ฟางเส้นสุดท้าย “ไฮสปีดอีอีซี” “บิ๊กตู่” ยืมมือ “ภูมิใจไทย” บีบ “เจ้าสัวซีพี” เซ็นสัญญาปลุกนักลงทุน

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จากดอนเมืองยิงยาวถึงสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา ระยะทาง 220 ก.ม. ใช้เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท

เป็นเส้นทางที่ “รัฐบาล คสช.” หวังตั้งเป้าว่าจะเป็นเครื่องมือในการต้อนคลื่นนักลงทุนไหลสู่ฐานที่มั่นใหม่ เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) บู๊ตเศรษฐกิจไทยให้โชติช่วงอีกรอบ

หลังได้บริษัทในกลุ่มซีพี ของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ตีตั๋วเป็นผู้ลงทุนในนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ประกอบด้วย บจ.เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ซึ่งใจป้ำยื่นเสนอขอเงินอุดหนุนจากรัฐ 117,227 ล้านบาท แลกกับสัมปทาน 50 ปี

แต่หลังจบการประมูลอันทำให้ “รัฐบาล” ใจชื้นขึ้นได้ไม่กี่วันกับราคาที่กลุ่มซีพีเสนอซึ่งต่ำกว่ากรอบคณะรัฐมนตรีอนุมัติถึง 2,198 ล้านบาท เพราะพลันที่เปิดโต๊ะเจรจาหลายต่อหลายยก ตั้งแต่ปลายปี 2561 จาก “รัฐบาลตู่ 1” ถึง “รัฐบาลตู่ 2” ถึงตอนนี้รถไฟฟ้าสายนี้ยังไม่ได้ฤกษ์จรดปากกาเซ็นสัญญา เลื่อนไปมาอยู่หลายครั้ง ล่าสุดจากเดือนกันยายน ขยับเป็นพฤศจิกายน 2562

จน “คนคิด-คนทำ-คนรอเซ็น” เริ่มออกอาการเซ็ง ทั้งที่ไม่ว่าจะถามไปกี่รอบ ก็ได้คำตอบจากกลุ่มซีพีในฐานะแกนนำทุกครั้งว่า…พร้อมเซ็นสัญญา แต่มีข้อแม้แนบเป็นติ่งมาด้วยทุกครั้ง ทำให้การเจรจาไร้ข้อยุติตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา

 

ล่าสุด “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ 2 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม และศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกหน้าทวงวันเซ็นสัญญา

เป็นที่มาของการประชุมนัดพิเศษระหว่างอนุทิน-ศักดิ์สยาม-คณะกรรมการคัดเลือก-คณะอีอีซี ที่ทำเนียบรัฐบาล 23 กันยายน นำไปสู่การขีดเส้นตายกลุ่มซีพีเซ็นสัญญาในนามกิจการร่วมค้าพร้อมวางเงินหลักประกัน 4,500 ล้านบาท ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้

พร้อมยื่นคำขาดหากไม่มาจะเลิกคุย พร้อมริบเงินประกันซอง 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ จะถูกขึ้นบัญชีดำทั้งกลุ่ม และจะเชิญกลุ่มกิจการร่วมค้า BSR ประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น และ บมจ.ราชกรุ๊ป เสนอราคา 169,934 ล้านบาท มาเจรจา และให้กลุ่มซีพีจ่ายส่วนต่างกว่า 5 หมื่นล้าน ที่กลุ่ม BSR เสนอเกินจากกรอบคณะรัฐมนตรีกำหนดแทน

จากท่าทีของ “พรรคภูมิใจไทย” ทำให้ถูกมองและวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเป็นเกมการเมืองอยากขอมีเอี่ยวโปรเจ็กต์ใหญ่ในรอบหลายสิบปีของประเทศ

เพราะ “ตระกูลชาญวีรกูล” เป็นเจ้าของตัวจริงเสียงจริง “ซิโน-ไทย” 1 ในพันธมิตร BSR ที่เสนอราคาเป็นอันดับ 2 ซึ่งพร้อมเสียบทุกเวลา หากเจ้าสัวซีพีทิ้งทุ่น

ขณะที่บางกระแสระบุว่า ไม่มีเกมการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะโครงการดังกล่าวอยู่ในมือของซีพีอยู่แล้ว ถึงเวลาจะต้องมีคำตอบว่าจะอยู่หรือไป

ว่ากันว่างานนี้ “บิ๊กตู่” ไม่อยากออกโรงเอง แต่เพื่อให้โครงการเดินหน้า ก่อนที่นักลงทุนจะหนีจากประเทศไทย จำต้องใช้บริการ “พรรคภูมิใจไทย” ด้วยสไตล์บู๊ของ “เสี่ยหนู-เสี่ยโอ๋” ที่รู้ตื้นลึกหนาบางวงการรับเหมาก่อสร้างเป็นอย่างดี

 

นายอนุทินย้ำว่า รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นหัวใจหลักของอีอีซี สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน ถ้าไม่เกิด จะทำให้การลงทุนสะดุด

ขณะที่นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กลุ่มซีพีอาจยังมีปัญหาแหล่งเงินกู้ กับเป็นห่วงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ที่อาจจะทำให้ก่อสร้างไม่ทันกำหนดเวลา 5 ปี ซึ่งการส่งมอบพื้นที่จะมอบให้ 100% ตามที่ต้องการไม่ได้ จะส่งมอบได้ตามความพร้อมและทยอยให้เสร็จใน 2 ปี หากติดปัญหาพื้นที่ส่วนไหนก็ขอขยายเวลาก่อสร้างเป็นส่วนๆ ได้ เพราะโครงการสามารถยืดหยุ่นได้ตามรูปแบบก่อสร้างที่จะออกแบบไปสร้างไปอยู่แล้ว

ไม่น่านำประเด็นนี้มาเป็นเงื่อนไขยังไม่เซ็นสัญญา และในทีโออาร์กำหนดให้เอกชนเป็นผู้รับภาระการตรวจสภาพพื้นที่ก่อสร้าง คงไม่ใช้เวลาเคลียร์เป็นปีแล้วค่อยออกหนังสือให้เริ่มสัญญาโครงการ เพราะหน่วยงานต่างๆ พร้อมให้ความร่วมมือแตะส่งมอบพื้นที่

“เจรจากันนานมากแล้ว คณะกรรมการคัดเลือกก็ยืนยันทำตามทีโออาร์ครบแล้ว ถ้ากลุ่มซีพีตัดสินใจเซ็นก็เดินหน้า ต่อไปนี้ถ้าไม่เซ็นจะริบเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาท ถูกขึ้นแบล็กลิสต์ และจะเรียกกลุ่ม BSR มาเจรจาทันที ต้องเคลียร์ให้จบก่อนวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ทั้ง 2 กลุ่มจะยื่นราคาที่เสนอมา” นายศักดิ์สยามกล่าว

เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่รัฐยื่นคำขาด “กลุ่มซีพี” ให้ตัดสินใจเร็วขึ้น “จะเซ็นหรือไม่เซ็น” จากเดิมอาจจะทอดเวลาได้ไปถึงต้นพฤศจิกายนนี้

ด้าน “ศุภชัย เจียรวนนท์” ย้ำว่า กลุ่มซีพีได้ตอบรัฐไปหมดแล้วว่ามีความตั้งใจที่จะเซ็นสัญญา เพราะมาถึงขั้นนี้แล้ว กว่าจะประมูลเข้ามาได้ก็ใช้เวลาตั้งนาน

สำหรับแหล่งเงินทุนในโครงการก่อนหน้านี้เคยออกมาระบุว่าที่เจรจามีทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ของไทย และองค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ของญี่ปุ่น และธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CBD) เพราะทั้ง 2 ประเทศนี้ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว จะเข้าใจว่าผลตอบแทนโครงการไม่สูง ทำให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างดี

ส่วนเรื่องการปล่อยกู้โครงการขนาดใหญ่ก็สามารถขอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นรายโครงการได้

 

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า เป็นผลมาจากกลุ่มซีพียังเจรจากับแหล่งเงินกู้ไม่จบ

เพราะต้องการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารต่างประเทศที่ปล่อยกู้

เช่น ธนาคารไชน่าดีเวลอปเมนต์ของจีน ซึ่งมีเงื่อนไขต้องการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันผู้โดยสาร และค้ำประกันหนี้ของรถไฟกรณีที่ขาดทุน

ซึ่งซีพีพยายามเจรจากับรัฐ แต่คงยาก เพราะรัฐจ่ายค่างานโยธา 10 ปีให้แล้ว ก็ถือว่าเป็นการรับประกันความแน่นอนของโครงการไปแล้ว

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการ ระบุว่า สิ่งที่กลุ่มซีพีกังวลคือ แหล่งเงินกู้ที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ

และปัญหาการส่งมอบพื้นที่ที่เอกชนมองว่าแผนส่งมอบยังไม่ชัดเจน ตามแผนจะใช้เวลาเคลียร์ให้เสร็จ 2-3 ปี ทั้งที่ดินบุกรุก เวนคืนที่ดินและรื้อย้ายสาธารณูปโภค

นั่นคือเงื่อนปมที่ต้องเร่งคลี่คลาย และไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเกมนี้ เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ใหญ่ไม่แพ้กัน