Objective การนำสิ่งสามัญมาแปรผันให้เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ไปดูงานศิลปะที่แปลกใหม่น่าสนใจมาอีกนิทรรศการ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันอ่านตามเคย

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

Objective

โดยสองศิลปินหนุ่ม พาสเทล-พรภพ สิทธิรักษ์ และดุ๊ก-ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล

แรกสุด เมื่อเราย่างเท้าเข้าไปในแกลเลอรี่ เราไม่เห็นอะไรมากไปกว่าก้อนหินขนาดย่อมหลายสิบก้อนวางเรียงรายอยู่บนแท่นวางสีขาวสะอาดตาห้าแท่นราวกับเป็นงานศิลปะก็ว่าได้

จริงๆ ในเมื่ออยู่ในหอศิลป์ มันก็น่าจะเป็นงานศิลปะนั่นแหละนะ!

เพราะถ้าใครเคยอ่านคอลัมน์นี้มาตั้งแต่ต้นก็คงไม่ประหลาดใจเท่าไหร่นัก ที่ก้อนหินหน้าตาธรรมดาๆ ถูกเอามาวางในหอศิลป์ให้กลายเป็นงานศิลปะแบบนี้

เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีคนเอาโถฉี่ เก้าอี้ หรืออุจจาระ มาทำให้กลายเป็นศิลปะมาแล้วทั้งนั้น

แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปกันง่ายๆ ว่าพวกเขาแค่หยิบฉวยเอาก้อนหินจากข้างทางมาวางให้เป็นงานศิลปะกันง่ายๆ เสียอย่างงั้น

เพราะก้อนหินที่เราเห็นเหล่านี้เองก็ไม่ใช่ก้อนหินจริงๆ อย่างที่เรา (คิดว่า) มันเป็น

หากแต่เป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินทั้งสองทำการจำลอง ตีความ และสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่นั่นเอง

ด้วยความที่ศิลปินทั้งคู่มักจะนำวัตถุในชีวิตประจำวันและวัสดุที่ใช้ทำงานศิลปะมาใช้เป็นสื่อหลักในการเล่าเรื่อง โดยการแปรสภาพและให้ความหมายของวัตถุและวัสดุเหล่านั้นใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ

เหมือนกับเป็นการค้นคว้าทดลองและหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์

ลัทธพล หนึ่งในสองศิลปิน กล่าวถึงที่มาของผลงานในนิทรรศการนี้ว่า

“ผมเริ่มทำงานชุด “ก้อนหิน” ครั้งแรกตอนที่ไปเป็น Artist Residency (ศิลปินพำนัก) ที่เวียดนาม ผมได้ไปเดินรอบเมือง แล้วเห็นว่ามีตึกเก่าที่ถูกทุบทิ้งเพื่อที่จะสร้างเป็นโรงแรมหรือห้างสรรพสินค้าเยอะมาก”

“ผมก็เก็บเอาเศษหินจากซากอาคารเหล่านั้นกลับมาที่สตูดิโอ แล้วเอามาทำขึ้นใหม่ด้วยการใช้กระดาษทาบแล้วใช้แท่งถ่านแกรไฟต์ค่อยๆ ฝน จนพื้นผิวด้านนอกของกระดาษกลายเป็นพื้นผิวและรูปทรงของก้อนหินขึ้นมา”

“แล้วเราก็เอากระดาษที่ห่อก้อนหินที่ว่าออกมาสร้างรูปทรงใหม่เป็นก้อนหินอีกก้อนที่ด้านในกลวง”

“พอกลับมาจากเวียดนาม ผมได้เห็นงานชุดหนึ่งของพี่พาสเทลที่ทำเรื่องก้อนหินเหมือนกัน มีรูปลักษณ์คล้ายกัน แต่ถูกสร้างด้วยวิธีการต่างกัน ผมเลยสนใจว่า ถ้าเราเอางานที่มีวัตถุต้นทางแบบเดียวกัน (ก้อนหิน) แต่มีบุคลิกหรือวิธีการสร้างงานแตกต่างกันมาแสดงด้วยกัน มาทำให้เป็นงานชุดเดียวกัน มันจะสามารถสร้างบทสนทนาแบบไหนได้บ้าง?”

“ผมก็เลยออกไปหาหินชุดใหม่เพื่อเอามาทำงานสำหรับนิทรรศการนี้กับพี่พาสเทล โดยให้เขาเลือกก้อนหินไปจำนวนหนึ่งแล้วนำไปจำลองขึ้นมาใหม่ด้วยการหล่อปูนปลาสเตอร์”

พรภพ ศิลปินอีกคนของนิทรรศการกล่าวเสริมว่า

“หลังจากที่ดุ๊กติดต่อผมมา ผมคิดว่าหน้าที่ของผมคือการพยายามจำลองการจำลองก้อนหินของดุ๊กขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้วัสดุ สี หรืออะไรก็ตามให้ออกมาคล้ายผลงานของดุ๊กที่สุด เพราะด้วยความที่ผมไม่ได้ไปใช้เวลาร่วมกับดุ๊กที่เวียดนาม”

“งานชุดนี้สำหรับผมเลยเป็นเรื่องของการสร้างวัตถุขึ้นมาจากการไม่มีเรื่องราว แต่เป็นการบันทึกและจำลองกระบวนการทำงานของศิลปินอีกคนขึ้นมาใหม่”

“คำถามก็คือ เมื่อไม่มีเรื่องราวแล้ว ผู้ชมจะตัดสินให้มันเป็นศิลปะได้ไหม? งานศิลปะจำเป็นต้องมีเรื่องราวหรือเปล่า? ตัววัตถุสามารถเป็นงานศิลปะได้ด้วยตัวของมันเองไหม?”

“ในนิทรรศการนี้ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ความเป็นต้นแบบหรือของจำลอง หรือการที่เราจะบอกว่ามันเป็นก้อนหินจริงๆ หรือไม่ เราไม่อยากชี้นำหรือบอกข้อเท็จจริงใดๆ เกี่ยวกับผลงานเหล่านี้ แต่อยากให้คนดูตัดสินด้วยตัวเองว่าอะไรคือของจริงหรือของปลอม”

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างสภาวะให้คนดูตั้งคำถาม ว่าพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับสิ่งเหล่านี้ให้เป็นงานศิลปะได้หรือเปล่า?”

นอกจากจะเล่นสนุกด้วยการปล่อยให้ผู้ชมสงสัยและคาดเดากันเอาเองว่าผลงานชิ้นไหนเป็นฝีมือของศิลปินคนไหนแล้ว

ศิลปินทั้งสองยังเล่นสนุกกับ Wall Text หรือป้ายชื่อและคำอธิบายผลงานที่ติดอยู่บนผนัง

ด้วยการจับเอามาใส่กรอบเรียบหรูจนดูเหมือนกับว่าเป็นภาพถ่ายหรือภาพวาด มากกว่าจะเป็นป้ายชื่อธรรมดา

และเล่นกับการจัดวางตัวหนังสือและพื้นที่ว่าง จนทำให้เราสับสนว่ามันเป็นแค่ Wall Text หรือเป็นงานศิลปะอีก (หลาย) ชิ้นในนิทรรศการนี้กันแน่?

หลังจากดูงานนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามกับตัวเองว่า ก้อนหินธรรมดาๆ เหล่านี้มีความสำคัญอะไรถึงได้ถูกเอามาทำให้กลายเป็นงานศิลปะไปได้?

หรือการหยิบเอาวัตถุธรรมดาสามัญอย่างก้อนหิน (ไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือของที่ถูกจำลองขึ้นมาก็ตามที) มาวางตั้งบนแท่นแสดงงานภายในพื้นที่หอศิลป์จะสามารถทำให้พวกมันกลายเป็นงานศิลปะไปได้จริงๆ หรือไม่?

หรือแม้แต่ใครที่สงสัยใคร่รู้ ว่าในบรรดา “ก้อนหินศิลป์” ที่เราเห็นอยู่ในนิทรรศการนี้ มีก้อนหินจริงๆ รวมอยู่บ้างไหม?

เราคงตอบให้ไม่ได้ ใครอยากรู้ก็ต้องไปพิสูจน์ในนิทรรศการนี้กัน

ส่วนถ้าใครทายถูกแล้วจะได้รางวัลอะไรหรือเปล่า?

อันนี้ก็คงต้องขอให้ไปถามไถ่กันเอาเองก็แล้วกันน่ะนะ

นิทรรศการ Objective โดย พรภพ สิทธิรักษ์ และลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน – 17 พฤศจิกายน 2019 ที่ 1PROJECTS, 672/63 เจริญกรุง ซอย 28

สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทรศัพท์ 08-1699-5298

หรืออีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพจาก 1PROJECTS