สนทนา “พวงทอง ภวัครพันธุ์” สังคมไทย ไม่ (เคย) เรียนรู้อะไรจากความรุนแรง และ กระบวนการฝ่ายประชาธิปไตยที่ไร้พิมพ์เขียว?

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชวนมองแง่มุมที่อาจทำให้เราเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น

โดยที่คนไทยส่วนหนึ่งมักจะเข้าใจว่าเราเป็นสังคมเมืองพุทธ มีความเมตตากรุณาปรานีต่อกัน ไม่โหดเหี้ยม ไม่โหดร้าย

มีครั้งหนึ่งทีมงานโครงการบันทึก 6 ตุลา เอารูปเหตุการณ์แขวนคอ-เก้าอี้ฟาดไปให้คนทั่วไปดู

บางคนไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คนไทยไม่ทำอะไรแบบนี้

แต่เมื่อเขายอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงและเข้ามาค้นหาความจริงจะพบว่า ศักยภาพในการใช้ความโหดเหี้ยมต่อศัตรูทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจากฝีมือของรัฐ

อย่างกรณี 6 ตุลา คนที่มีส่วนในการใช้ความรุนแรงจากหลักฐานรูป-คลิป คือประชาชนทั่วไป หรือมวลชนฝ่ายขวาที่ถูกจัดตั้ง เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ร่วมกันใช้ความรุนแรง

คำถามก็คือ คนธรรมดาทำไมถึงได้เกลียดชังกันถึงเพียงนี้ ทั้งที่คุณไม่รู้จักกัน กลับใช้ความรุนแรงและสะใจในความตายอย่างทรมาน สะใจที่ได้ทำร้ายศพ

จากคำถามนี้ก็ต้องตั้งคำถามอีกต่อว่า มันมีกระบวนการอะไรที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังในขณะนั้น มีการป้ายสีนักศึกษาว่าเป็นศัตรูของชาติ มุ่งทำลายชาติ เห็นเขาเป็นสิ่งแปลกปลอม สิ่งชั่วร้าย ใช่หรือไม่

ซึ่งจะทำให้คนตั้งคำถามต่อในปัจจุบันอีกว่า เรายังคงอยู่ใน “ภาวะแบบนั้น” อยู่อีกไหมในปัจจุบันนี้

ก็ต้องบอกว่าใน 10 กว่าปีที่ผ่านมาเราก็ยังเห็นความเกลียดชังของคนต่างสี ต่างกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองต่อกันอย่างชัดเจน ยังคงมีการยุยงให้ฆ่ากัน

ถ้าเราย้อนกลับไปดู Social Media ในช่วงปี 2553 ก่อนที่จะมีการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง มีคนจํานวนหนึ่งยุให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามคนเสื้อแดง

โดยมองคนเสื้อแดงเป็นเชื้อโรคของสังคมไทยเป็นตัวถ่วงรั้งความเจริญ

มันมีความคล้ายกันอยู่ แน่นอนมันไม่เหมือนกัน เวลาที่เราใช้คำว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยมันไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันทุกอย่าง แต่มันมี “เงื่อนไขร่วมกันบางอย่าง” ที่คงดำรงอยู่ในปัจจุบัน

พลังนักศึกษาในปัจจุบันไม่มีวันเข้มแข็ง?

ถ้าพูดถึงพลังนักศึกษา คนรุ่นใหม่ก็เป็นคนที่มีไฟมองโลกในแง่ดีอยู่เยอะ

ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยไม่ค่อยสนใจทางการเมือง ทั้งที่อยู่ในวิกฤตทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2549

กว่าเขาจะเริ่มตื่นตัวทางการเมืองมันช้ามาก

เราเพิ่งจะเห็นในช่วง 2-3 ปีให้หลังนี่เอง แต่ไม่ใช่ขบวนนักศึกษา เป็นกลุ่ม activities นักกิจกรรม อย่างกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่มีสมาชิกไม่กี่คน แล้วก็ไม่ได้มีการดำเนินการต่อ

คำถามคือ อะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตอนนั้นจากที่ไม่สนใจการเมืองกลับมาสนใจการเมืองได้

นี่คือคำถามสำคัญ ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นเพราะรัฐบาลทหารเอง

รัฐบาล คสช.ทำให้คนที่ไม่สนใจในการเมือง รู้สึกทนไม่ได้ รับไม่ไหว ทำไมประเทศนี้ไม่มีความหวัง ภายใต้ผู้ปกครองที่ปกครองประเทศโดยที่ปิดกั้นไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและอยู่ในโลกเก่า

ความคิดเก่าๆ ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาบ้านเมืองตั้งแต่เรื่องธรรมดาทั่วไป เช่น น้ำท่วม รถติด ฝุ่นควัน ไปจนถึงปัญหาระดับชาติ เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและนอกภูมิภาค

สิ่งเหล่านี้คนรุ่นใหม่ก็เห็นว่าเราอยู่ในภาวะที่เราไม่สามารถที่จะวิ่งตามการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ทัน

และเขากลัวว่าเขาจะไม่มีอนาคต

ยิ่งการใช้คำว่า “ชังชาติ” กับเด็กรุ่นใหม่ หรือที่เห็นต่างกับคุณ คือการที่คุณพยายามจะบอกว่าคนรุ่นใหม่ไม่รู้เรื่องอะไรแล้วถูกเขาหลอก มันยังเป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ ของทุกสังคม ที่คนแก่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกพยายามอธิบายว่าลูกหลานพวกนี้ไม่รู้เรื่องอะไร อาบน้ำร้อนมาทีหลัง ไร้ประสบการณ์ ถูกหลอก

พูดง่ายๆ คือ คุณไม่สามารถจะชี้แจงอะไรได้คุณก็ดันใช้ความอาวุโสของคุณในการที่จะโจมตีดิสเครดิตอีกฝ่ายหนึ่ง แค่เพียงคนกลุ่มนี้มองว่าเสียงของเขามีความต้องการเห็นสังคมดีขึ้น กลับมองเขาเป็น “ศัตรูทางการเมือง”

ยิ่งถ้าเขาดื้อดึง ยิ่งกลายเป็นว่า คุณจะพยายามขยับสถานะของเขาให้กลายเป็นศัตรูของชาติของคุณ

และเมื่อไหร่ที่คุณมองแบบนี้ วิธีการที่รัฐไทยถนัดที่สุด คือการหาทางขจัด พยายามเชือดไก่ให้ลิง อาจจะมีตั้งแต่การจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีทำให้เสียงเหล่านี้หายไปจากสังคม

หรือแม้กระทั่งการปราบปราม ก็ยังคงเกิดขึ้นได้

โอกาสลุกฮือ-ลงถนน

ก็มีโอกาสเป็นไปได้เสมอ แต่ดิฉันยังไม่เห็น หรือไม่แน่ใจว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แต่ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน กับรุ่น 1970 มีความแตกต่างกันในหลายบริบท

แม้ว่าเราอยู่ภายใต้วิกฤตมา 10 กว่าปี แต่เราไม่เห็นขบวนการคนรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งเลย

ด้านหนึ่ง คิดว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจทางสังคมของยุคนี้เมื่อเทียบในอดีตแล้ว มันต่างกัน

ปัจจุบันมีทางออกให้ชีวิตได้มากกว่า นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัยในอดีต เป็นคนชั้นกลางที่จน พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ

แต่ถ้าปัจจุบันอย่างเราหันมามองที่ลูกศิษย์ตัวเอง เป็นคนชั้นกลางที่มีฐานะดีขึ้น แม้ว่าเขาจะรับรู้ว่าสังคมไทยไม่มีอนาคตให้เขา แต่เขายังมีทางเลือกที่จะไปที่อื่นๆ

หรือพูดง่ายๆ เขามีต้นทุนทางสังคมที่สูงกว่าอดีต

เขาต้องการโอกาสได้งานดีๆ เข้าไปในระบบราชการเข้าไปในบริษัทยักษ์ใหญ่

คนพวกนี้ก็จะคิดว่าถ้าเขาเสี่ยงในทางการเมืองมาก โอกาสที่จะได้งานมีอนาคตได้ยากเขาก็ไม่อยากเสี่ยง

แต่คนในอดีต เขาต่อสู้ด้วยความรู้สึกว่ามัน “ไม่มีอนาคตจริงๆ”

เขามีความคับแค้นมากกว่า

แต่ปัจจุบันเรายังไม่เห็นความคับแค้นความโกรธของคนรุ่นใหม่ที่มากพอ

แต่มันอาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ในระยะอีก 3-4 ปีข้างหน้าเราก็เริ่มมองเห็นอยู่

แต่ว่าในที่สุดแล้วมันจะเพิ่มขึ้น สั่งสมไปคล้ายสถานการณ์ฮ่องกงหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่ถ้าเราดูผู้มีอำนาจในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเขาไม่ยอมที่จะประนีประนอมในทางการเมืองเลย ไม่ยอมที่จะถอยเลย ก็ยังคงมีความพยายามรวบอำนาจทำทุกอย่างทุกวิถีทาง โดยการออกกฎหมาย ใช้วิธีการทำให้คนกลัวเพื่อทำให้ตัวเองมีสังคมในแบบที่ต้องการ

แต่ถ้าวันใดคุณบีบให้เขาไปสู่จุดอับตันหรือทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางออก เท่ากับว่าคุณกำลังผลักดันให้ประชาชนลงถนน

ถ้ามองไปจริงๆ รัฐบาลคุณประยุทธ์ 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าย้อนกลับไปในปี 2535 เขาไม่มีทางอยู่ได้แบบนี้เลย ปีเดียวคนก็ทนไม่ไหวแล้ว แย่กว่ายุค รสช.เสียอีก

แต่ที่คนยังทนได้เพราะว่าสังคมมันแตกออกเป็น 2 ส่วน เขามีมวลชนจำนวนมากให้การสนับสนุน และปัจจัยสำคัญที่สุดคือ สื่อมวลชน เมื่อปี 2535 มันยังมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าปัจจุบัน

แต่ขณะนี้สื่อมวลชนจำนวนมาก หลังรัฐประหาร 2557 สื่อกระแสหลักก็ยืนอยู่ข้างทหารด้วยซ้ำ

ซึ่งมันมีผลต่อการเข้าไปกำหนดความคิดทัศนคติของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล

ทำให้เขาสามารถที่จะยืนอยู่ได้นานกว่า 5 ปี

การที่เขามีสื่อถือข้างตัวเองจำนวนมาก มันก็สามารถปั่นให้มวลชนของเขาต่อต้านการเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนระบอบเดิมได้

แล้วยังผลักดันให้มวลชนออกมาพร้อมกันก็เป็นได้ทั้งนั้น

เช่น หากเกิดความตึงเครียด สมมุติว่ามวลชนฝ่ายที่ต้องการเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย เขาก็สามารถที่จะรณรงค์มวลชนเข้ามาปะทะก็ได้ แบบ 6 ตุลา

ถ้าคุณไปดูคำอธิบายของคณะรัฐประหาร 2519 ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราก็จะโยนความผิดให้มวลชนของเขา เพราะมีการกระทำที่ยั่วยุให้อีกฝ่ายหนึ่งโกรธ โดยเฉพาะการแสดงละครล้อเลียน ท้าทายสถาบัน อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอ้างตนว่าเป็นผู้รักชาติ ทนไม่ได้จึงใช้ความรุนแรง ซึ่งส่วนตัวยังคงเชื่อว่าจะยังมีความพยายามใช้ข้ออ้างเดิมๆ แน่นอน

แต่ต้องดูว่าได้ผลหรือเปล่าเพราะพลวัตทางการเมืองมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ฐานมวลชนเขาจะไม่เข้มแข็งเท่ากับ 5 ปีก่อน ตอนสนับสนุนรัฐประหาร เพราะเริ่มมีมวลชนที่เคยสนับสนุนเริ่มตาสว่าง

แล้วก็มองเห็นว่าเป็นความผิดพลาด ที่ปล่อยให้ทหารเข้ามาปกครองประเทศแล้วเขาก็ไม่ได้ไยดีชีวิตของประชาชนเท่าไหร่

ถ้าฝ่ายประชาชนชนะก็ไม่มีหนทางว่าจะยังไงต่อ?

ยอมรับว่าไม่มีพิมพ์เขียวแบบยุค 1970 ว่าถ้าชนะแล้วประชาชนชนะจะไปทางไหน มีการปฏิรูปอะไรบ้าง

แต่ประชาชนจำนวนมากก็หวังว่าระบอบประชาธิปไตยจะทำหน้าที่ในการเลือกสรรคัดกรองหรือเอาคนที่เห็นชัดแล้วว่าใช้ไม่ได้เอาออกไป นี่คือกระบวนการประชาธิปไตยที่อนุญาตให้เลือกและปฏิเสธสิ่งไม่ดี

แต่ยังไม่มีกระบวนการที่ฝ่ายประชาธิปไตยมาพูดคุยว่าจะมีการจัดการยังไงกับกระบวนการยุติธรรมที่มีปัญหาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

หรือเอาอย่างไรกับบางหน่วยงานที่ขาดความน่าเชื่อถือ

ในขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่ง ประชาชนก็ไม่ไว้ใจนักการเมืองด้วย นี่เป็นปัญหาสำคัญ อย่างองค์กรอิสระทั้งหลายแหล่ การออกแบบของรัฐธรรมนูญ เหมือนจะเป็นเรื่องที่ดีแต่กลายเป็นว่าบรรดาคนที่เข้าไปนั่งอยู่ในตำแหน่งนั้นกลายเป็นผู้ที่ทำลายความเป็นกลางความน่าเชื่อถือของสถาบันตัวเอง นี่คือสิ่งที่ต้องมีพิมพ์เขียว

ต้องเข้าใจว่ากระบวนการต่อสู้ทางประชาธิปไตยต้องใช้เวลายาวนาน บางครั้งเราต้องเป็นฝ่ายถอย

แต่เมื่อมีโอกาสก็รุกหน้าได้ เดินหน้าไป 5 ก้าวแล้วก็อาจต้องถอยมา 2 ก้าว เราต้องยินดีที่จะต่อสู้ ตราบใดที่ไม่มีการใช้ความรุนแรงปราบปราม เพราะหนทางความรุนแรงมันมีราคาที่ต้องจ่าย มันมีคนเสียชีวิต มันเป็นความสูญเสียที่มีราคาแพงมาก เรียกกลับคืนมาไม่ได้

ด้านหนึ่ง โอกาสการต่อสู้ประชาธิปไตยไทยมันใช้เวลานานและความหวังไม่ได้เรืองรองนัก มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถต่อสัญญาได้ว่า 5 ปีจะได้เห็นแน่ เพราะสังคมไทยยังคงเป็นสังคมอนุรักษนิยม และความอนุรักษนิยมนี้มันฝังรากลงไปในระดับความคิดหลายๆ อย่างในสังคม

ที่สำคัญ เรายังไม่มีพิมพ์เขียวที่ชัดเจนว่าถ้าชนะแล้วจะยังไงต่อ

รศ.พวงทองยกตัวอย่างทิ้งท้ายว่า เมื่อถึงเวลาจริงๆ แล้ว ก็ไม่แน่ใจด้วยซ้ำไปว่าคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจะยินดีที่เห็นการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพมากน้อยแค่ไหน เพราะมันมีหลายระดับ

เพียงแค่หยุดการเกณฑ์ทหารยังไม่พอ มันต้องรื้อกันทั้งระบบ

แต่ถึงเวลาจริงๆ เราอาจจะเห็นคนที่เรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตยกันเองอาจจะไม่ยินดีเห็นการรื้อเปลี่ยนแปลงทั้งหมดก็ได้ แต่ยังไงเสีย เราก็ไม่ควรจะหมดความหวัง เพราะเราไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว

นอกจาก “ต้องสู้”