง ประชาชนที่ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ซึ่งทำหน้าที่เป็นปากเสียง เป็นสื่อกลางนำข่าวสารและวิทยาการไปสู่ประชาชนได้รับความกระทบกระเทือน และถูกปิดปากเป็นเวลาอันยาวนาน ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นและนำข่าวสารที่แท้จริงไปสู่ประชาชนได้

หลังเหตุการณ์ “6 ตุลา 19” คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ปร.42) หนักข้อยิ่งกว่า