ลิ้นปี่ป่าหรือหางปลาช่อน วัชพืชที่ไม่ธรรมดา ปรุงเป็นยาประโยชน์ยิ่งนัก

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

 

ปุจฉา : วัชพืช เป็นพืชที่เราต้องทำลายล้างและไม่มีประโยชน์เลยจริงหรือ?

วิสัชนา (ในความคิดเห็นของมูลนิธิสุขภาพไทย) : ไม่จริง พืชที่ถูกจัดว่าเป็นวัชพืชหลายชนิดเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์มากมาย เช่น ต้นสาบเสือ วัชพืชที่หลายคนรังเกียจแต่เป็นสมุนไพรห้ามเลือดได้ดี และเป็นพืชที่ช่วยรักษาหน้าดินก็ได้

ครั้งนี้ชวนผู้อ่านมารู้จักพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปตามพื้นที่รกร้างว่างเปล่า

บางคนจัดว่าพืชนี้คือ วัชพืชชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า หางปลาช่อน ชื่อถิ่นอีสานเรียก ลิ้นปี่ป่า

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Emilia sonchifolia (L.) DC. ex Wight จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับทานตะวัน (Asteraceae)

พืชในสกุลนี้ พบในประเทศไทยมีเพียง 3 ชนิด คือชนิดแรก Emilia khaopawtaensis H. Koyama มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ผักบั้งเขา

ชนิดที่สอง คือ Emilia prenanthoides DC. มีชื่อสามัญในภาษาไทยว่า ผักบึ้ง

และชนิดที่สามกล่าวไว้แล้ว คือ หางปลาช่อน (Emilia sonchifolia (L.) DC. ex Wight)

หางปลาช่อน เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีชื่อพื้นเมืองอื่นๆ เช่น ผักกาดนกเขา (นครศรีธรรมราช) ผักแดง (เลย) ผักบั้ง (ลำปาง) หางปลาช่อน หูปลาช่อน (ภาคกลาง) ลิ้นปี่ป่า (ภาคอีสาน) เฮียะเออัง (จีน) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Cupid”s shaving brush

ลักษณะของหางปลาช่อน เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงสูงเพียง 10-45 เซนติเมตรเท่านั้น

ปลายใบแหลมเรียว โคนใบกว้างรูปไข่ ขอบใบหยักเว้า หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีม่วงแดง

ดอกออกเป็นช่อกลางลำต้น ช่อหนึ่งแยกเป็น 2 แขนง ดอกสีแดง ขนาดเล็ก ผลมีเปลือกแข็ง

หางปลาช่อนมีถิ่นกำเนิดที่ใดไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด

มีเพียงรายงานว่าพบพืชชนิดนี้ได้ไม่น้อยกว่า 54 ประเทศทั่วโลก

การใช้ประโยชน์ หลายประเทศนำส่วนของใบไปประกอบอาหารและถือเป็นการกินยาสมุนไพรไปในตัว ถ้าจะเก็บใบมาประกอบอาหารต้องเลือกเก็บจากต้นที่ยังไม่ออกดอกจึงจะได้ใบไปกิน

เมนูยอดนิยมของใบหางปลาช่อนมักจะนำมาทำแกงจืด รสชาติดี

นอกจากปรุงเป็นอาหารแล้วยังได้คุณสมบัติทางยา เนื่องจากใบมีรสออกขมเล็กน้อย ถือเป็นยาเย็น

ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมก็มักกินเป็นอาหารช่วยลดไข้

หางปลาช่อนเป็นสมุนไพรที่มีการใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม กัมพูชา และมักมีการใช้ในสรรพคุณคล้ายๆ กัน ใช้แก้ไอ เจ็บคอ ได้ดีมาก นำรากสดล้างสะอาดเอาไปนึ่งกับเนื้อหมู กินแก้เด็กเป็นตานขโมย ต้นสด นำต้มน้ำดื่มเป็นยาแก้เจ็บคอ ทอนซิลอักเสบ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ท้องเสีย และมีการกินหางปลาช่อนเพื่อบำรุงร่างกายให้มีสภาพดีขึ้นหลังจากเกิดผลกระทบจากการมีพยาธิรบกวนในร่างกาย

หรือเมื่อร่างกายมีอาการแพ้ต่างๆ กินหางปลาช่อนแล้วเหมือนได้รับการฟื้นฟูร่างกาย ความรู้ในบางท้องถิ่นก็มีการใช้หางปลาช่อนเพื่อช่วยลดน้ำตาลในเลือดด้วย

ยังมีการใช้เป็นยาภายนอก โดยใช้ต้นสดตำคั้นน้ำพอกแก้ฝี แก้บวมน้ำ และเป็นยาพอกแก้ฟกช้ำได้ ในอดีตมีการคั้นเอาน้ำจากใบหางปลาช่อนมาหยอดตาแก้อาการตาเจ็บ (ในปัจจุบันต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง)

ในประเทศสิงคโปร์ที่มีความเจริญทางเทคโนโลยี ก็มีรายงานการนำเอาหางปลาช่อนไปรับประทานเป็นผักเช่นเดียวกัน

และมีการใช้เป็นยาสมุนไพรในครัวเรือนเพื่อเป็นยาลดไข้ ลดอาการไอ คล้ายๆ กัน

ในตำรับยาของสิทธา (การแพทย์แขนงหนึ่งของอินเดีย) มีตำรับยาเพื่อใช้รักษาพยาธิในลำไส้และอาการเลือดออกเนื่องมาจากริดสีดวงทวาร

โดยนำหางปลาช่อนทั้งต้นมาบดคั้นน้ำให้ได้ประมาณ 1-2 ช้อนชา รักษาพยาธิในลำไส้ และตำรับห้ามเลือดจากริดสีดวงทวาร ให้เอาหางปลาช่อนทั้งต้นมาตำให้แหลก ใช้ปริมาณสมุนไพร 2-5 กรัม ผสมกับบัตเตอร์มิลด์ (Buttermilk คือนมที่ได้รับการหมักโดยใช้เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง จะมีความเป็นกรด มีรสเปรี้ยวและความข้นหนืดมากกว่านมสด) กินเพื่อให้เลือดที่ริดสีดวงหยุดไหล

และยังมีตำรับยาใช้ทั้งต้นต้มดื่มแก้อาการติดเชื้อไวรัส รักษาอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารตอนบน ลดอาการลำไส้อักเสบ ท้องเดิน ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบ เต้านมอักเสบ ลูกอัณฑะอักเสบ ในตำราของสิทธายังมีสูตรยาหางปลาช่อนรักษาแผลติดเชื้อ ฝีในช่องหู

ในประเทศจีนมีการใช้หางปลาช่อนเป็นสมุนไพรต้านหรือป้องกันการอักเสบและแก้ท้องเดิน ในออสเตรเลียศึกษาในด้านโภชนาการไว้บ้างแล้ว และรายงานว่าห้ามใช้หางปลาช่อนในหญิงมีครรภ์ และยังมีรายงานที่กล่าวไว้ว่า หางปลาช่อน หากนำใบมาทำเป็นชาชงใช้เป็นสมุนไพรรักษาอาการท้องเสีย และถ้านำน้ำคั้นจากทั้งต้นใช้รักษาตาอักเสบและตาบอดกลางคืน ลดอาการเจ็บหู

ถ้านำมาทั้งต้นใช้จะเป็นยาฝาดสมาน และขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ขับเสมหะ ลดไข้ ขับเหงื่อ ลดอาการอักเสบในระบบทางเดินอาหารในเด็กเล็ก

ถ้าใช้ร่วมกับสมุนไพรในกลุ่มเสนียด ชนิด Justicia secunda Vahl จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (แต่สรรพคุณนี้ยังไม่พบรายงานในประเทศไทย)

และมีการนำดอกมาเคี้ยวแล้วอมไว้ในปากประมาณ 10 นาที จะช่วยทำให้ฟันแข็งแรง ไม่โยกคลอน

 

หางปลาช่อนจัดเป็นสมุนไพรหนึ่งในสิบที่สำคัญมากของรัฐเคราลาของประเทศอินเดีย (Ten Sacred Flowers of Kerala State in India) ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ

ในประเทศเนปาลนำทั้งต้นมาตากแห้ง บดให้เป็นผง แล้วนำมาทำลูกแป้ง เรียกว่า “มาร์ชา” (marcha) ใช้ทำเหล้ากลั่น

หางปลาช่อนเป็นวัชพืชที่มีศักยภาพไม่แพ้ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชที่มีการกระจายทั่วไป เหมาะที่จะส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ เพื่อดูแลสุขภาพในชีวิตประจำวัน

ถ้าช่วยกันศึกษาทั้งประโยชน์และข้อมูลความเป็นพิษให้มั่นใจว่าปลอดภัยแล้ว จะเป็นสมุนไพรใกล้ตัวที่หาได้ง่ายมาก