แนวรบเสียงเพลง ในวาระ “ทรัมป์” มา “โอบามา” เปิดหมวก

คอลัมน์ ดนตรี โดย วารี วิไล

โดนัลด์ ทรัมป์ สาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 สืบต่อจาก บารัค โอบามา เรียบร้อยแล้ว

สื่อในสหรัฐระบุว่า มีคนเข้าร่วมพิธีของทรัมป์ น้อยกว่าโอบามา จนกลายเป็นวิวาทะระหว่างโฆษกของทรัมป์กับสื่อในสหรัฐ

ใครจะแถหรือไม่แถ ดูไม่ยาก เพราะมีภาพเก่าให้เปรียบเทียบ นอกจากนี้ ชัยชนะของโอบามา เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงเรียกความสนใจจากสังคมได้มากกว่า

แนวทางของทรัมป์ ที่เน้นความยิ่งใหญ่และผลประโยชน์ของสหรัฐ หมิ่นเชื้อชาติและสตรี ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนน้อยลง ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากคนอเมริกันหลายกลุ่ม

กลุ่มของศิลปิน นักดนตรี แสดงออกชัดเจน เมื่อบรรดาคนดังๆ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมแสดงในพิธีสาบานตนของทรัมป์

แตกต่างจากยุคของโอบามา ที่ศิลปินดังๆ มาร่วมแสดงทั้งในพิธีสาบานตน และแสดงในโอกาสต่างๆ ในทำเนียบขาว

นักร้อง ศิลปินที่ปฏิเสธไม่แสดงในงาน มีรายชื่อยาวเหยียด

ตั้งแต่ แอนเดรีย โบเชลลี นักร้องสายคลาสิคัลเสียงเทเนอร์ ที่ตอนแรกว่าจะมาดูเอ็ตกับ แจ็กกี้ เอแวนโค สาวน้อยจาก อเมริกาก็อตทาเลนต์ ก่อนจะถอนตัวไป ส่วนแจ็กกี้ มาร้องเพลงชาติในงาน

เซอร์ เอลตัน จอห์น ที่ทรัมป์ชื่นชอบก็ปฏิเสธ, เซลีน ดิออน, การ์ธ บรู๊กส์ ซุปตาร์สายคันทรี, คานเย เวสต์ ก็ปฏิเสธ แม้จะเป็นเพื่อนรักของทรัมป์ก็ตาม, รีเบคกา เฟอร์กูสัน นักร้องอังกฤษยืนยันจะร้องเพลงเศร้า Strange Fruit ของ บิลลี่ ฮอลิเดย์ ที่สะท้อนการเข่นฆ่าสังหารคนผิวสีโดยขบวนการอเมริกันเหยียดผิวในงานนี้ ก่อนเจ้าตัวแถลงเองว่าจะไม่ร่วมแสดงในงานนี้

เดวิด ฟอสเตอร์ โปรดิวเซอร์ชื่อดัง ปฏิเสธข่าวว่าจะร่วมแสดง, ชาร์ล็อต เชิร์ช นักร้องคลาสสิคัล ก็มีข่าวว่าไปร้องในงาน ก่อนเจ้าตัวทวีตถึงทรัมป์ปฏิเสธตรงไปตรงมา

คิสส์ วงอเมริกัน ก็ปฏิเสธ โดย แชนนอน ทวีด ภรรยาของ จีน ซิมมอน สมาชิกวง ทวีตว่า No, โมบี ดีเจดัง ก็เป็นอีกคนที่อยู่ในรายชื่อปฏิเสธ

นอกจากนี้ ยังมี อิดีนา เมนเซล ดาราหญิงเจ้าของรางวัลโทนี ที่เสนอว่า ทรัมป์ควรขึ้นเวทีร้องเพลงเอง เพราะเขาชอบคิดว่าเสียงตัวเองเพราะ และคิดว่าตัวเองทำอะไรก็ดีไปหมด

มารี ออสมอนด์ นักร้องตระกูลออสมอนด์ ก็ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง, อาร์ เคลลี่ นักร้องอาร์แอนด์บี ก็แจ้งว่า ข่าวที่ว่าจะไปร้องเพลง เป็นข่าวลือ

พอล แองคา ผู้ประพันธ์เพลง My Way ซึ่งเป็นเพลงโปรดของทรัมป์ และเป็นเพื่อนกันมาถึง 50 ปี แต่ก็ปฏิเสธว่าไปร่วมงานไม่ได้ อีกคนที่มีข่าวว่าจะไปขึ้นเวที เจนนิเฟอร์ ฮอลิเดย์ ก็ถอนตัวหลังจากออกข่าวตอบรับแล้วเกิดปฏิกิริยาตามมา

วงท้ายๆ ที่มีข่าวว่าจะขึ้นเวที แล้วถอนตัว ได้แก่ B-Street Band วงที่เล่นเพลงของ บรูซ สปริสทีน ซึ่งมีวงแบ๊กอัพชื่อ ดิ อี สตรีต แบนด์

และในวันเดียวกับที่ทรัมป์สาบานตนรับตำแหน่ง รายการแซตเทอร์ไนต์ไลฟ์ รายการทีวียอดนิยมของอเมริกา ก็อำลาโอบามา ด้วยเพลง To Sir With Love ที่เป็นเพลงดังจากหนังชื่อเดียวกัน เมื่อปี 1967

หนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในประเทศไทย และมีหนังสือแปลโดย นายตำรา ณ เมืองใต้ หรือ เปลื้อง ณ นคร ใช้ชื่อว่า “แด่คุณครูด้วยดวงใจ”

เพลงชื่อเดียวกับหนัง ร้องโดย ลูลู นักร้องชาวเกาะอังกฤษ ที่แสดงเป็นนักเรียนคนหนึ่ง และร้องเพลงนี้เพื่อขอบคุณครูผิวสี แสดงโดย ซิดนีย์ ปัวติเอร์ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงนักเรียน

และตอนท้ายของเพลงนี้ในรายการ SNL ขึ้นรูปโอบามา

บทบาทของศิลปินนักดนตรีในการเมืองอเมริกันรอบนี้ เข้มข้นเป็นพิเศษ