รางวัลและอุปสรรคของคุณหมอแมคฟาร์แลนด์ ผู้คิดดิกชันนารีเล่มแรก

ช่วงปลายของหนังสือ ชีวิตอุทิศเพื่อสยาม ประวัติชีวิตของนายแพทย์ จอร์จ บี แมคฟาร์แลนด์ ที่เขียนโดย เบอร์ธา แมคฟาร์แลนด์ ผู้เขียนทำให้เราเพลิดเพลินกับทั้งเรื่องสนุกและขื่นๆ ขบขันครบทุกรส

หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ประวัติชีวิตธรรมดา เพราะความที่มันมีฉากหลังเป็นเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงรัชกาลที่ 9 ก็อาจกล่าวได้ว่ามันคือบันทึกภาคฝรั่งของสี่แผ่นดินบวก 1 นั่นเอง

มันทำให้เราเห็นสยาม และคนสยามผ่านชีวิตของฝรั่ง ที่ผู้เขียนไม่อยากจะพูดว่า “ผ่านสายตาของเขา” เพราะเขาไม่ได้ตีความว่าคนสยามเป็นอย่างไร เพียงแต่เล่าว่าเขาพบเจออะไรบ้าง

เขาพบเจอทั้งสังคมไทยที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนัก พบเจ้านายไทยระดับสูงที่ล้วนแต่ปรีชาสามารถและเปี่ยมวิสัยทัศน์ที่เป็นเสาหลักนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า

เขาพบเจอผู้คนระดับล่างที่จ้องแต่จะฉ้อฉลเอาเปรียบและไม่ซื่อสัตย์ สร้างความขมขื่นให้กับฝรั่งมิชชันนารีที่มีจิตใจบริสุทธิ์และทำงานหนักเพื่อทดแทนคุณแผ่นดินที่เขาได้อยู่อาศัยและทำงาน สร้างสิ่งที่มีประโยชน์ให้กับสยามพร้อมกับคุณค่าให้กับตนเอง

หนังสือเล่มนี้ทำให้เราได้เห็นการอุทิศตนของมิชชันนารีที่ทำงานไปเรื่อยๆ ด้วยความขยัน ด้วยมาตรฐานสูงตามแบบที่ฝังอยู่ในอุปนิสัยของคนตะวันตก

เขาใช้เวลาถึง 16 ปี เพียรทำพจนานุกรมไทย อังกฤษ ในช่วงหลังเกษียน ซึ่งเป็นวัยที่คนส่วนใหญ่พักผ่อน แต่สำหรับเขา เหมือนดังที่ เบอร์ธา แมคฟาร์แลนด์ ผู้เขียนซึ่งเป็นภรรยาคนที่สองของเขาเขียนไว้ว่า วัยเกษียณคือวัยที่คุณหมอก้าวเข้าสู่วาระใหม่ของการทำงานในอีกรูปแบบหนึ่ง

ในจำนวนหลายสิ่งหลายอย่างที่นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ทำ เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อว่าคนคนเดียวจะทำได้ถึงเพียงนั้น

นอกจากจะเป็นผู้อำนวยการของโรงพยาบาลศิริราชในยุคที่ลำบากยากเข็ญก่อนที่เขาจะขอทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์เข้ามาสร้างยุคใหม่ เขายังบากบั่นทำความฝันของน้องชายผู้วายชนม์ให้เป็นจริง

นั่นคือการทำพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกให้สยาม จนเปิดบริษัทขายเครื่องพิมพ์ดีด ต่อมาขยายเป็นเครื่องใช้สำนักงาน แล้วแนะนำให้หน่วยงานไทยในยุคนั้นได้ modernize งานจนก้าวหน้า

ต่อมาเขาก็สร้างดิกชันนารีไทยเล่มแรก

การเปิดบริษัทขายพิมพ์ดีดของเขาทำให้ได้พบกับความไม่ซื่อสัตย์ของคนไทย เมื่อเขาต้องมีเหตุต้องปล่อยให้ผู้ช่วยคนไทยที่เขาไว้ใจมากดูแลกิจการแทนนั้น ก็ปรากฏว่าผู้ช่วยนั้นทำเรื่องทุจริต แอบไปเปิดร้านขายเครื่องพิมพ์ดีดขึ้นมาใกล้ๆ โดยไม่ให้เขารู้ ใบสั่งซื้อที่ลูกค้าส่งมาจะถูกแอบดึงไปที่ร้านคู่แข่ง เมื่อมีลูกค้านำสินค้ามาให้ซ่อม ผู้ช่วยคนนี้ก็เอากำไรไปเข้ากระเป๋าตัวเอง แหม่มเบอร์ธาผู้เขียนเล่าว่า

“เมื่อใดก็ตามที่รู้ว่าจะต้องมีการตรวจสอบ เขาก็จะเอาเครื่องพิมพ์ดีดเหล่านี้ไปซ่อนไว้ในห้องส่วนตัว การพิมพ์ใบเสร็จรับเงินก็ไม่มีหมายเลขเรียงลำดับ ซึ่งลูกค้าเองก็ไม่สนใจ ทำให้ง่ายที่จะยักยอกเงินไปจากบัญชีประจำวันของร้าน การจัดฉากนี้ทำได้เยี่ยมและอุกอาจมาก ยิ่งไปกว่านั้นผู้ช่วยยังเข้าควบคุมร้านอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งผูกใจพนักงาน จนมั่นใจว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาลาออกก็จะขนเอาพนักงานทั้งหมดนี้ไปได้”

ยอดขายของร้านตกฮวบลง แต่ผู้ช่วยผู้จัดการก็ยังนิ่งเฉย

เมื่อเขาลางานไปพักผ่อน เบอร์ธาก็เข้าไปตรวจงาน ได้พบหลักฐานฉ้อฉลของเขา

แล้วทั้งหมดนี้คุณหมอแมคฟาร์แลนด์ทำอย่างไร เขากับภรรยาก็เริ่มวางแผนอย่างสุขุม

เขาจ้างคนใหม่เข้ามาอีกคนให้เป็นผู้ช่วยของผู้ช่วยเพื่อเรียนรู้งานและคอยเป็นสายลับ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงร้านไม่ต้องการผู้ช่วยอีกคน

แล้วเวลาก็มาถึง เมื่อใกล้เวลาต่อสัญญา เขาก็ได้รับซองเงินเดือนจากคุณหมออีกเดือนหนึ่งและให้ออกจากร้านไปทันที ไม่ต้องมาให้เห็นหน้าอีก

การต่อสู้ระหว่างสองร้านยังดำเนินต่อไปก็จริง แต่คนที่ซื่อสัตย์ และเอาใจใส่ในการให้บริการก็ยืนหยัดอยู่ได้ในที่สุด

 

เรื่องความไม่มีมาตรฐานและอุปนิสัยที่ “หยวน” ของคนไทยนั้นบางเรื่องอ่านไปก็ต้องหัวเราะไป

เช่น หลังจากที่คุณหมอกับภรรยาทุ่มเทแก้แล้วแก้อีกกับดิกชันนารีที่ทั้งสองคนเรียกว่า “Baby” หรือลูก ใช้เวลาทำให้สมบูรณ์ถึง 16 ปี ทั้งสองปิดงานส่งเข้าโรงพิมพ์แล้วไปพักผ่อน แต่เมื่อกลับมาตรวจต้นฉบับก็พบว่าคนเรียงพิมพ์ให้ font (ตัวอักษร) ต่างกันถึงเกือบสิบชนิด ทำให้ต้องส่งกลับไปเรียงพิมพ์ใหม่อีก

การที่นายแพทย์แมคฟาร์แลนด์ได้พยายามทำงานใหญ่ๆ ที่ไม่ถนัดจนสำเร็จได้อย่างงดงามเช่นเรื่องการพัฒนาเครื่องพิมพ์ดีดไปถึงการตั้งบริษัทขาย หรือทำดิกชันนารีที่ยากเย็นนั้น ผู้เขียนได้กล่าวตลอดเวลาว่าเขามีวิญญาณของนักบุกเบิก ทวีปอเมริกาถูกค้นพบไม่นานและเจริญรุดหน้าไปรวดเร็วก็เพราะสัญชาตญาณนักบุกเบิกที่มีในคนของเขา นอกจากนี้ เขายังเป็นมิชชันนารีที่มีจิตวิญญาณของการให้โดยไม่คิดสิ่งตอบแทน

แล้วมีหรือที่พระเจ้าจะหลงลืมบุคคลเช่นเขา

 

รางวัลชีวิตของเขาในยามที่เขาได้รับได้ถูกเผื่อแผ่ไปยังองค์กรของเขาด้วย ในการจัดงานฉลองครบรอบ 100 ปีของพันธกิจโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย ในตอนแรกทางกรรมการคิดว่าจะจัดธรรมดาๆ ที่ในสถานที่ซึ่งปัจจุบันคือสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยที่สะพานหัวช้าง แต่เมื่อเจ้านายไทยคือ “ปริ๊นซ์ดำรง” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้มีสายพระเนตรไกลและทรงรับรู้งานของมิชชันนารีและของหมอแม็กฟาร์แลนด์ พระองค์ท่านรับสั่งว่า

“นี่เป็นโอกาสที่สำคัญมากของชาติสยาม มิชชันนารีได้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศเรามาตั้งมากมาย น่าจะต้องจัดงานฉลองให้สมกับความสำคัญหน่อย ทำไมไม่กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดงานในพระราชอุทยานสราญรมย์”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นด้วยทันที

และจากนั้นสปิริตของ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ก็หลั่งไหลมาจากทุกกระทรวงทบวงกรม และหน่วยงานเช่นสถานทูต และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเป็นองค์ประธานเป็นพิเศษ

คุณหมอได้ถวายรายงานเป็นภาษาไทย และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 กล่าวตอบเป็นภาษาอังกฤษ

ที่พิเศษมากคือได้มีการกราบทูลเชิญสมเด็จพระสังฆราชของชาวพุทธมาร่วมงานพร้อมด้วยพระสงฆ์ติดตาม ผู้ที่เสด็จไปกราบทูลเชิญคือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรณ์ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ผู้กำกับดูแลกรมการศาสนา

ด้วยเหตุแห่งความสำเร็จทั้งหมดนี้ ได้ก่อเกิดสภาคริสตจักรแห่งประเทศไทยในเวลาต่อมา

สำหรับบุคคลเช่นนายแพทย์จอร์จ บี แมคฟาร์แลนด์ จะมีสิ่งไรที่เป็นรางวัลชีวิตให้เขาได้มากกว่านี้อีกเล่า

 

ในบั้นปลายคุณหมอก็ใช้ชีวิตพักผ่อนสบายตามควรแก่อัตภาพที่หนองแก ประจวบคีรีขันธ์

ส่วนภรรยาคนที่สองของท่าน แหม่มเบอร์ธา ผู้เขียนหนังสือนี้ให้เราได้อ่านกัน ก็เจอกับมรสุมชีวิตอีกครั้งเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง

บ้านโฮลี่รูดของแมคฟาร์แลนด์ถูกยึดเป็นที่ทำการของกองทัพญี่ปุ่น

แล้วก็เปลี่ยนมือมาเป็นที่ทำการของสัมพันธมิตร เธอต้องออกจากบ้านไป แล้วในที่สุดก็ได้บ้านกลับคืนมา

อ่านสนุก ได้ความรู้ว่าฝรั่งเป็นอย่างไร เราคนไทยเป็นอย่างไร จริงๆ ค่ะ