บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ /’ดราม่า’ น้ำท่วมอุบลฯ ‘จองจำ’ ด้วย ‘อารมณ์การเมือง’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘ดราม่า’ น้ำท่วมอุบลฯ

‘จองจำ’ ด้วย ‘อารมณ์การเมือง’

นํ้าท่วมเป็นเรื่องปกติของทุกปี เพราะว่าเกือบทั่วประเทศโดนกันหมดเมื่อเข้าหน้าฝน

แต่สำหรับปีนี้ต่างออกไป เพราะดูเหมือนจะเกิด “ดราม่า” หนักและใหญ่ที่อุบลราชธานี ทั้งที่หลายจังหวัดในภาคอีสานและภาคอื่นก็ถูกท่วมเช่นกัน

เหตุที่เกิดดราม่า ส่วนหนึ่งก็เพราะอุบลฯ ท่วมหนักในรอบเกือบ 20 ปี เนื่องจากลักษณะทางกายภาพเป็นแอ่งรับน้ำจากแม่น้ำชีและมูลที่ไหลมาบรรจบกัน ประกอบกับมีพายุเข้ามาหลายลูก

เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดเสียงโวยวายจากชาวบ้านว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ทำงานชักช้า ช่วยเหลือไม่ทั่วถึง

แต่ดูเหมือนว่าดราม่าใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เป็นเพราะแรงของ “อารมณ์” ทางการเมืองเข้ามาผสมอยู่มาก

เพราะอุบลฯ เกือบทุกเขตเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย

เมื่อเป็นพื้นที่ของเพื่อไทย ก็ย่อมหมายถึงฐานเสียงส่วนใหญ่เป็นคนสีหนึ่งชัดเจนอยู่แล้ว

ทำให้เมื่อเกิดปัญหาสักอย่างขึ้นเช่นน้ำท่วมในครั้งนี้ จะมีคนบางกลุ่มนำการเมืองเข้ามาผสม ใส่สีตีไข่โจมตีรัฐบาลแบบเกินจริง

และโยงทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมดเพื่อจะตั้งข้อหาว่ารัฐบาลทอดทิ้ง

 

ยิ่งมีกรณีคนดังอย่างบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ เปิดรับบริจาคเงินไปช่วยเหลือชาวอุบลฯ

ซึ่งปรากฏว่ามีคนศรัทธาบริจาคหลายร้อยล้านบาท ก็ยิ่งทำให้คนบางกลุ่มฉวยโอกาสนี้โหนกระแสบิณฑ์เพื่อโจมตีรัฐบาล

ทั้งที่เดิมคนกลุ่มนี้เคยโจมตีบิณฑ์ช่วงใกล้เลือกตั้งเมื่อเขาโพสต์ข้อความว่าจะเลือกใคร ซึ่งในตอนนั้นบิณฑ์โพสต์ว่า “ถามผมจังว่าผมจะเลือกใคร…ส่วนตัวผมนะครับ ลุงตู่คนเดียวครับในหัวใจ บ้านผมทุกคนเลือกลุงครับ”

จากนั้นก็พากันยกย่องบิณฑ์ว่าทำงานมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาล

แล้วกระแสก็ไหลไปตามนั้น กระทั่งทำให้ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย

โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้ติดตามข่าวมาแต่ต้น เพิ่งมาสนใจตอนที่มีข่าวบิณฑ์เปิดรับบริจาค ก็จะเชื่อตามนั้นทั้งหมด

ยิ่งเมื่อมีแฟนเพจ “ประเทศกูมี” ซึ่งรู้กันว่าเป็นฝ่ายแอนตี้รัฐบาลได้โพสต์คลิปหญิงชาวอุบลฯ คนหนึ่งร้องไห้อ้างว่าไม่มีข้าวกิน ถูกหน่วยงานรัฐทอดทิ้ง ก็ยิ่งโหมกระพืออารมณ์ของสังคม โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่ชอบรัฐบาลอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมามีอีกเพจออกมาแฉว่าป้าคนดังกล่าวได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐมาก่อนหน้านี้แล้ว

อีกอย่างป้าไม่ใช่คนอดอยาก เพราะเป็นเจ้าของร้านอาหารหรูหรา

แถมแฉอีกว่า ปกติป้าก็มักจะด่ารัฐบาลประยุทธ์อยู่แล้ว

 

หลังจากเพลี่ยงพล้ำให้กับกระแสของบิณฑ์ในที่สุดรัฐบาลก็จัดรายการเปิดรับบริจาคช่วยน้ำท่วม

ซึ่งมาถึงตอนนี้ ดราม่าก็ยังขยายต่อไป เช่น เวฟ สาริน บางยี่ขัน (ดาราชาย) โพสต์ว่า ทำไมรัฐบาลต้องมาขอบริจาค คลังไม่มีเงินเหรอ หรือว่าแจกให้คนเที่ยวหมด…งง”

ซึ่งข้อความนี้ตั้งใจแซะรัฐบาลที่มีมาตรการแจกเงินคนละ 1,000 บาทให้คนไปเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ซึ่งเป็นการแจกแบบมีเงื่อนไขและไม่ได้แจกเป็นเงินสด)

อันที่จริงการเปิดรับบริจาคช่วยน้ำท่วมดำเนินการมาทุกรัฐบาล เพื่อเป็นช่องทางหรือศูนย์กลางให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะเอกชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ

แต่เชื่อเถอะว่า ถ้ารัฐบาลนี้ไม่เปิดรับบริจาคก็จะถูกตั้งคำถามอีกว่าทำไมไม่เปิดรับบริจาคเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ

 

การถูก “จองจำ” ด้วยอารมณ์ทางการเมืองมากเกินไป

ทำให้คนเราเกิดอคติสุดขั้วจนขาดเหตุผล แยกแยะอะไรไม่เป็นอีกด้วย

อย่างเช่นนักวิชาการอิสระหญิงคนหนึ่งที่มีการศึกษาสูง จบเมืองนอกเมืองนา แต่ดันไปโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนโทรศัพท์ไปด่า พล.อ.ประยุทธ์ในรายการเปิดรับบริจาคที่นายกฯ จะมารับสายด้วยตัวเอง

กระทั่งเธอถูกโจมตีอย่างหนักว่าใช้อะไรคิดถึงได้โพสต์แบบนี้ แม้จะอ้างว่าแค่ประชดก็ตาม

บทบาทของบิณฑ์ในการนำเงินสดไปแจกชาวบ้านเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แน่นอนว่าน่ายกย่อง

แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าสถานะของบิณฑ์ที่เป็นปัจเจกบุคคล ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบกฎหมายใดเรื่องการเบิกจ่าย การนำเงินสดไปแจกชาวบ้านย่อมทำได้เร็วและคล่องตัวกว่ารัฐบาล

ส่วนรัฐบาลทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะถ้าไม่รอบคอบอาจทำผิดกฎหมายและติดคุกภายหลังได้ มีความเสี่ยงสูง ที่สำคัญอาจถูกครหาเลือกที่รักมักที่ชัง ทำไมแจกเงินแค่จังหวัดนี้ พื้นที่นี้ พื้นที่ไหนไม่ได้รับก็จะเกิดการเรียกร้องไม่มีที่สิ้นสุดหากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขในการแจกให้รัดกุม

การปล่อยให้บิณฑ์แจกเงินสดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบนั้นก็ถูกต้องแล้ว หากคิดกลับกัน ถ้าวันนี้บิณฑ์อยู่ในสถานะนายกฯ ก็คงไม่สามารถแจกเงินสดได้รวดเร็วแบบนี้ ดังนั้น ก็ไม่แปลกที่จะเกิดการเปรียบเทียบว่าบิณฑ์ทำงานมีประสิทธิภาพกว่ารัฐบาล แต่จะเป็นการเปรียบเทียบที่ยุติธรรม สมเหตุผลหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ประเด็นหนึ่งที่นายกฯ ถูกโจมตีมากก็คือ ไม่ขึ้นไปอุบลฯ ที่น้ำกำลังท่วม แต่ดันลงภาคใต้แล้วยังไปพบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกลุ่ม กปปส. ซึ่งความจริงแล้วนายกฯ ได้ลงพื้นที่อุบลฯ ตรวจสถานการณ์ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 กันยายน และได้สั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมช่วยเหลือชาวบ้าน ก่อนจะเดินทางไปภาคใต้เพื่อดูความคืบหน้าแผนป้องกันน้ำท่วมในวันที่ 13 กันยายน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารและส่วนราชการท้องถิ่นคือกลุ่มแรกที่ลงพื้นที่ไปช่วยชาวบ้าน เพียงแต่ไม่ได้รับความสนใจเป็นกระแสข่าวโด่งดังเหมือนบิณฑ์

เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ การลงหรือไม่ลงพื้นที่ของนายกฯ ก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงว่าควรทำหรือไม่

เพราะมุมหนึ่งก็มองว่าคนใหญ่คนโตควรงดเว้นการลงพื้นที่เพราะจะเป็นอุปสรรคการทำงานของฝ่ายปฏิบัติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องเอาเวลาไปจัดเตรียมต้อนรับนายกฯ กลายเป็นภาระ แถมยังเสี่ยงจะถูกด่าว่าสร้างภาพ ถ่ายภาพเสร็จก็กลับ

สาเหตุหนึ่งที่นายกฯ ยังไม่ลงพื้นที่อุบลฯ อาจเชื่อคำแนะนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 12 กันยายน ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่หรือผู้บังคับบัญชางดเว้นหรือลดการลงพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีเวลาช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ ผู้บังคับบัญชาสามารถสนับสนุนการทำงาน ด้วยการสั่งการ หรืออนุมัติเรื่องต่างๆ ได้อยู่แล้ว

แต่การไม่ลงพื้นที่กลับเป็นโอกาสของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลโจมตีว่าไม่สนใจไยดีชาวบ้าน มัวแต่ไปพบนายสุเทพ หรือแม้กระทั่งอ้างไปไกลว่าไม่ระดมสรรพกำลังทั้งประเทศมาช่วยเหมือนกรณี 13 หมูป่า

กระทั่งวันที่ 19 กันยายน นายกฯ ลงพื้นที่อุบลฯ รอบ 2 ก็ยังไม่วายเกิดกระแสโจมตีว่าเจ้าหน้าที่ไปไล่ชาวบ้านรื้อเพิงพักข้างถนน (ที่พักชั่วคราวหนีน้ำท่วม) ออกไปเพื่อเปิดทางให้ขบวนรถนายกฯ ผ่าน

 

ปัญหาภัยธรรมชาติโดยเฉพาะน้ำท่วมเป็นปัญหา “ปราบเซียน” สำหรับเกือบทุกรัฐบาลทั่วโลก และไม่มีทางจะสร้างความพอใจให้กับประชาชน เพราะบางครั้งก็สุดวิสัย ขณะเดียวกันกรณีของอุบลฯ ในอีกมิติหนึ่งก็เกี่ยวข้องกับชาวบ้าน อย่างที่นายอภิชัย จำปานิล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์ว่าได้แจ้งเตือนชาวบ้านล่วงหน้าแล้ว แต่เพราะเหตุการณ์เช่นนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อย จึงทำให้ประชาชนบางส่วนไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร บางส่วนยังอาศัยอยู่ในบ้าน เมื่อระดับน้ำสูงขึ้นก็ทำให้การอพยพทำได้ลำบาก

สภาพปัญหาที่นายอภิชัยระบุมานั้นก็คงจะจริง กล่าวคือ ชาวบ้านบางส่วนจะไม่ยอมอพยพเพราะยังไม่เห็นน้ำมา หรือมาไม่มาก จึงไม่หนีแต่เนิ่นๆ แต่อย่าลืมว่า เวลามวลน้ำก้อนใหญ่มานั้น จะมาแรง มามากและเร็วจนท่วมสูงฉับพลัน เมื่อถึงตอนนั้นการเข้าไปช่วยเหลือทำได้ลำบากและไม่ทั่วถึง เพราะพาหนะอย่างเดียวที่ใช้ได้คือเรือซึ่งมีจำกัด แต่ถ้าท่วมไม่มาก ยังสามารถใช้รถยนต์ซึ่งสะดวกรวดเร็วกว่าได้

แน่นอนว่าบทบาทของบิณฑ์ก็มีประโยชน์ตรงที่จะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลหาช่องทางให้ได้ว่าเมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้แล้วในอนาคตจะทำอย่างไรจึงจะช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายกฯ เองต้องไวต่อความรู้สึกของชาวบ้าน และจัดลำดับความสำคัญของงานใหม่

ส่วนพรรคฝ่ายค้านบางพรรค ก่อนจะโจมตีรัฐบาลอย่างเมามัน ก็อย่าลืมผลงานตัวเองที่ทำน้ำท่วมใหญ่ร้ายแรงรอบหลายสิบปีในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 ซึ่งตอนนั้นคนกรุงเทพฯ ก็เหมือนติดเกาะอยู่ 1 เดือนเศษ