บทวิเคราะห์ | รู้ทัน “กลฝ่ายค้าน เกมรัฐบาล” กรำศึกแก้ รธน. 2560 ทางใครทางมัน?

เกมการเมืองนอกสภาเข้มข้นอีกครั้ง

หลัง “ผู้นำฝ่ายค้านตัวจริง” ที่ไม่ได้เข้าสภาทั้ง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย หลังสอบตกไม่ได้เป็น ส.ส. เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

และ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุติหน้าที่ ส.ส.ชั่วคราว หลังศาลรับคำร้องปมหุ้นสื่อไว้พิจารณา

จึงทำให้ทั้ง “สุดารัตน์-ธนาธร” ต้องออกมาเป็น “แนวรบนอกสภา” ทำงานคู่ขนานกับ ส.ส.ในสภา กับภารกิจล่าสุดการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

โดย 7 พรรคฝ่ายค้านได้สัญจรลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในแต่ละภาค รวมทั้งเดินสายพบสื่อมวลชนด้วย เพื่อให้ภาคประชาสังคมออกมาให้ความสำคัญ ผ่านการใช้ภาคประชาชนขับเคลื่อนเป็นหลัก

ซึ่งพรรคฝ่ายค้านระบุตรงกันว่า หาก 7 พรรคฝ่ายค้านนำเองก็จะทำให้เกิดกระแสตีกลับต่อต้านขึ้นมา

เพราะการเมืองไทยยังคงเลือกฝั่งเลือกฝ่าย

ทั้งนี้ ท่าทีพรรคหลักอย่างพรรคพลังประชารัฐ

“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรค กล่าวถึงข้อเสนอ 7 พรรคฝ่ายค้านเสนอขอเข้าพบนายกฯ เพื่อหารือและมอบธงการเดินหน้าแก้ไข ให้นายกฯ นำขับเคลื่อน จะเป็นการผูกมัดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ธงดังกล่าวมีกฎหมายรองรับหรือไม่

ถ้าไม่มีกฎหมายรองรับ ก็ไม่น่าจะผูกมัดอะไร

ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเดินสายรณรงค์ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พรรคภูมิใจไทยเน้นเรื่องที่ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร และประเทศชาติได้อะไร

หากเป็นไปตามทั้ง 2 อย่างนี้ พรรคภูมิใจไทยก็ไม่มีปัญหาที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่จะต้องดูเสียงส่วนใหญ่ด้วย ซึ่งไม่ได้กังวลกับเรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวถ่วง ซึ่งก็จะต้องมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ ในช่วงหาเสียงพรรคภูมิใจไทยไม่ได้หาเสียงในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ถ้าแก้ไขแล้วประชาชนได้ประโยชน์ ใครๆ ก็อยากแก้ แต่ถ้าแก้แล้ว ไปเพิ่มอำนาจให้นักการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน เป็นเพียงเพิ่มความสะดวกให้กับนักการเมือง ก็ไม่ต้องกระตือรือร้นที่จะไปทำอย่างนั้น” นายอนุทินกล่าว

ทั้งนี้ “เสี่ยหนู” ได้กล่าวถึงการที่ 7 พรรคฝ่ายค้านขอเข้าพบนายกฯ เพื่อหารือและมอบธงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯ นำขับเคลื่อนว่า นายกฯ ของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายรัฐบาลอย่างเดียว

ฝ่ายค้านก็ถือเป็นผู้แทนของประชาชน ถ้าเขาจะมายื่นก็เป็นสิทธิ์ของเขา

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ที่ตั้งเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ขัดข้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เพราะรัฐบาลเองมีนโยบายอยู่แล้ว แต่จะแก้ประเด็นใด ค่อยมาดูกัน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุยกัน พร้อมฟังเสียงประชาชน

ส่วนการเดินสายของฝ่ายค้านในขณะนี้ ต้องไปดูว่า เขาไปพูดในประเด็นไหน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องพูดให้ชัดว่าแก้ไขประเด็นใด ต้องเห็นพ้องกันถึงจะแก้ได้

ส่วนที่ฝ่ายค้านเสนอมอบธงให้นายกฯ เดินนำแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายนิพนธ์กล่าวว่า ต้องดูเจตนาของฝ่ายค้านด้วยว่าเขาหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือหวังใช้เป็นเงื่อนไขทางการเมือง ไม่สามารถไปให้ความเห็นได้ โดยอยู่ที่เจตนาและพฤติกรรมที่แต่ละคนไปทำ

ซึ่งนโยบายรัฐบาลเขียนชัดเจนอยู่แล้วว่าสนับสนุนการแก้ไขและการศึกษา

โดยแต่ละพรรคได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในสภาแล้ว โดยรอพิจารณาหลังเปิดสภาเท่านั้น

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านได้เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นมาตราแรก เพื่อปลดล็อกให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเฉพาะด่านใหญ่ ส.ว. ที่ต้องใช้เสียง 1 ใน 3 กับขั้นตอนการให้ความเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ซึ่งฝ่ายค้านยอมรับว่าเป็น “งานหิน” ที่ต้องฝ่าไปให้ได้

ซึ่งเรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ทราบดี โดยได้ระบุว่า การที่ฝ่ายค้านต้องการให้แก้มาตรา 256 เพื่อทำให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น ก็ว่ากันไปตามขั้นตอน ทำได้ก็ทำไป ไม่มีปัญหาใดๆ

อีกทั้งไม่รับข้อเสนอของฝ่ายค้านเรื่องการมอบธงให้เดินนำแก้รัฐธรรมนูญเพราะว่าไม่มีธงใดๆ

พร้อมถามกลับว่าสังคมและกลุ่มไหนอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ใช่คนทั้งประเทศหรือไม่

“ผมไม่มีธง ธงของผมคือจะทำอะไรก็ตามต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามขั้นตอนและรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน ถ้าจะแก้ไขก็ต้องทำตามขั้นตอน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

“สังคมไหน ถ้าใครทำได้ก็ไปทำมา ผมคงไม่ไปนำธงอะไรทั้งสิ้น ที่พูดว่าสังคมต้องการ บางครั้งก็ต้องถามกลับว่าเป็นสังคมของกลุ่มไหน หรือประชาชนที่ว่าเป็นประชาชนกลุ่มไหน หรือพรรคการเมืองไหน ใช่คนทั้งประเทศหรือเปล่า ไปหามา”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จึงเกิดคำถามจากคำตอบของนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล ว่าสุดท้ายแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นหรือไม่

หากเกิดขึ้นจะเป็นช่วงเวลาใด และแก้ไขเรื่องใดบ้าง

กับโจทย์สำคัญว่า “พรรครัฐบาล” จะมีทิศทางเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทางใด

บนปัจจัย “เสถียรภาพรัฐบาล” ที่ต้องควบคู่กันไปด้วย จึงต้องจับตาฝ่ายรัฐบาล “จริงจัง” หรือ “ยื้อเวลา” ทำให้ “ธนาธร” ออกมาฟันธงว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าไม่เอาด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น จึงอยากถามไปถึงพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคที่ชูนโยบายหาเสียงให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสามารถผลักดันให้เรื่องนี้เข้าเป็น 1 ใน 12 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้ จะว่าอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป” นายธนาธรกล่าว

ทั้งนี้ ฝ่ายค้านก็ทราบดีถึงข้อจำกัดของตัวเอง ที่ไม่ได้ระบุว่าจะแก้มาตราใดบ้าง นอกจากมาตรา 256 เพื่อปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเกรงว่าจะไม่ได้มาจากเจตนารมณ์ของประชาชน และอาจถูกกระแสตีกลับว่าฝ่ายค้านกำหนดประเด็นไว้แล้วได้

แต่ที่ฝ่ายค้านย้ำชัดเจนคือจะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ที่ต้องออกมาย้ำก็เพราะมีการตีความก่อนหน้านี้ว่าฝ่ายค้านจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จึงทำให้แนวร่วมต่างๆ เริ่มตีตัวออกห่าง โดยเฉพาะพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่เคยออกมาประกาศว่าจะใช้เอกสิทธิ์โหวตสวนกับฝ่ายค้านในบางเรื่อง

ซึ่งมีการคาดว่าอาจมาจากเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

แต่ตอนนี้พรรคเศรษฐกิจใหม่ก็ร่วมลงเรือแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม พรรคฝ่ายค้านได้เปิดเผยถึงโรดแม็ปการรณรงค์การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จากนี้ไปพรรคฝ่ายค้านจะสัญจรจัดเวทีเดือนละ 3-4 เวทีในหลายจังหวัด

โดยพรรคอนาคตใหม่เตรียมทำโพลเกี่ยวกับการรับรู้เรื่องรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างละเอียดราว 6,000 ตัวอย่างในช่วงเดือนตุลาคมนี้

อีกทั้งจะพยายามผลักดันให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ได้ หากสภามีมติตั้ง กมธ.ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเปิดสมัยประชุมต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขมาตรา 256 ในการปลดล็อกการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งระบบ

อย่างไรก็ตาม ก็มีการมองข้ามช็อตรู้ทันทั้ง 2 ฝ่าย

โดยฝ่ายค้านก็หวังปลุกกระแสแก้ไขรัฐธรรมนูญ โยงกับเรื่องปากท้องของประชาชนเพื่อสร้าง “รัฐธรรมนูญที่กินได้” รวมทั้งโยงกับการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านภาพการสืบทอดอำนาจ

โดยชี้ว่ารัฐธรรมนูญ 2560 คือมรดกจาก คสช. ที่ต่างได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา

ฟากฝั่งฝ่ายรัฐบาลก็แก้เกมโต้ฝ่ายค้านว่าการเดินสายรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการปลุกระดมทางการเมืองหรือไม่

พร้อมชี้ว่าหลายพรรคการเมืองได้เข้าสภาก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งฝ่ายค้านก็หวั่นเกรงเรื่องนี้มาก จึงพยายามย้ำว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นที่ระบายความอึดอัด มากกว่านำคนออกมาขับไล่ เพื่อไม่ให้มีการนองเลือด ซึ่งเกรงว่าจะไปเข้าทางใครด้วย

จึงต้องจับตาต่อไปว่าฝ่ายค้านจะจัดระบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างไร ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญและให้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด

ที่สำคัญคือการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า นี่คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง