กรองกระแส : ทิศทาง ปรองดอง บนพื้นฐาน ประชาธิปไตย ทิศทาง สมานฉันท์

CORRECTION: DATE IN CAPTION A woman who was part of the movement to topple the government (C) is taken to safety by Thai soldiers as anti-coup protesters (R) started to attack her during a planned gathering in Bangkok on May 25, 2014. Thailand's military junta said it had disbanded the Senate and placed all law-making authority in the hands of the army chief, dramatically tightening its grip after a coup that has sparked Bangkok protests and drawn international condemnation. AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI / AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ไม่ว่าข้อเสนอในเรื่อง “การปรองดอง” จะได้รับการผลักดันมาจากใคร หรือที่ใด ต้องยอมรับว่าเป็นข้อเสนออันชาญฉลาดและเหมาะสมยิ่ง

เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงภายในสังคมไทย

ชาญฉลาดเพราะว่ามีแต่แนวทางปรองดองเท่านั้นจึงจะสามารถทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากปลักโคลนอันเลวร้ายออกมาได้

ต้องยอมรับว่า กว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทศวรรษแห่งวิกฤต แห่งปัญหา

แทนที่จะทำให้สังคมประเทศหลุดพ้นจากปัญหา จากวิกฤต ตรงกันข้าม กลับยิ่งทำให้ถลำลึกลงไปภายในปลักโคลนแห่งความเลวร้าย ลึกอย่างชนิดดิ่งดำ กว้างขวางใหญ่โตจนยากที่จะแก้ไขหรือเยียวยาได้แม้จะไม่อยากจมอยู่ก็ตาม

อย่าได้แปลกที่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยิบเรื่องปรองดองมาเป็นประเด็น มาเป็นความสำคัญอย่างยิ่งยวดนับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา เสียงขานรับจึงประสานขึ้นอย่างพร้อมเพรียงกันภายในสังคมไทย

แม้บางซีกส่วนอาจมองไม่เห็นแสงไฟที่ปลายอุโมงค์เนื่องจากความแตกแยก ขัดแย้ง สะสมและหมักหมมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยอมรับในความจำเป็นของการปรองดอง

มีแต่ต้องปรองดอง สมานฉันท์เท่านั้น สังคมไทยจึงจะเป็นสังคมที่มีอนาคต

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ทบทวน บทเรียน
ทบทวน รัฐประหาร

มีความจำเป็นเบื้องต้นที่ทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม จะต้องนำเอากระบวนการรัฐประหารมาทบทวนและหาบทสรุปร่วมกันว่ายังเป็นวิธีการและเครื่องมือที่ให้คุณหรือให้โทษ

ถามว่าเป้าหมาย 1 ของรัฐประหารคืออะไร

คำตอบไม่ว่าจะจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะจากกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

คือต้องการแก้ปัญหา ความขัดแย้ง แตกแยก

ถามต่อไปอีกว่า แล้วผลสำเร็จจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นอย่างไร ผลสำเร็จจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นอย่างไร

สำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่

คำตอบเห็นได้จาก หากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ประสบผลสำเร็จก็คงไม่มีรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 คงไม่มีคำว่ารัฐประหาร “เสียของ” ต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และก็คงไม่ต้องสร้างสถานการณ์เพื่อนำไปสู่รัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557

และหากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ประสบผลสำเร็จก็คงไม่ได้ยินเสียงปรองดองกระหึ่มขึ้นนับแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นมา

“รัฐประหาร” จึงมิได้เป็น “วิธีการ” หรือ “ทางออก” ที่ถูกต้อง

ตรงกันข้าม รัฐประหารได้กลายเป็นตัวการในการสร้างและเพิ่มปัญหาเข้ามาสุมรุมและก่อความเสียหายให้กับสังคมประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ตราบใดที่ไม่ยอมรับในความเป็นจริงนี้ ตราบนั้นก็ไม่สามารถหาหนทางออกที่ดีกว่าได้

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ปัญหา การเมือง
ต้องแก้ด้วย การเมือง

ต้องยอมรับว่า การนำเอากระบวนการรัฐประหารมาใช้เท่ากับนำเอา “การทหาร” มาเป็นอาวุธหรือเครื่องมือในการแก้ปัญหาทางการเมือง

อาจทำให้ความวุ่นวายสงบลงได้ แต่ไม่ยั่งยืน

เพราะความสงบที่บังเกิดเป็นความสงบอย่างที่เรียกว่า “สงบราบคาบ” เป็นความสงบภายใต้อำนาจของปากกระบอกปืน เหมือนเอาหินไปทับหญ้า

เป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ชั่วคราว แต่ไม่อเนกประสงค์

ตรงกันข้าม อำนาจจากปากกระบอกปืนมักจะมากับลักษณะ “เผด็จการ” ไม่เพียงทำให้ขาดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและเคลื่อนไหว หากแต่ในสายตานานาอารยประเทศยังเป็นเรื่องพ้นสมัย ไม่เหมาะสมกับโลกในยุคปัจจุบัน

การไม่ยอมรับของประชาคมโลก ไม่เพียงแต่ทำให้เกียรติภูมิของประเทศเสื่อมทรุด ตกต่ำ หากแต่ยังส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งทั้งในทางเศรษฐกิจและการลงทุน

ความสามารถในการแข่งขันเพื่อพัฒนาประเทศก็ลดลง

จากที่แสดงออกถึงปัญหาในทางการเมือง ก็ขยายกลายเป็นปัญหาในทางเศรษฐกิจ และก็ลามขยายกลายเป็นปัญหาในทางสังคม

เกิดภาวะคับแค้นในทางจิตใจ เกิดภาวะยากไร้ในทางวัตถุ

ความขัดแย้ง แตกแยก แทนที่จะยุติ ตรงกันข้าม กลับแผ่ขยายและบานปลายเป็นกว้างขวางยิ่งขึ้น ซึมลึกยิ่งขึ้น

สะท้อนให้เห็นว่า “รัฐประหาร” มิได้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้อง เหมาะสม

ยืนยันให้เห็นว่า “การทหาร” มิใช่สารพัดประโยชน์ เพราะมีแต่นำไปสู่การปราบปราม กำกับ ควบคุม อันเท่ากับเหยียบเข้าไปสู่พรมแดนแห่ง “เผด็จการ”

ในที่สุด กระแสเรียกร้องในเรื่อง “ประชาธิปไตย” ก็ดังกระหึ่ม

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

แนวทาง ปรองดอง
แนวทาง ประชาธิปไตย

เสียงเรียกร้องในเรื่อง “การปรองดอง” ที่กระหึ่มกระทั่งกลายเป็นกระแสสำคัญภายในสังคมประเทศไทยในขณะนี้ไม่เพียงแต่ยืนยันถึงความล้มเหลวของกระบวนการ “รัฐประหาร” หากแต่ยังตอกย้ำถึงความล้าสมัยของระบอบ “เผด็จการ”

“การปรองดอง” จึงต้องมาพร้อมกับ “ประชาธิปไตย”

เพราะมีแต่เปิดให้ประชาชนมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและเคลื่อนไหวเท่านั้น การค้นหาสาเหตุอันเป็นปัญหาของประเทศชาติบ้านเมืองมาตลอดกว่า 1 ทศวรรษจึงจะดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นคุณ

ยากเป็นอย่างยิ่งที่ “การปรองดอง” จะบังเกิดได้จาก “การบังคับ”

ตรงกันข้าม มีแต่บรรยากาศ “ประชาธิปไตย” มีแต่บรรยากาศแห่งการเสวนา เปิดอกหารืออย่างเสมอภาคและสร้างสรรค์ “การปรองดอง” จึงจะปรากฏเป็นจริง

“ประชาธิปไตย” จึงต้องมาพร้อมกับการก้าวไปสู่ “การปรองดอง”