ประชา สุวีรานนท์ : ‘Inside Out’ อารมณ์กับเหตุผล

ใน Inside Out อารมณ์ 5 อย่าง จะมาในรูปของตัวละครต่างๆ คือ ลั้ลลา เศร้าซึม หยะแหยง ขี้กลัว และขี้โมโห (Joy, Sadness, Disgust, Fear และ Anger) ไอเดียคือพฤติกรรมของคนเราถูกควบคุมโดยคนตัวเล็กๆ ทั้งห้า ซึ่งอยู่ในยานอวกาศ คอยคุมแผงบังคับการ หรือสังเกตสิ่งต่างๆ ผ่านจอขนาดยักษ์

ไม่ใช่ของใหม่ มีที่มาจาก Reason and Emotion ซึ่งเป็นหนังการ์ตูนของดิสนีย์เช่นกัน ผู้เขียนจำได้ว่าเคยดูในรายการดิสนีย์แลนด์แดนหรรษา ซึ่งฉายทางโทรทัศน์เมื่อหลายสิบปีก่อน

ในสมองของมนุษย์จะมีคนตัวเล็กๆ สองคน คนหนึ่งคือเหตุผล อีกคนหนึ่งคืออารมณ์

คนแรกแต่งตัวเรียบร้อยเหมือนคนทำงานออฟฟิศยุคนั้นคือสวมสูทและใส่แว่นตา และเป็นผู้นําทางความคิดหรือคุมพวงมาลัย

ส่วนคนหลังจะไว้ผมยาวรุงรัง แต่งตัวเหมือนมนุษย์ถ้ำ ซึ่งบอกบุคลิกที่ตรงข้ามกัน คือ ดิบ เถื่อน และเอาแต่ใจตนเอง

ทั้งสองจะเป็นผู้ที่ควบคุมการตัดสินใจ ไม่ว่าเราจะทำอะไร กินอะไร คบกับใคร

เรียกว่าชิงดีชิงเด่นกันมาตั้งแต่เรายังแบเบาะ

ฉากที่สนุกคือเมื่อทารกต้องตัดสินใจว่าจะคลานลงบันไดหรือไม่

เหตุผลบอกว่าไม่

แต่อารมณ์บอกว่าเอาเลย และเข้ายึดพวงมาลัยไว้ได้

ซึ่งผลก็คือตกลงมากลิ้งกับพื้น

เมื่อเด็กคนนั้นโตขึ้น อารมณ์ก็ยังถึกกว่าเหตุผล

พอเห็นสาวสวยเดินมาก็กรากเข้าไปจีบเอาดื้อๆ และผลคือถูกตบหน้า

ในฉากต่อมา เราจะเห็นคนที่กุมพวงมาลัยของผู้หญิง เหตุผลผู้แต่งตัวเหมือนครูแก่ๆ และอารมณ์ผู้แต่งตัวตรงกันข้าม เหตุผลเชื่อว่าเธอทำถูกแล้วที่ตบผู้ชาย แต่อารมณ์ไม่เห็นด้วย จากนั้นจึงประชดด้วยการกิน

ในขณะที่เหตุผลทำท่าตกใจ ป้ายคำว่ารูปร่าง และตารางบอกสัดส่วนกับน้ำหนักก็จะปลิวว่อนไปทั่ว


Reason and Emotion คือจิตวิทยาหรือ neurosciences ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ออกมาในปี ค.ศ.1943

จุดเด่นของหนังคือสอนให้คนสู้กับอารมณ์ด้วยการ “ข่ม” มันลงไป

การแบ่งจิตใจออกเป็นสองฝ่าย “คู่ตรงข้าม” อย่างเด็ดขาด เช่น ดี/เลว เสรีภาพ/คอมมิวนิสต์ และเชื่อฟัง/กบฏ สะท้อนการแบ่งค่ายในสงคราม และเอาคุณค่าทางจริยธรรมแบบนั้นมากำหนด

นี่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ เพราะไม่เพียงให้ความรักชาติแบบอเมริกันอยู่ด้านเหตุผล บอกด้วยว่าความรักชาติแบบเยอรมัน หรือการที่ฮิตเลอร์ครองอำนาจ ก็ทำได้ด้วยการปลุกอารมณ์ของประชาชนขึ้นมา ซึ่งก็คือการเอาอารมณ์โกรธและกลัวมาบิดเบือนให้กลายเป็นเหตุผลนั่นเอง

ผู้กำกับฯ ชื่อ พีท ดอกเตอร์ ก็ยอมรับว่าเคยดูและใช้เป็นจุดเริ่มต้นของ Inside Out

อันที่จริง สืบย้อนไปได้ถึงความเชื่อทางศาสนาในสมัยก่อน ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ถูกควบคุมด้วยเทพตัวเล็กๆ ซึ่งเกาะอยู่ที่หัวไหล่สองข้าง (และทำให้มีอีกชื่อว่า shoulder angels) และคอยให้คำแนะนำหรือยุยงให้เราตัดสินใจทำอะไรต่ออะไรอยู่เสมอ

คนที่ดี เช่น รับผิดชอบต่อหน้าที่ ทำเพราะฟังฝ่ายเทพ

แต่คนที่ไม่ดี เช่น งอแงอยู่เสมอนั้น ทำเพราะเชื่อฝ่ายมาร

ในยุคต่อมา อารมณ์ถูกถ่ายทอดเป็นการ์ตูนและภาพยนตร์อีกหลายเรื่องในลักษณะเดียวกัน คือให้เป็นตัวร้าย เช่น สัตว์ป่าหรือเชื้อโรค ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้และอาจจะทำให้ถึงขนาดกลายเป็นบ้า

ถ้าความสุข ก็คือสามารถรับรู้และเข้าใจอารมณ์ทั้งของตัวเองและผู้อื่น ตลอดจนปรับสมดุลได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ ก็เท่ากับยอมรับว่าอารมณ์สำคัญต่อมนุษย์

ในวิชาจิตวิทยา การเชื่อว่า EQ สำคัญเท่า IQ เป็นตัวอย่างหนึ่ง

คนที่มีไอคิวสูงอาจจะทำได้แค่ประสบความสำเร็จในทางการงานแต่ถ้ามีอีคิวสูงด้วยจะดีกว่า เพราะสามารถแก้ปัญหาได้ดีทั้งในการงาน ชีวิต และสังคม

Inside Out เป็นจิตวิทยาสมัยใหม่ พลิกมุมมองเกี่ยวกับอารมณ์เป็นตรงกันข้าม

เช่น แม้เราอยากจะมีแต่ความลั้ลลา แต่ก็ต้องยอมรับอารมณ์อื่นๆ ซึ่งอาจจะแลดูไม่น่าไว้ใจด้วย

หนังจะบอกว่าทุกตัวทำให้เรารู้จักปรับตัวและเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น

เช่น กลัวทำให้หนีเอาตัวรอด โกรธทำให้คิดหาทางออก และหยะแหยงทำให้ละเว้นสิ่งที่มีพิษภัย เศร้าซึมคือการยอมรับว่าต้องร้องไห้เสียบ้าง ซึ่งจะทำให้ใจเย็นลงและกล้าจะเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ได้

เราต้องยอมรับอารมณ์อื่นๆ ซึ่งอาจจะแลดูไม่น่าไว้ใจ เช่น หยะแหยง โกรธและกลัวด้วย ลั้ลลาเริ่มเข้าใจว่าเธอต้องพึ่งพาคนอื่นๆ เช่น เศร้าซึม ซึ่งเป็นเด็กผู้หญิงร่างอ้วน ใส่แว่นตา เดินโซเซ แถมยังล้มตัวลงนอนได้ตลอดเวลา

เช่น เศร้าซึมทำให้ไรลี่เข้มแข็งขึ้นด้วยการร้องไห้ ที่สำคัญ ถ้าไม่นับว่าเป็นเหตุทำให้คนอื่นๆ เข้ามาช่วย อีกทั้งทำให้ลูกบอลแห่งความทรงจำคงทนกว่าเดิม

เธอชี้ให้เห็นด้วยว่าลั้นลาก็เป็นอารมณ์แบบหนึ่ง ซึ่งแม้จะหวังดีแบบพ่อแม่ทั่วไป คืออยากให้เด็กมีแต่ความสุข ก็ผิดพลาดตรงที่คิดว่าตนเองถูกไปหมด

ดังนั้น เราจึงควรต้อนรับอารมณ์อื่นๆ อย่างเพื่อน ไม่ใช่ไปข่มขู่หรือขีดเส้นให้มันอยู่ภายนอกสำนึกของเขา

Inside Out ไม่ได้สอนเพียงเรื่องง่ายๆ เช่น อารมณ์ไหนเหมาะกับสีอะไร? แต่เรื่องใหญ่ๆ ด้วย

เช่น อธิบายว่า ความขัดแย้งและตึงเครียดทางอารมณ์กำหนดเราได้แค่ไหน และจะส่งผลต่อความทรงจำอย่างไร รวมทั้งมองว่าจิตใจของมนุษย์ไม่ได้มีเพียงสองขั้ว และถูกชี้นำด้วยความหลากหลาย ไม่ใช่หนึ่งเดียว ที่สำคัญ ต้องเกิดจากความ “ปรองดอง” มากกว่าควบคุม

พูดอีกอย่าง จะรักษาสมดุลไว้ได้ ต้องมีประชาธิปไตยมากกว่าเดิม

หนังไม่ได้แตกต่างจาก Reason and Emotion มากเพราะยังตอกย้ำคติเดิมที่ว่า

“จงฟังเสียงในสำนึกของเรา” แต่วันนี้ เสียงดังกล่าวไม่ได้มาจากอารมณ์เดียว แต่มีจำนวนมากมายและกำลังตะเบ็งเสียงกันเซ็งแซ่ ซึ่งต้องฟังอย่างตั้งใจ จึงจะพบข้อคิดดีๆ

นั่นคือ ต้องมีอารมณ์ที่ครบถ้วน ไรลี่จึงจะพัฒนาต่อไปได้