โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรูปเหมือน-รูปไข่ หลวงพ่อศรีโท 2517 วัดบ้านโพธิ์ มหาสารคาม

หลวงพ่อศรีโท สีลวัณโณ

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

 

เหรียญรูปเหมือน-รูปไข่

หลวงพ่อศรีโท 2517

วัดบ้านโพธิ์ มหาสารคาม

 

“หลวงพ่อศรีโท สีลวัณโณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านโพธิ์ และอดีตเจ้าคณะตำบลหนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม อดีตพระเกจิที่มีวัตรปฏิบัติดี ได้รับความเคารพศรัทธาทั้งในและนอกพื้นที่

วัตถุมงคลที่สร้างไว้และได้รับความนิยมในพื้นที่ คือเหรียญรูปเหมือนรูปไข่ สร้างในปี พ.ศ.2517 จำนวนสร้าง 450 เหรียญ ประกอบด้วย เหรียญเนื้อทองแดงรมดำ ทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อนี้ค่อนข้างจะพบน้อย เพราะสร้างไม่มาก มอบให้ประธานจัดสร้างเท่านั้น และมีเนื้อทองคำอีกจำนวนหนึ่ง

เพื่อหาปัจจัยสมทบทุนก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ โดยมอบเหรียญรุ่นนี้ให้แก่ผู้มาร่วมทำบุญและสายผ้าป่าสายต่างๆ ยังประกอบพิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้จนถึงวันสุดท้าย

ก่อนที่ท่านจะละสังขาร ยังนำเหรียญรุ่นนี้แจกเป็นที่ระลึกให้ทุกคนที่มาเยี่ยมการอาพาธด้วย

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง

ด้านหน้า ยกขอบ จากขวามือของเหรียญมีตัวอักษรวนลงไปด้านล่างวกขึ้นไปด้านขวา เขียนคำว่า “หลวงพ่อศรีโท สีลวณฺโณ วัดบ้านโพธิ์ ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม”

ด้านหลัง มีอักขระยันต์ 3 แถว 2 แถวบนเป็นคาถาพระฤๅษีตาไฟ แถวล่าง อิสวาสุ เป็นคาถาหัวใจพระรัตนตรัย

จัดเป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นของมหาสารคามที่มีประสบการณ์

 

อัตโนประวัติของหลวงพ่อศรีโทนั้น จากการสืบสอบถามมีปรากฏน้อยมาก เพราะไม่มีการบันทึกไว้ พอทราบโดยสังเขปว่าเป็นคนบ้านโพธิ์โดยกำเนิด เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2456 ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา

หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนในหมู่บ้าน ก็ออกมาช่วยงานในครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง

ย่างเข้าวัยหนุ่มปี 2476 อายุครบบวช เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทที่อุโบสถวัดบ้านโพธิ์ อ.วาปีปทุม

มุมานะศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย จนสอบได้นักธรรมชั้นเอก

นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม จึงฝากตัวเป็นศิษย์ร่ำเรียนวิทยาคมจากหลวงปู่สา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบ้านโพธิ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพระเกจิชื่อดังรูปหนึ่งในเขต อ.วาปีปทุม ในสมัยนั้น

หลวงปู่สาก็เมตตาถ่ายทอดวิทยาคมให้จนหมดสิ้น ไม่มีปิดบัง รวมทั้งศึกษาเรียนรู้อักขระขอม ตัวธรรมอักษรลาว ทำให้มีความรู้ด้านอักขระโบราณอีกแขนงหนึ่ง

หลังจำพรรษาอยู่วัดบ้านโพธิ์หลายปี หลวงปู่สาก็มรณภาพลง ช่วงเดียวกันนั้นญาติโยมชาวบ้านโพธิ์ ที่ไปทำมาหากินอยู่ที่วัดบ้านหนองเม่น อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เห็นว่าท่านเป็นพระหนุ่มวัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงนิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านหนองเม่น

ด้วยความที่ท่านให้ความสนใจด้านไสยเวทย์ ช่วงนั้นจึงได้ร่ำเรียนวิทยาคมเพิ่มเติมจากพระเกจิอาจารย์ในพื้นที่หลายรูป ซึ่งล้วนแต่เป็นพระเกจิที่เชี่ยวชาญไสยเวทย์สายเขมร

จนถึงปี พ.ศ.2490 เจ้าอาวาสวัดบ้านโพธิ์มรณภาพลง ชาวบ้านโพธิ์จึงนิมนต์ให้กลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านโพธิ์ และอยู่ปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดแห่งนี้ตราบจนวาระสุดท้าย

เหรียญหลวงพ่อสง่า รุ่นแรก (หน้า-หลัง)

 

วัตรปฏิบัติที่ทำต่อเนื่องกันทุกปี ขณะที่พลานามัยยังสมบูรณ์ดี คือ การออกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาแถบชายแดนไทย-กัมพูชา

ด้วยความที่มีวิทยาคมที่แก่กล้า วัตรปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเสมอต้นเสมอปลาย ชื่อเสียงเริ่มขจรไกลออกไปในต่างพื้นที่ ในแต่ละวันจะมีญาติโยมเดินทางมารับฟังธรรมและประพรมน้ำพุทธมนต์อย่างล้นหลาม

สำหรับหลักธรรมคำสอนที่พร่ำสอนญาติโยมมาโดยตลอดคือการให้รักษาศีล 5 หากประพฤติตนอยู่ในกรอบศีล 5 ได้จะทำให้ชีวิตพานพบแต่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน

ช่วงนั้นมีความสนิทสนมเป็นอย่างมากกับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังของมหาสารคาม อาทิ หลวงปู่ซุน วัดบ้านเสือโก้ก อ.วาปีปทุม, หลวงปู่ทวง วัดบ้านยาง อ.บรบือ จึงเดินทางไปหาสู่กันเป็นประจำ

นอกจากจะเป็นพระเกจิที่มีวิทยาคมที่เข้มแล้ว ยังมีความสนใจทางด้านการศึกษาสงฆ์ เปิดสำนักเรียนพระปริยัติธรรม ทำหน้าที่เป็นครูสอน ในช่วงนั้นสำนักเรียนวัดบ้านโพธิ์มีชื่อเสียงมาก มีพระภิกษุ สามเณร ทั้งในและนอกพื้นที่เดินทางมาจำพรรษาและศึกษาพระธรรมวินัยเป็นจำนวนมาก

ตลอดเวลาที่ปกครองวัดบ้านโพธิ์ ยึดหลักเมตตาธรรมเป็นที่ตั้งและปฏิบัติศาสนกิจตามหลักพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด

เวลาต่อมา จึงได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลหนองแสง

ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร ช่วงหลังอาพาธบ่อยครั้ง ในที่สุดก็มรณภาพด้วยความสงบ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2518

สิริอายุ 63 ปี พรรษา 43