เศรษฐกิจ / จับตาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน วัดกำลังชักเย่อ ‘รบ.ตู่’ – ‘ซีพี’ ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยไปหรือฟุบต่อ

เศรษฐกิจ

 

จับตาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

วัดกำลังชักเย่อ ‘รบ.ตู่’ – ‘ซีพี’

ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทยไปหรือฟุบต่อ

 

ความหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยช่วงโค้งสุดท้ายของปีต่อเนื่องปี 2563 จากกลไกด้านการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนจากต่างชาติในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 3 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ถูกจับจ้อง

เพราะเครื่องมืออย่างการส่งออกแทบสิ้นหวังเมื่อต้องเผชิญกับมหาสงครามการค้า (เทรดวอร์) ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงวันนี้คาดเดาไม่ได้ว่าจะดีหรือแย่ จนประเมินว่าส่งออกปีนี้ติดลบแน่ จะมากหรือน้อยเท่านั้น กอปรกับสถานการณ์ค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่ายืนหนึ่งในภูมิภาค ยิ่งซ้ำเติมการส่งออก

อีอีซีถูกกำหนดโดยรัฐบาล “ลุงตู่” ให้เป็นพื้นที่ลงทุนสำคัญ รองรับนักลงทุนที่กำลังมองหาพื้นที่ลงทุนใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากเทรดวอร์ ซึ่งไทยต้องการดึงบริษัทลงทุนดังกล่าว จึงออกแพ็กเกจไทยแลนด์ พลัส ออกมารองรับในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

มี 5 โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ วงเงินลงทุนรวม 6.5 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ล่าสุดเริ่มมีบางโครงการขยับเขยื้อน

 

หนึ่งในนั้นคือ โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) สำเร็จลุล่วงมีการลงนามสัญญาเรียบร้อย ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กับบริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด) ที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการ

รองนายกฯ สมคิดระบุถึงโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 มูลค่า 7.49 หมื่นล้านบาท ว่า ถือเป็นโครงการแรกในการเซ็นสัญญาร่วมทุนจาก 5 โครงสร้างพื้นฐานหลักในเขตอีอีซี ที่รัฐบาลเดินหน้ามาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา มั่นใจว่าจะเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี

“หลังจากนี้ มีโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน ประกอบด้วย ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา จะสามารถลงนามกับกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ได้ก่อนวันที่ 15 ตุลาคมนี้”

 

เดิมโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 ช่วงที่ 1 กำหนดลงนามสัญญากลางเดือนตุลาคมนี้ แต่มีการเลื่อนเซ็นโครงการนี้เร็วขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน น่าจะเป็นเหตุเกี่ยวเนื่องกับ “โรคเลื่อน” ของโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท ได้ผู้ชนะการประมูลมาตั้งแต่ปลายปี 2561 กำหนดลงนามสัญญากับรัฐบาลภายในเดือนมกราคม 2562 แต่ก็มีเหตุยึกยักจนถึงตอนนี้ยังไม่สามารถลงนามได้ กดดันบรรยากาศความเชื่อมั่นการลงทุนอีอีซีถดถอยลงทุกวัน

ปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่โครงการไฮสปีดแต่ยังสปีดไม่ได้สักที ก็คือรายละเอียดของสัญญาแนบท้ายที่ยิบย่อยซึ่งมีความสำคัญทั้งต่อรัฐเอง และเอกชนผู้ชนะการประมูล จึงเริ่มเกิดกระแสข่าว “ล่ม” เป็นระยะๆ เพราะเจรจาหลายยกแต่ไม่มีข้อยุติเกิดขึ้นเลย

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ติดตามความคืบหน้าของโครงการนี้ ทุบโต๊ะเป็นคำขาดให้กลุ่มซีพีต้องลงนามสัญญาให้ได้ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

 

ส่วนปัญหาสัญญาแนบท้าย โดยฉพาะประเด็นการส่งมอบพื้นที่ที่ซีพีต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ส่งมอบ 100% หรือ 3,500 ไร่ จบลงด้วยการกำหนดให้กลุ่มซีพีส่งมอบที่ดินให้กับภาคเอกชนภายหลังการเซ็นสัญญาทันที 3,000 ไร่ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าข้อกำหนดในเอกสารข้อกำหนดโครงการ (RFP) ที่กำหนดว่าจะต้องส่งมอบพื้นที่ในวันเซ็นสัญญาไม่น้อยกว่า 50% ของพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด ส่วนพื้นที่ที่ยังส่งมอบไม่ได้อีก 30% ร.ฟ.ท.จะส่งมอบให้กับเอกชนภายใน 1-1 ปีครึ่ง

“ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.มีความกังวลในการส่งมอบพื้นที่ เพราะเป็นพื้นที่ ร.ฟ.ท. 78% และอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น 12% นายกรัฐมนตรีจึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน รื้อย้ายสาธารณูปโภคทั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง สายโทรศัพท์ ท่อส่งน้ำมัน ท่อประปา ฯลฯ ในเส้นทางก่อสร้าง โดยให้ทำแผนรื้อย้ายสาธารณูปโภคร่วมกันให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญากับภาคเอกชน” หนึ่งในผู้เข้าประชุม กพอ.ระบุ

ด้านศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ร.ฟ.ท.เตรียมส่งหนังสือสรุปข้อมูลการเจรจาเพื่อกำหนดนัดวันลงนามวันที่ 15 ตุลาคม แต่หากกลุ่มซีพีไม่มาลงนาม ตามข้อกำหนดใน RFP จะถูกริบเงินประกันซองมูลค่า 2 พันล้านบาท และถูกขึ้นบัญชีดำผู้ทิ้งงานของภาครัฐ (แบล็กลิสต์) หลังจากนั้นจึงจะเชิญเอกชนรายที่ 2 คือ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มาเจราจาแทน

ส่วนกลุ่มซีพีจะเซ็นตามเวลาที่ภาครัฐกำหนดหรือไม่ ยังต้องลุ้นกันต่อ!!

 

ด้านโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาท ใกล้ได้ผู้ชนะเต็มที จากคู่ชิง กลุ่มกิจการร่วมค้า บีบีเอส นำโดย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, บมจ.การบินกรุงเทพ และ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น และกลุ่มแกรนด์คอร์โซเตียม นำโดย บมจ.แกรนด์แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ และมี บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น กับ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น คาดว่าจะลงนามเดือนตุลาคมนี้

ขณะที่โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่า 8.4 หมื่นล้านบาท กลับมาลุ้นอีกครั้ง หลังศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กิจการร่วมค้าเอ็นพีซี (ประกอบด้วย บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮิลลิ่ง จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) สามารถกลับเข้าร่วมการประมูลโครงการ

ทำให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาของกิจการร่วมค้า จีพีซี (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หรือกลุ่ม ปตท. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และ China Harbour Engineering Company Limited ต้องกลับมาพิจารณาซองของเอ็นซีพีด้วย

คาดว่าจะได้ผู้ชนะประมูลเร็วๆ นี้ และโครงการสุดท้าย ศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ถูกกำหนดเป็นโครงการสุดท้ายที่จะลงนามสัญญา

   ชื่อ “อีอีซี” กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้ง ด้วยความคาดหวังของรัฐบาลที่จะช่วยสร้างบรรยากาศลงทุนดันเศรษฐกิจไทยสดใสอีกครั้ง หากว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ค้างเติ่งไม่เจอโรคเลื่อนอีก…