ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 4-10 ตุลาคม 2562

ขอแสดงความนับถือ

 

มุกดา สุวรรณชาติ เรียบเรียงและร่วมค้นคว้า

“ทำไมเกิด 6 ตุลาคม 2519…ใครยิง…ใครสั่ง…ใครช่วย”

ผ่านคอลัมน์ “หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว” เป็นตอนจบ ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้

ฉบับที่ เหตุการณ์ 6 ตุลา เวียนมาบรรจบ ปีที่ 43

ในบทความดังกล่าว

นอกจากมุขขำๆ ขื่นๆ

ที่ “มุกดา สุวรรณชาติ” ซึ่งปฏิบัติหน้าที่การ์ดในวันดังกล่าว ระบุเอาไว้ว่า

“…ผมไม่รู้ว่าคนที่ยิงตัดใบไม้เหนือหัวผม

ตั้งใจยิงเตือน หรือมือสั่น หรือเป็นยอดฝีมือ

แต่ถ้าต่ำลงมาอีก 1 เมตร พวกเรา 3-4 คนกระจุยแน่

สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร ก็ต้องแสดงความขอบคุณมา ณ โอกาสนี้” แล้ว

 

หลังการสังหารหมู่ในวันดังกล่าว

ยังมีการกวาดจับผู้ต้องหาอีกถึง 3,226 คน

ส่วนที่รอดไปได้ หนีเข้าป่าและไปต่างประเทศ

แต่สุดท้าย ถูกสั่งฟ้อง 18 คน

ด้วยข้อหาที่ร้ายแรงมีโทษจำคุกตลอดชีวิต ถึงประหารชีวิต

แต่เมื่อการไต่สวนดำเนินไปเรื่อยๆ แทนที่ฝ่ายนักศึกษาจะถูกเปิดโปง

กลับกลายเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง

ทำให้เกิดการนิรโทษกรรมภายใน 24 ชั่วโมง

ซึ่งในสายตาของมุกดา สุวรรณชาติ เชื่อว่า

“เพื่อให้เลิกค้นหาความจริง และไม่ให้คนยิง คนสั่ง มีความผิด”

และทำให้

“ความจริงถูกฝังไว้กับความจำของแต่ละคน”

 

เพื่อให้ “ความจริง” ซึ่งเป็นเพียงความทรงจำของแต่ละคน

กลายเป็นความจริง “ร่วมกัน”

มุกดา สุวรรณชาติ จึงได้พยายามเรียบเรียงและร่วมค้นคว้า

“ทำไมเกิด 6 ตุลาคม 2519…ใครยิง…ใครสั่ง…ใครช่วย” ขึ้นมา

ซึ่งแน่นอน คงไม่ใช่ข้อเท็จจริงสมบูรณ์ทั้งหมด

ยังมีส่วนขาด ส่วนเกิน ที่ยังต้องถกเถียงกันอีกไม่น้อย

แต่ถือว่าเป็นเรื่องดี ที่ความจริงจะปรากฏ

แม้จะใช้เวลาเนิ่นนานเท่าใดก็ตาม

 

“ครบรอบ 43 ปี 6 ตุลาฯ 2519” ประจำปี 2562

ยังคงมีกิจกรรมทั้งภาคพิธีกรรมและวิชาการ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่นเดิม

ระหว่างวันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม และวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2562

ที่น่าสนใจ อาทิ

เสวนา วัตถุพยาน กับความทรงจำบาดแผล เนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการ ประจักษ์ : พยาน

โดย โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา – October 6 Museum Project

วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2562

เวลา 10.00-12.00 น.

ห้อง 401 คณะศิลปศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร

– นัดดา เอี่ยมคง พี่สาวดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลา

– ธนาวิ โชติประดิษฐ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

– จุฬารัตน์ ดำรงวิธีธรรม ผู้เขียน ถังแดง : การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย

– ธนาพล อิ๋วสกุล ผู้จัดการโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา

– กษิดิศ อนันทนาธร

ผู้จัดการโครงการระดมทุนสร้าง “สวนป๋วย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการ

ซึ่งคงได้ “ความจริงร่วม” 6 ตุลาฯ อีกส่วนหนึ่ง

 

ส่วนวันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2562

เวลา 06.30 น. พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 19 รูป

เวลา 08.00 น. รองศาสตราจารย์เกศินี วิทูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดงาน

ยืนไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต และอ่านรายชื่อผู้วายชนม์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

พิธีวางพวงมาลาและดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ “๖ ตุลาคม ๒๕๑๙”

เวลา 09.00 น. ปาฐกถา รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

โดย นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ

เวลา 10.00 น.

เสวนาหัวข้อ จาก 6 ตุลา 2519 ถึงวิกฤตการเมืองร่วมสมัย

: สี่ทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เรายังคงฆ่ากัน

ผ่านมา 43 ปี น่าเศร้า ประโยค “เรายังคงฆ่ากัน” ยังไม่ได้หายไปไหน