มนัส สัตยารักษ์ | พูดโกหกทำลายเครดิตผู้พูด

เมื่อวันที่นายมุน แจ อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลีและภริยาเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลนั้น

ผมติดตามข่าวจากหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างปกติ ไม่เกาะติดเหมือนกับครั้งที่นายมุน แจ อิน จูงมือกับนายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือผู้นำเกาหลีเหนือ เดินข้ามเส้นขนาน

รู้สึกประทับใจกับท่าที “พี่ใหญ่ใจพุทธ” ของนายมุน แจ อิน ที่ทำให้เริ่มมองเห็นเค้าความปรองดองของคนเกาหลีสองฟากฝั่ง

พร้อมกันนั้นก็รู้สึกสะใจเล็กๆ ที่เห็นมโนภาพความหงุดหงิดเหมือนถูกตบหน้าของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ปกติผมติดตามข่าวต่างๆ อย่างลวกๆ ด้วยการอ่านหนังสือแทบจะทุกประเภท ทั้งในหน้าหนังสือกระดาษและบนจอคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวลวง

ไม่ว่าจะเป็นข่าวซีเรียสบ้านเมืองหรือข่าวน้ำเน่าในวงการบันเทิง

อ่านอย่างคนสูงวัยที่ว่างงาน ไม่ได้เกาะติดและวิเคราะห์ไปพลางอย่างเมื่อครั้งที่ยังรับราชการอยู่

การเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเกาหลีใต้ครั้งนี้ จับประเด็นหลักได้ 2 ประเด็น

ประเด็นแรก มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความตกลงระหว่างภาครัฐ 6 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความร่วมมือกันพัฒนาในด้านต่างๆ เพราะไทยกับกับเกาหลีใต้ไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งกันแต่ประการใด

ประเด็นหลัง ผู้นำเกาหลีใต้และภริยาได้พบกับทหารผ่านศึกในสงครามเกาหลี 10 นาย โดยนายมุน แจ อิน ได้ทักทายและกล่าวขอบคุณทหารผ่านศึกที่ได้ร่วมรบกับทหารเกาหลี พร้อมมอบเหรียญสันติภาพและของที่ระลึกให้แก่นายทหารผ่านศึกทั้ง 10 คน และทายาทอีก 2 คนด้วย

ประเด็นย่อยคือ การกล่าวปาฐกถาของนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอ่านแล้วก็ผ่านเลย

ความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อผมได้รับเมล์นายทหารอายุ 85 ปีท่านหนึ่ง (ขอสงวนนาม) แจ้งมาว่า ใจความที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวต้อนรับประธานาธิบดีเกาหลีและคณะนักลงทุนทั้งไทยและเกาหลีต่อหน้าผู้ฟังกว่า 600 คน ที่โรงแรมอินเตอร์ คอนติเนลตัล…

“…ผมเคยมีโอกาสเป็นผู้บังคับกองพันพยัคฆ์น้อยไปรบที่เกาหลีมา และภาคภูมิใจมาจนถึงวันนี้…”

ไม่เป็นความจริง! หรือนัยหนึ่งเป็นความเท็จ!!

นาทีแรก ผมไม่เชื่อเมล์ข้างต้น เพราะผมก็เสพข่าวนี้มาเช่นกัน เพียงแต่จำไม่ได้แล้วว่าเสพจากหนังสือพิมพ์ในร้านอาหารหรือร้านกาแฟ หรือเสพจากสื่อออนไลน์ e-book ที่ผมเป็นสมาชิกอยู่ และผมก็เชื่อโดยอัตโนมัติในทันทีด้วยเครดิตของหนังสือพิมพ์ชั้นนำกับเครดิตของผู้พูดชั้นผู้นำ

แต่เมื่อได้อ่าน “ข้อมูลคร่าวๆ” จากนายทหารวัย 85 เป็นข้อมูลมีรายละเอียดที่เชื่อถือได้…

สงครามเกาหลีเริ่ม 25 มิถุนายน 2493 สงบ 27 กรกฎาคม 2496

ไทยส่งทหารไปร่วมรบตุลาคม 2493 คือกรมผสมที่ 21 มีกำลังรบเป็นอาสาสมัครเพียง 1 กองพัน ผลัดละ 1 ปี (ผลัด 1-6) ต่อจากนั้นลดเป็นระดับกองร้อยอิสระ (ผลัด 7-23) เพราะไม่มีการสู้รบกันอีกแล้ว และได้ถอนกำลังกลับหมดในปี 2515

พล.อ.ประยุทธ์ เกิด 21 มกราคม 2497 หลังสงครามสงบแล้ว เป็นนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่น 23 (2514-2518) ได้เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 ในกรมทหารราบที่ 21 รอ. (กรมผสมที่ 21 เดิม) เมื่อปี 2533 หลังสงครามสงบแล้ว 36 ปี

ดังนั้น ที่กล่าวต่อหน้าประธานาธิบดีเกาหลีกับผู้คนจำนวนมาก-จึงเป็นไปไม่ได้!

นายทหารวัย 85 เจ้าของ g-mail ใช้คำว่า “โกหกคำโต” กับ พล.อ.ประยุทธ์ ในเมล์ที่มีมาถึงผม แต่ผมคิดด้วยความเป็นธรรมตามประสาคนรอบคอบว่า คนระดับนายกรัฐมนตรีไม่น่าจะโกหกกับเรื่องตื้นๆ อย่างนี้ ซึ่งถ้าโกหก (แม้แต่คำเล็ก) ก็ต้องถูกจับโกหกได้อย่างง่ายดาย

เรื่องวันเกิดของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องวันเกิดศึกและวันสงบศึกเกาหลี รวมถึงวันรับตำแหน่งผู้บังคับกองพันที่ 21 ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงหรือพลิกพลิ้วไม่ได้

ดังนั้น ผมจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่อง “ความผิดพลาด” ของใครสักคน หรือ “ความพลั้งเผลอ” ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมากกว่า

เป็นไปได้ว่า เป็นความผิดพลาดของผู้สื่อข่าวหรือคนเขียนข่าว ที่เกิดไม่ทันสงครามเกาหลี พวกเขารู้จักประเทศเกาหลีในมุมที่น่าสนใจกว่าสงคราม ไม่ว่าจะเรื่องละคร ภาพยนตร์ วัฒนธรรมโบราณ รวมถึงเรื่องของดารา นักแสดงและนักร้อง วันนี้คนไทยยุคใหม่ไม่สนใจสงครามมากไปกว่าสินค้าแบรนด์เนมและศัลยกรรมเสริมสวยในประเทศเกาหลี

แต่ถ้าเป็นความผิดพลาดของสื่อ หน่วยงานของรัฐบาลก็น่าจะแก้ข่าวที่ทำให้ผู้นำไทยระดับนายกรัฐมนตรีเสียหายถึงขนาด “โกหกคำโต” ต่อหน้าผู้นำเกาหลีและผู้คนจำนวนมาก

ถ้าเราตั้งสมมุติฐานใหม่ว่า ไม่ได้เป็นความผิดพลาดของสื่อแต่เป็นความผิดพลาดของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์เองก็ต้องควานหาว่าใครที่ทำให้ผิดพลาด-เจ้าตัวหรือทีมงาน?

เป็นไปได้ที่ทีมงานเป็นคนรุ่นเดียวกับสื่อ ไม่ได้เป็นทหาร หรือเป็นทหารแต่ไม่ได้ไปรบเกาหลี ขณะเดียวกันก็เป็นพวกที่ไม่มีคุณภาพ ไม่รับผิดชอบหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นไปได้ว่าทีมงานสะเพร่า ไม่ได้เทียบเคียงปีเกิดของ พล.อ.ประยุทธ์ กับปีที่สงครามเกาหลียุติ และเป็นไปได้เหมือนกันว่าทีมงานโมเมเอาตำแหน่ง “ผบ.พัน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในปี 2533 ไปสวมใส่ในปี 2493 เพื่อเรียกความสนใจจากประธานาธิบดีเกาหลี

แต่คิดอีกที…คำปราศรัยหรือปาฐกถาที่สำคัญ ในวาระที่สำคัญ ต่อบุคคลที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีน่าบอกพล็อตคร่าวๆ ให้ทีมงานที่มีคุณภาพไปร่าง และน่าจะตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมก่อนนำไปใช้งานจริง

แต่คิดอีกที (ผมค่อนข้างสับสนอีกแล้ว)…เมื่อทบทวนถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรีท่านนี้ หลายครั้งดูเหมือนช่างกล้าที่จะฝ่าฝืนจริยธรรมหรือกฎหมาย ไม่แคร์กับความผิดพลาด พลั้งเผลอ ตกหล่น หรือเพิ่มเติม “ข้อมูล” เข้าไปดื้อๆ

หรือท่านแน่ใจว่าพูดอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีคนฟัง เช่นเดียวกับรายการทางทีวีของท่าน?

บางกรณีผมแทบจะมั่นใจว่าท่าน “เขียนบท” เอง เหมือนบ๊อบ โฮป หรือเรแวน แอตคินสัน เขียนบทละครหรือบทหนังของตัวเอง

จึงเป็นไปได้ว่า ผู้นำของเราคิดเหมือนตัวละครในหนังชึ่งเป็นเรื่อง “มายา” เป็นเรื่องสมมุติหรือเรื่องแต่ง ในหนังนั้น มิสเตอร์บีนเห็นว่าทุกปัญหาที่ตัวเองก่อขึ้นเป็นเรื่องไม่สำคัญ และไม่ต้องรับผิดชอบแต่อย่างใด

ผลการวิเคราะห์ข้างต้นจะถูกหรือผิดไม่สำคัญ ที่สำคัญคือเมื่อความเท็จปรากฏขึ้นทีไร นายกรัฐมนตรีก็เสียเครดิตทีนั้น

การวิเคราะห์ครั้งนี้มิใช่เพื่อค้นหาว่าใครต้องถูกลงโทษ แต่เพื่อจะบอกว่า ความเท็จทำลายเครดิต ไม่เพียงแต่หัวหน้ารัฐบาลเท่านั้นที่เสียหาย ประเทศชาติจะเสียหายไปด้วย

ผู้ที่อ้างว่า ประชาชนเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดรายการ “พบประชาชน” ทางทีวีนั้น ในสายตาของผม เป็นบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับพยายามผลักดันให้นายกรัฐมนตรีสุ่มเสี่ยงกับความล้มละลายทางความน่าเชื่อถือ-หมดเครดิต

ประชาชนที่เกลียดชังนายกรัฐมนตรีอยู่แล้วจะเกลียดชังเพิ่มขึ้น และต่างชาติที่ไม่ศรัทธาอยู่แล้วก็จะไม่ไว้ใจมากยิ่งขึ้น…