นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ : ‘บิงซู’ ซอฟต์เพาเวอร์ในน้ำแข็งไส

ช่วงนี้อาการเมืองไทยร้อนจัดเหลือเกิน หลายคนหาทางออกดับร้อนด้วยการกินของหวานเย็นๆ

โชคดีที่บ้านเรามีของหวานให้เลือกกินมากมาย ทั้งไอศกรีม เฉาก๊วย ลอดช่อง เต้าทึง ไปจนถึงของหวานยอดฮิตอย่างน้ำแข็งไส

น้ำแข็งไสเกล็ดละเอียดราดด้วยน้ำหวานเฮลซ์บลูบอยสีแดง ตามด้วยนมข้นหวานหอมมัน ทานคู่กับขนมปังนุ่มๆ นี่อร่อยอย่าบอกใคร

ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่าชอบไปกินน้ำแข็งไสที่โชคชัย 4 มาก สูตรของผมคือใส่ท็อปปิ้ง 3 อย่าง ได้แก่ ข้าวโพด เฉาก๊วย และขนมปัง พร้อมกับย้ำกับคนขายว่า “ขอนมข้นเยอะๆ”

ถ้วยละ 10 บาทก็อิ่มท้อง เย็นชื่นใจ

พอโตมา มีสตางค์มากขึ้น ผมก็เริ่มรู้จักของหวานจากต่างประเทศ ทั้งขนมจากญี่ปุ่น ไต้หวัน อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ ต่างรสชาติ ต่างราคา ต่างวัตถุดิบ โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ที่มีคาเฟ่ขนมมาเปิดมากมายในเมืองไทย แต่ละร้านก็เอาใจลูกค้าสารพัด เราเริ่มเห็นคนหนุ่มสาวกล้าทุ่มสตางค์ทานขนมแพงๆ มากขึ้น ขนมบางเจ้าราคาต่อจานเท่ากับราคาบุฟเฟ่ต์อย่างดีเลยทีเดียว

ขนมหวานล่าสุดที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ถัดจากชิบูย่าฮันนี่โทสต์ มาการอง โดนัท หรือป๊อบคอร์น ก็คือ “บิงซู” หรือน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี

อย่าบอกนะครับว่าไม่รู้จัก

 

 

บิงซูเริ่มเป็นที่คุ้นลิ้นคนไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนมาบูมสุดๆ ก็ตอนเข้าสู่หน้าร้อน

ตอนนี้บิงซูกำลังฮ็อตฮิตมากในเมืองไทย ไปที่ไหนก็เจอแต่บิงซู จากที่มีขายไม่กี่ร้าน กระจุกอยู่ในแค่หัวเมืองอย่างสยาม-ทองหล่อ ก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศ

มีตั้งแต่คาเฟ่เกาหลีแท้ๆ ร้านขนมสำหรับคนรุ่นใหม่ ไปจนถึงร้านอาหารไทยบ้านๆ ก็ยังอดแทรกเมนูบิงซูเข้าไปด้วยไม่ได้

ผมเพิ่งไปทานร้านส้มตำแถวซอยอุดมสุขก็ยังอุตส่าห์มีบิงซูให้ทาน แถมอร่อยมากเสียด้วย!

ไม่ใช่ในเมืองไทยเท่านั้น ขนมหวานยั่วน้ำลายนี้ยังฮิตในอีกหลายประเทศทั่วโลก

ในเกาหลีใต้นั้นไม่ต้องพูดถึง กินกันเป็นปกติสไตล์โอปป้า แต่ประเทศอื่นๆ ในโซนเขตร้อนก็ยังเปิดอ้ารับวัฒนธรรมนี้ไปอย่างเต็มใจ เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ หรือฮ่องกง โดยก็มีการปรับปรุงสูตรไปตามแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีข่าวว่าบิงซูยังบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปถูกปากชาวอเมริกันอีกด้วย ปัจจุบันในย่านโคเรียนทาวน์ตามนิวยอร์ก ลอสแองเจลิส หรือแอตแลนต้า ก็มีบิงซูให้เลือกทานมากมาย

แล้วบิงซูคืออะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงฮิต

bingsu-700981_960_720

บิงซูคือน้ำแข็งไสสไตล์เกาหลี มีจุดเด่นที่ตัวน้ำแข็งไสนั้นไม่ใช่น้ำแข็งธรรมดาเหมือนน้ำแข็งไสในบ้านเรา แต่ใช้นมสูตรพิเศษที่เข้าเครื่องทำออกมาเป็นเกล็ดน้ำแข็งเลย

น้ำแข็งไสของบิงซูจึงมีความหวาน หอม มัน และละเอียดเนียนนุ่มละลายในปาก

นอกจากนี้ยังจัดเต็มด้วยท็อปปิ้งหลากหลาย เช่น ผลไม้สด ไอศกรีม ซีเรียล ราดด้วยนมข้นหวาน วิปครีม และน้ำหวานรสผลไม้

บิงซูมีหลายรสชาติแตกต่างกันไป เช่น สตอว์เบอร์รี่ ช็อกโกแลต เมลอน แต่รสชาติยอดฮิตที่สุดในตอนนี้ต้องยกให้บิงซูมะม่วง

น้ำแข็งไสเย็นๆ ชื่นใจ ทานคู่กับมะม่วงสดเปรี้ยวหวาน คือสวรรค์บนดินชัดๆ

ด้วยวัตถุดิบที่จัดเต็มขนาดนี้ ทำให้บิงซูมีราคาแพงใช่เล่น ตกถ้วยละประมาณ 160-330 บาท บางเจ้าถ้าเพิ่มชีสหรือถั่วอัลมอนด์ก็อาจมีราคาที่สูงกว่านี้อีก

แต่รู้ไหมครับว่าบิงซูที่เรากินอยู่ทุกวันนี้จริงๆ แล้วได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และมีประวัติที่ยาวนานกว่าที่คิด

บิงซูในอดีตมีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า “ปั๊ตบิงซู” (Patbingsu) โดย “ปั๊ต” ก็คือถั่วแดง นั่นหมายความว่าสูตรดั้งเดิมของปั๊ตบิงซูจะประกอบไปด้วยถั่วแดงเป็นหลัก แต่เมื่อแพร่กระจายไปทั่วโลกและมีหลากหลายหน้าตาไม่ใช่แค่ถั่วแดงอย่างเดียว จึงตัดคำว่า “ปั๊ต” ออก เหลือแค่ “บิงซู” อย่างเดียว

ปั๊ตบิงซูสูตรออริจินัลจะมีวัตถุดิบ 2-3 อย่าง ได้แก่ น้ำแข็งไส ถั่วแดง ต๊อก (Tteok-เค้กข้าวที่ทำจากข้าวเหนียว คล้ายๆ โมจิของญี่ปุ่น) และถั่วลิสงป่น ราดด้วยนมข้นหวาน

บางร้านในปัจจุบันก็ยังคงเสิร์ฟปั๊ตบิงซูแท้ๆ ให้คนรุ่นหลังได้ลิ้มรส

จากหลักฐานพบว่ามีการรับประทานมาตั้งแต่สมัยโชชอน (Josoen Dynasty) ราวปี ค.ศ.1392-1910 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาปกครองเกาหลีในช่วงปีค.ศ.1910-1945 จึงอาจกล่าวได้ว่า ปั๊ตบิงซูคือขนมหวานสไตล์เกาหลีแท้ๆ ไม่ได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่น แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาและเผยแพร่บิงซูให้เป็นที่นิยมมากขึ้น โดยเฉพาะการนำถั่วแดงกวนเติมลงไป (ญี่ปุ่นก็มีน้ำแข็งไสเรียกว่า Kakig?ri)

อย่างไรก็ดี นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่า ส่วนผสมระหว่างถั่วแดงกวนและน้ำแข็งไสนั้นเป็นการคิดค้นของชาวเกาหลีมากกว่า

บิงซูเริ่มมีหน้าตาคล้ายกับในปัจจุบันในช่วงสงครามเกาหลี (ปี ค.ศ.1950-1953) ที่มีวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา มีการใส่วัตถุดิบอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น ผลไม้สด ไอศกรีม ถั่ว ซีเรียล น้ำหวาน วิปครีม ก่อนจะได้รับการพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันที่มีการใส่ชีส โยเกิร์ต หรือแม้กระทั่งธัญพืชที่คนรักสุขภาพนิยมกิน

 

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความคิดสร้างสรรค์ของคนเกาหลีที่ไม่หยุดนิ่ง

จากน้ำแข็งไสดั้งเดิมที่ใช้กรรมวิธีผลิตแบบบ้านเรา พวกเขาคิดค้นเครื่องทำน้ำแข็งไสให้ได้เกล็ดละเอียดละลายในปากราวกับปุยนุ่น แถมยังเปลี่ยนแปลงสูตรจากการใช้น้ำธรรมดามาเป็นการใช้นมสูตรพิเศษ

ขนมที่มีอายุหลายร้อยปีจึงยังคงดูทันสมัย ไม่ตกเทรนด์

strawberry-665193_960_720

แล้วทำไมบิงซูจึงฮิต

ถ้าไม่นับเรื่องความอร่อยและความสดชื่น ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้วในชื่อ “ทำไมเราจึงคลั่งไคล้คัพเค้ก แต่กลับเฉยๆ กับขนมหม้อแกง” โดยพยายามวิเคราะห์ถึงปัจจัยหลักที่ทำให้อาหารประเภทหนึ่งฮิตกว่าอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเมื่อจับหลักการดังกล่าวกับบิงซูก็พบว่ายังใช้ได้ดีมาก โดยมีปัจจัยด้วยกัน 3 ข้อ

ปัจจัยที่หนึ่งคือ “ต้องถ่ายรูปขึ้น” เพราะเรากำลังกินอาหารผ่านทาง “ตา” มากกว่า “ปาก” ฉะนั้นอาหารประเภทไหนถ่ายรูปไม่ขึ้นก็ไม่สามารถเป็นเทรนด์ฮิตได้เลย ปัจจัยนี้บิงซูสอบผ่านฉลุยเพราะหน้าตามันน่ากินมาก ทั้งผลไม้สดวางเรียงรายสีสันสวยงาม น้ำแข็งไสเนียนละเอียดก่อตัวเป็นภูเขา ราดด้วยนมข้นเยิ้มๆ ชวนน้ำลายสอ

ปัจจัยที่สองคือ “ต้องสะท้อนรสนิยมหรือตัวตน” ประเด็นนี้เหมือนกับแฟชั่นที่เราใส่เสื้อผ้าไม่ใช่เพื่อความอบอุ่น แต่ใส่เพื่อบ่งบอกรสนิยม สถานภาพ หรือตัวตนของเรา บิงซูก็สะท้อนรสนิยมของคนกินได้ดีมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเก๋ไก๋ อินเทรนด์ หรือรสนิยมเคป๊อป

ปัจจัยที่สามคือ “ต้องมีสื่อมาประโคมข่าว” เรื่องนี้ไม่ต้องพูดถึงตอนนี้แทบทุกสื่อทำข่าวเรื่องบิงซูกันหมด มีการทำแผนที่ตามบิงซูในกรุงเทพฯ ให้คนไปตามล่า

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเคป๊อป เคฟู้ด ที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสนี้อีกด้วย ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Hallyu หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีที่กำลังถาโถมอยู่ทั่วโลกตอนนี้มีอิทธิพลอย่างมากที่ทำให้เรากินบิงซูได้อย่างเอร็ดอร่อยมากขึ้น ไม่ต่างจากความคุ้นลิ้นของเราที่มีต่อกิมจิ

นอกเหนือจากสามปัจจัยดังกล่าวแล้ว David Sax นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ผู้เขียนหนังสือ The Tastemakers : Why We”re Crazy for Cupcakes but Fed Up with Fondue กล่าวว่า อย่างน้อยที่สุดเทรนด์อาหารหรือขนม ต้องง่ายในการลอกเลียนแบบ ไม่ซับซ้อนและแพงเกินไป

ที่สำคัญคือสามารถนำไปพลิกแพลงได้หลายๆ แบบ ไม่จำเป็นต้องกินรูปแบบเดียว เป็นของคาวก็ได้ ของหวาน ของทานเล่น เครื่องดื่มก็ได้

กระแสบิงซูก็กำลังพัฒนาไปในทางนั้น

ผมคิดว่าความน่าสนใจของบิงซูไม่ใช่แค่ว่ามันเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่ผมมองในประเด็นที่ว่ามันกำลังเป็นอีกพลังที่ช่วยยกระดับซอฟต์เพาเวอร์ของเกาหลีใต้

จากเคป๊อป เคดรามา เคเกม เคฟู้ด มาถึงเคสวีต

ยิ่งเป็นขนมหวานๆ เย็นๆ ด้วยแล้ว ยิ่งง่ายในการโน้มน้าวให้คนคล้อยตาม เพราะมันเข้าถึงคนง่ายมาก

ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลเกาหลีใต้อยู่เบื้องหลังของบิงซูหรือไม่ (เห็นมีโปรโมตในเว็บไซต์การท่องเที่ยว)

แต่ถ้ากระแสบิงซูขยายต่อไปเรื่อยๆ ก็น่าจะช่วยเปิดประตูให้กับขนมอื่นๆ ของเกาหลีใต้ที่คนไทยอาจจะยังรู้จักไม่มากนักได้มากขึ้น เหมือนกับที่ขนมญี่ปุ่นทำได้มาแล้ว ซึ่งนั่นก็เหมือนเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่ช่วยขยายอำนาจของเกาหลีใต้ให้เพิ่มมากขึ้น

ที่สำคัญคือ เขาไม่ได้ปล่อยให้วัฒนธรรมบิงซูอยู่นิ่งแช่แข็งเหมือนน้ำแข็ง แต่มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยตลอดเวลา ทั้งในแง่เทคโนโลยีการผลิตหรือการเพิ่มเติมวัตถุดิบ

ล่าสุดผมเห็นว่าบิงซูเริ่มเข้าไปอยู่ในเมนูของโรงแรมระดับห้าดาวในเกาหลี ขายกันราคาแพงลิ่ว ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าอีกหลายเท่าตัว

จากของกินเล่นง่ายๆ ในอดีต กลายเป็นเมนูหรูหราที่ช่วยส่งออกวัฒนธรรม

เบื้องหลังกระแสนี้ ผมคิดว่ามันคือสิ่งที่เรียกกันว่า “ปัญญา”

เห็นกระแสบิงซูแล้ว ผมก็มองย้อนกลับมาที่น้ำแข็งไส-ปังเย็น เมนูโปรดของผมตั้งแต่เด็ก

ผ่านไปหลายสิบปี น้ำแข็งไสของผมก็ยังอยู่เหมือนเดิม ใส่น้ำแดงเหมือนเดิม ใส่นมข้นหวานยี่ห้อเดิม และขนมปังเย็นลักษณะเดิม

ผมไม่ได้บอกว่าการรักษาคงไว้เป็นสิ่งไม่ดี เพราะผมก็ชอบรสชาติแบบนั้น (ราคาถูกดีด้วย) แต่ถ้ามองในแง่การส่งออกวัฒนธรรม มันน่าเสียดายไหมครับที่บ้านเราก็มีของดีมากมาย เผลอๆ เจ๋งกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ แต่เรากลับไม่ค่อยหยิบสิ่งเหล่านี้มาต่อยอดและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า

พอได้เห็นความชาญฉลาดของเกาหลีใต้ที่ซ่อนอยู่ในน้ำแข็งไสบิงซูแล้ว ผมก็อยากเห็นอะไรแบบนี้ในขนมไทยเยอะๆ บ้างเหมือนกันนะครับ