วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / พิมพ์ดีดกับนักเขียน (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับนักเขียน (จบ)

อันเดอร์วู้ดแชมเปี้ยนมีสามสีคือ ดำ, เทา และเขียว อีกทั้งมีกระเป๋าแข็ง ซึ่งแยกส่วนและทำเป็นที่ตั้งพิมพ์ดีดได้ ออกแบบโดยวิลเลียม อัลเบิร์ต ด๊อบสัน ซึ่งเคยทำงานในโรงงานผลิตรถยนต์ที่ฮาร์ทฟอร์ด คอนเนกทิคัต

ต่อมา หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาจึงทำงานให้บริษัทอันเดอร์วู้ด กลายเป็นวิศวกรและที่ปรึกษาของโรงงาน แชมเปี้ยนมีหน้าตาคล้ายรุ่นก่อน ต่างกันเพียงมีปุ่มแท็บ (tabulator key) หรือเว้นย่อหน้าได้

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งเพื่อการสื่อสารในกองทัพและโฆษณาชวนเชื่อในหมู่พลเรือนจำนวนมาก พิมพ์ดีดมีความสำคัญมากจนกระทั่งเกิดการทำตัวภาษาอังกฤษเป็นภาษาอื่น กรรมวิธีคือคงกลไกเดิมไว้แต่เปลี่ยนก้านและตัวพิมพ์เท่านั้น และมีการดัดแปลงพิมพ์ดีดเหล่านี้ให้เป็น 21 ภาษาในเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก

สิ่งนี้มีกรณีพิเศษด้วย เช่น ดัดแปลงพิมพ์ดีดให้เป็นอุปกรณ์การแปลของนักบินที่อาจจะถูกยิงตก ซึ่งจะสามารถพิมพ์ข้อความเป็นภาษาท้องถิ่นและใช้สื่อสารกับคนท้องถิ่นได้

ทุกวันนี้คีย์บอร์ดหรือแป้นอักษรของพิมพ์ดีดที่เรียกว่าเกษมณี (หรือระบบ ฟ ห ก ด ่ า ส ว) ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2474 ยังคงถูกสืบทอดในคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและอุปกรณ์สื่อสารแบบใหม่ เช่น โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต แม้เครื่องพิมพ์ดีดจะหมดยุคของมันไปแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับอักษรแบบที่พิมพ์ดีดสร้างขึ้นมาก็ยังอยู่อย่างเดิม

สำหรับสังคมที่เทคโนโลยีเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง หรือจักรกลในการขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ตะวันตกจะมีตำนานของเทคโนโลยีที่ดีแต่ไม่เป็นที่ยอมรับเอาไว้เตือนใจตน ตัวอย่างได้แก่ เทประบบเบต้าของโซนี่ ซึ่งเหนือกว่าระบบส่งภาพ-เสียงของโทรทัศน์สีรุ่นแรกๆ ที่เรียกกันว่า VHS แต่ระบบเก่าขายได้ เพราะส่งสัญญาณที่เครื่องรับโทรทัศน์แบบขาว-ดำยังรับได้ เบต้าจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ถ้าถือว่าแป้นพิมพ์ดีดเป็นเทคโนโลยี ตำนานเทคโนโลยีของไทยก็มีลักษณะเดียวกันนี้ ตัวอย่างคือแป้นแบบปัตตะโชติ ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาในปี พ.ศ.2509 และว่ากันว่าดีกว่าแบบเดิมเช่นมี finger load ดีกว่าหรือกระจายการใช้นิ้วไปทั่วทั้งสิบนิ้ว และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น สั่งให้หน่วยงานราชการเปลี่ยนไปใช้ปัตตะโชติ แต่ผลก็คือแป้นแบบนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปและในที่สุดก็ต้องเลิกไป

อันเดอร์วู้ดแชมเปี้ยนที่ผมมีเป็นภาษาไทย ที่แปลกคือการเรียงอักษร ซึ่งไม่ใช่ทั้งแบบเกษมณีและปัตตะโชติ เนื่องจากเครื่องนี้ผลิตในปี พ.ศ.2489 จึงต้องคิดว่าในเวลาไม่นานหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พิมพ์ดีดภาษาไทยมีหลายมาตรฐานในการวางแป้นอักษร

และเครื่องนี้เป็นตัวอย่างหนึ่ง

ผมเริ่มต้นบทความนี้ด้วยความเชื่อที่ว่า พิมพ์ดีดคือความเป็นนักเขียนอาชีพ และถ้าใช้พิมพ์ดีดจะทำให้แลดูเหมือนมืออาชีพจริงๆ

ถ้าจะสืบสาวไป ความเชื่อนี้มีที่มา ในหนังสือ The Iron Whim : A Fragmented History of Typewriting ของ Darren Wershler-Henry ผู้เขียนบอกว่าความเชื่อนี้เป็นมายาคติหรือวาทกรรมของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีที่มาสองอย่าง

ประการแรก อะไรก็ตามที่ถูกพิมพ์ลงไปย่อมจริง และตามคำของผู้เขียนหนังสือ พิมพ์ดีดเป็นสัญลักษณ์ของยุคเก่าที่นักเขียนยังพิมพ์ดีดกลางดึก และสูบบุหรี่-กินเหล้า

พิมพ์ดีดกับนักเขียน

ประการที่สอง อะไรก็ตามที่ถูกพิมพ์ลงไปย่อมมาจากเสียงบอก และคนที่กำลังพิมพ์จะได้ยินเสียงบอกจากที่อื่น อาจจะมาจากคนที่ไม่ได้พิมพ์ นักเขียนที่ไม่ยอมอธิบายว่าเขาได้ความคิด ซึ่งหมายถึงประโยคหรือคำดีๆ มาจากไหน จะบอกง่ายๆ ว่ามาจาก muse หรือเสียงกระซิบที่เขาจะได้ยินเพียงคนเดียว

ฟังดูประหลาดและขัดแย้งกันเองบ้าง แต่ก็เป็นมายาคติที่ยอมรับกันทั่วไป โดยเฉพาะในรูปถ่าย ถ้าเป็นรูปคนนั่งกับโต๊ะที่มีพิมพ์ดีดแถมยังสูบบุหรี่-กินเหล้าด้วย จะบอกว่าคนคนนั้นทำงานอะไร

พิมพ์ดีดมีพิธีกรรม ซึ่งเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แล้วจะเห็นว่าต่างกันในขั้นพื้นฐาน

คือ พิมพ์ดีดไม่มีปุ่มลบหรือ delete และบันทึกหรือ save รวมทั้งยากในการย้ายทั้งย่อหน้าหรือทั้งหน้า (ถ้าพิมพ์ต้นฉบับด้วยพิมพ์ดีดต้องใช้กรรไกรและเทปกาว) แต่มันทำให้ใครก็ได้เป็นนักเขียนที่มีสมาธิและวินัย เพราะการเคาะแต่ละครั้งเหมือนการยิงปืน นั่นคือเปลี่ยนวิถีกระสุนไม่ได้ ถ้าพิมพ์ผิดหรือสะกดผิดจะไม่มีการหยุดแก้ ต้องพิมพ์ต่อไป

นอกจากนั้น พิมพ์ดีดยังมีเสียงดัง สำหรับคอมพิวเตอร์ เราแค่สัมผัสเบาๆ เครื่องก็ทำงาน แต่สำหรับพิมพ์ดีด เราต้องออกแรง ซึ่งเรียกว่าเคาะหรือตอก และส่งเสียงเหมือนข้าวตอกแตก (ซึ่งเป็นวลีที่เราได้ยินบ่อยๆ ในสมัยหนึ่ง) เครื่องจึงจะทำงาน เสียงนี้รวมถึงการใส่กระดาษเข้าเครื่องและรูดออกมา และเสียงดังกริ๊งเมื่อจบบรรทัด

แน่นอน เขียนด้วยคอมพิวเตอร์ย่อมเร็วกว่าพิมพ์ดีด ถ้าถามว่าตอนนี้ใช้อะไร ต้องบอกว่าผมเขียนบทความนี้ด้วยโน้ตบุ๊ก หรือแต่ถ้าเขียนอย่างอื่นเช่นเรื่องที่เป็นส่วนตัวกว่า ผมจะใช้เครื่องมือที่ต่างออกไป

บางทีเขียนไม่ออก จะอุ่นเครื่องด้วยการพิมพ์โน่นนี่หรือสิ่งที่ไม่เป็นภาษา บางทีเขียนได้ลื่นไหล ก็จะพิมพ์เร็วจนแทบเลื่อนบรรทัดไม่ทัน ที่สำคัญคือเสียงกระดิ่งจบบรรทัดและดึงกระดาษออกจากแคร่ เป็นสัญญาณว่ามาผมถึงหลักชัยแล้ว

และต้นฉบับที่ได้ไม่ใช่เพียงถ้อยคำบนจอ แต่จริงกว่านั้น