จรัญ มะลูลีม : ท่าที “จีน” ต่อข้อพิพาทแคชเมียร์

จรัญ มะลูลีม

แคชเมียร์ความขัดแย้งที่ถูกลืม (3)

ความขัดแย้งในแคชเมียร์เป็นปัญหาเก่าแก่ที่ยังแก้ไขไม่ได้ และเรื่องราวการแก้ไขปัญหาแคชเมียร์ก็ยังคงคาราคาซังอยู่ที่สหประชาชาติ

จนถึงบัดนี้องค์การระหว่างประเทศก็ยังคงปฏิเสธที่จะให้การยอมรับอธิปไตยของอินเดียเหนือรัฐจัมมู แคชเมียร์ รวมทั้งไม่ยอมรับข้ออ้างที่ว่าส่วนหนึ่งของแคชเมียร์อยู่ใต้การปกครองของปากีสถาน

อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาจากประชาคมระหว่างประเทศก็ค่อนข้างจะเงียบเชียบไป แต่ก็มีการเรียกร้องให้มีความอดกลั้นในภูมิภาค

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐได้กล่าวในวันที่ 5 สิงหาคม (2019) ว่าสหรัฐสนับสนุนอินเดียให้มีการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับผลกระทบกับการตัดสินใจดังกล่าว

พร้อมกับกล่าวว่าเรื่องแคชเมียร์นั้นอินเดียถือเป็นเรื่องภายในของอินเดียเอง แต่สหรัฐมีความเป็นห่วงใน “รายงานเรื่องการคุมขัง พร้อมสนับสนุนให้มีการเคารพสิทธิส่วนบุคคลของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ”

ประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งเคยเสนอตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยมาก่อนไม่ได้พูดถึงประเด็นนี้แต่อย่างใด

ปฏิกิริยาที่รุนแรงที่สุดนั้นมาจากปากีสถาน ซึ่งตอบโต้การประกาศแต่ฝ่ายเดียวของอินเดีย ซึ่งเท่ากับเปลี่ยนแปลงสถานะที่มีอยู่ของชาวแคชเมียร์ที่เป็นมติของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

และเนื่องจากเป็นคู่กรณีในความขัดแย้งภายในประเทศ ปากีสถานก็จะกระทำทุกอย่างเพื่อเผชิญกับก้าวย่างที่ผิดกฎหมายของอินเดีย

รัฐบาลปากีสถานได้ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอินเดียลงด้วยการขับทูตอินเดียออกนอกประเทศและยกเลิกความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีกับอินเดีย

พร้อมกับย้ำว่าจะปิดน่านฟ้าสำหรับเครื่องบินอินเดียอีกครั้ง และยกเลิกรถไฟสายด่วนซามญ์เฮาตา (Samjhauta) ลง

เขาเตือนอินเดียว่าสงครามอาจเกิดขึ้นได้และสงครามในภูมิภาคระหว่างสองมหาอำนาจนิวเคลียร์จะส่งผลที่เลวร้ายที่สุดต่อโลก

พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า เขาได้ขอให้ทรัมป์เข้ามาดูความขัดแย้งในแคชเมียร์ เนื่องจากอินเดียประสบความล้มเหลวต่อการขานรับการเจรจาอีกครั้ง

 

จีนคิดอย่างไร

กระทรวงต่างประเทศของจีนเองก็ปฏิเสธการตัดสินใจของอินเดียที่ประกาศให้ลาดักห์ (Ladakh) เป็นรัฐสหพันธ์ (Union Territoy) ที่ต้องขึ้นอยู่กับระเบียบและกฎหมายของอินเดีย

ทั้งนี้ ดินแดนพิพาทอัคไซ ชิน (Aksai Chin) ที่จีนมีข้อพิพาทกับอินเดียนั้นส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายบริหารของลาดักห์เช่นกัน

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนกล่าวว่า อินเดียยังคงละเลยอธิปไตยแห่งดินแดนของจีนด้วยการประกาศเปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในประเทศแต่ฝ่ายเดียว

ด้วยเหตุนี้สำหรับจีนแล้วปฏิกิริยาของอินเดีย จึงไม่อาจยอมรับได้และจีนก็กังวลเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

พร้อมกล่าวต่อไปว่าตำแหน่งของจีนที่มีต่อประเด็นแคชเมียร์ “มีความสองคล้องและกระจ่างชัด” ยึดโยงอยู่กับข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ

ปัญหาแคชเมียร์จึงเป็น “ประเด็นที่ตกค้างมาจากประวัติศาสตร์” ซึ่งควรจะแก้ไขผ่านการสานเสวนาและการปรึกษาร่วมกัน

ชาห์บาส ชารีฟ (Shahbaz Sharif) ผู้นำฝ่ายค้านของปากีสถานกล่าวว่า หากจะมีข้อสังเกตใดๆ สำหรับปากีสถานจากจุดยืนของจีนผู้เป็นมิตรสนิทของปากีสถานแล้วก็จะพบว่าจีนก็ไม่ได้ออกมาสนับสนุนปากีสถานอย่างเปิดเผยแต่อย่างใด หลังจากอินเดียประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษของชาวแคชเมียร์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากความเป็นจริงในพื้นที่ของเอเชียใต้

เขาเรียกข้อเสนอที่ทรัมป์จะเข้ามาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในแคชเมียร์ว่าเป็นกับดักมากกว่าจะเป็น ความพยายามในการแก้ไขข้อพิพาทของทรัมป์ อย่างที่รัฐบาลปากีสถานอ้างถึง

 

เรซา รอบบานีย์ (Reza Rabbani) ประธานวุฒิสภาและผู้นำฝ่ายค้านอาวุโสของปากีสถาน ขอให้รัฐบาลออกห่างจากสหรัฐและกล่าวว่ามี “การเชื่อมต่อ” ระหว่างสหรัฐอิสราเอลและอินเดีย

ปากีสถานเคยประกาศว่าจะนำเอาประเด็นเรื่องเขตปกครองพิเศษเข้าสู่คณะมนตรีถาวรสหประชาชาติ
ในปี 1948 คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติกำหนดให้มีการลงความเห็นเรื่องแคชเมียร์ เยาวหราล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ก็ให้สัญญาเช่นนั้น

แต่สัญญาดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ โดยในเวลานั้นปากีสถานกับสหรัฐเป็นพันธมิตรทางทหารที่เข้มแข็ง ส่วนอินเดียในเวลานั้นยืนหยัดเคียงคู่กับสหภาพโซเวียต

อินเดียกับปากีสถานต่อสู้กันมาแล้วในสี่สงคราม และอารมณ์ที่มีอยู่ในปากีสถานในเวลานี้ก็คือความโกรธเคืองสะสมที่มีต่ออินเดีย

 

ฟาวาด เชาว์ดรี (Fawad Chaudhry) รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยืนยันว่าอินเดียเป็นประเทศ “ฟาสซิสต์” และกล่าวว่า ปากีสถานยังไม่ได้พูดถึงการทำสงครามอีกครั้งอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในพื้นที่ แต่ “ปากีสถานจะต้องไม่ปล่อยให้แคชเมียร์กลายเป็นปาเลสไตน์อีกแห่ง” เขากล่าวโดยย้ำว่า

“เราต้องเลือกระหว่างความไร้เกียรติและสงคราม” อย่างไรก็ตาม มีชาวปากีสถานไม่กี่คนที่ต้องการมีสงครามอีก ในเวลานี้ทั้งสองประเทศต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์ หากเกิดสงครามอย่างเต็มรูปแบบก็จะเป็นเรื่องที่ไม่อาจคาดคิดได้ท่ามกลางโวหารจากชายแดนของทั้งสองประเทศ

ในวันที่ 8 เดือนธันวาคม 2019 ชาฮ์ มะห์มูด กุเรชี (Shah Muhamd Dureshi) รัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถานกล่าวว่า ปากีสถานไม่ได้มองหาสงครามมาเป็นข้อเลือก

แต่ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่าปากีสถานมีสิทธิที่จะตอบโต้ในทุกๆ กรณีที่มีการรุกราน