คุยกับทูตสเปน ‘เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย’ มาประจำประเทศไทยครั้งที่ 3 บุกชมห้องทำงานเล่าความสัมพันธ์หลากมิติ

คุยกับทูต เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย หวังนำเสนอศักยภาพที่หลากหลาย ของสเปนให้ปรากฏในไทย (1)

นับเป็นการมาประจำประเทศไทยครั้งที่ 3 ตั้งแต่เริ่มอาชีพในปี ค.ศ.1990 กับกระทรวงต่างประเทศสเปนของนายเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (H. E. Mr. Emilio de Miguel Calabia)

ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.2017

ท่านทูตเอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย เคยทำหน้าที่สำคัญทั้งในประเทศแคเมอรูน โบลิเวีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ก่อนมาประจำที่เมืองไทยครั้งนี้

โดยมีเขตอาณาครอบคลุมอีกสามประเทศคือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา

ณ สถานเอกอัครราชทูตสเปน กรุงเทพฯ ชั้น 23 ของอาคารสำนักงานเลครัชดา บนถนนรัชดาภิเษก เมื่อก้าวเข้าไปภายในห้องทำงานของท่านทูตกาลาเบีย

สิ่งที่สะดุดตาคือถ้วยจำลองฟุตบอลโลก FIFA World Cup ที่ “กระทิงดุ” ทีมชาติสเปนคว้าแชมป์โลกสมัยแรกด้วยการเฉือนชนะ “อัศวินสีส้ม” ฮอลแลนด์ 1-0 ในรอบสุดท้ายของฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้

ทีมชาติสเปน คว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2010 เป็นสมัยแรก

และจากห้องนี้ เราสามารถมองผ่านหน้าต่างกระจกใสบานใหญ่ออกไปเห็นวิวทิวทัศน์อันงดงามของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ความร่มรื่นและสวยงามของธรรมชาติสีเขียวจากสวนเบญจกิติ และสวนป่าเบญจกิติ สวนสาธารณะใจกลางกรุง กับท้องฟ้าสดใสที่ไร้เมฆฝนยามบ่าย

ท่านทูตกาลาเบียซึ่งเพิ่งกลับจากภารกิจข้างนอก เดินเข้ามาอย่างเร่งรีบและให้การต้อนรับทีมงานอย่างอบอุ่นกันเอง

พร้อมนั่งลงสนทนาด้วยท่าทางผ่อนคลาย

“พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเรา สเปนและไทยนั้น เริ่มในช่วงเวลาที่สเปนเดินทางเข้าไปในฟิลิปปินส์แล้ว จึงมีการลงนามในสนธิสัญญาการค้ากันระหว่างอาณาจักรอยุธยาและสเปนในเวลาต่อมา ถึงแม้จะดำเนินความสัมพันธ์กันตลอดระยะเวลาดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มากนัก”

จากประวัติศาสตร์ สเปนมีจุดมุ่งหมายสร้างความสัมพันธ์กับไทยเพื่อการค้าและการเผยแผ่ศาสนา โดยการแต่งตั้งราชทูตดอน เตลโล เทอ อากุยส์ (Don Tello de Aguirre) จากกรุงมะนิลา เข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปี ค.ศ.1598 เพื่อขอทำสนธิสัญญาไมตรีทางการค้า นับเป็นชาติที่สองต่อจากโปรตุเกสที่ได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีการค้ากับอยุธยา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสเปนดำเนินไปเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส เนื่องจากสเปนและโปรตุเกสในเวลานั้นมีความสัมพันธ์ที่ยังเป็นมิตรต่อกัน

สเปนและโปรตุเกสต่างแยกกันขยายอาณาเขตออกนอกยุโรป สเปนจะขยายไปทางทิศตะวันตก ในขณะที่โปรตุเกสจะเน้นไปทางทิศตะวันออก สเปนขยายอาณาเขตจากมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกและทำหน้าที่รักษาความมั่นคงให้กับหมู่เกาะฟิลิปปินส์

ในปี ค.ศ.1718 ผู้สําเร็จราชการที่มะนิลาได้ส่งคณะทูตในนามพระเจ้าฟิลลิปที่ 5 แห่งสเปนเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อมาเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (ค.ศ.1708-1732) เพื่อทำการค้าและขอตั้งคลังสินค้าสเปนที่กรุงศรีอยุธยา

ไทยและสเปนสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1870 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ช้ากว่าที่ไทยทำกับประเทศตะวันตกอื่นๆ กว่า 10 ปี (นับจนถึงปัจจุบัน 149 ปี)

โดยทั้งสองประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรี การค้าขาย และการเดินเรือระหว่างราชอาณาจักรสยามกับราชอาณาจักรสเปน (Treaty of Friendship, Commerce and Navigation) เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1925

นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 ไทยได้แต่งตั้งหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์) อัครราชทูตประจำสหราชอาณาจักรให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสเปนคนแรกด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง ทั้งสองฝ่ายได้ยกฐานะสถานอัครราชทูตขึ้นเป็นสถานเอกอัครราชทูตเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ.1961

ต่อมาในปี ค.ศ.1963 รัฐบาลไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริด โดยมีนายมนู อมาตยกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาดริดเป็นคนแรก

ท่านทูตกาลาเบียเล่าว่า

“เมื่อปี ค.ศ.1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เยือนราชอาณาจักรสเปนอย่างเป็นทางการ จากนั้นในปี ค.ศ.1985 กษัตริย์และราชินีแห่งสเปนของเราก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทย ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ไทยและสเปนจึงทวีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดขึ้นเป็นลำดับ”

ในหลวงร.9 – พระราชินีฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรสเปนอย่างเป็นทางการ

ช่วงปี ค.ศ.1959 ถึง ค.ศ.1967 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกรณียกิจสำคัญ คือการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับมิตรประเทศ

ระหว่างวันที่ 3-8 พฤศจิกายน ค.ศ.1960 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนราชอาณาจักรสเปนเป็นที่สุดท้ายในยุโรปของปี ค.ศ.1960

และหนึ่งในพระราชกรณียกิจในครั้งนั้นก็คือ การเสด็จไปทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอลที่สนามซานดิเอโก้ เบอร์นาบิว (Estadio Santiago Bernabeu) ของสโมสรฟุตบอลเรอัล มาดริด (Real Madrid Club de F?tbol)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงยังที่ประทับภายในสนาม บรรดาแฟนบอลกว่าแสนคนได้ร่วมกันถวายพระเกียรติ พร้อมใจกันลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างล้นหลาม ด้วยความยินดีที่ได้มีโอกาสชื่นชมพระบารมี

ขณะที่นักฟุตบอลของทีมราชันชุดขาว เรอัล มาดริด และคู่แข่งขัน ทีมแอธเลติก บิลเบา (Athletic Bilbao) พร้อมทั้งกองทหารเกียรติยศได้ยืนเข้าแถวเพื่อรอรับเสด็จ ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น

อนึ่ง ในปี ค.ศ.2006 ประมุขของราชวงศ์ทั่วโลกจาก 30 ประเทศเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในวโรกาสเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งกษัตริย์ฮวน คาร์ลอสที่ 1 แห่งประเทศสเปน (Juan Carlos I of Spain) ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยือนประเทศไทย พร้อมด้วยสมเด็จพระราชินีโซเฟีย ในวโรกาสเดียวกันนี้ ในฐานะพระราชอาคันตุกะโดยประทับพักแรม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ระหว่างวันที่ 21-23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2006

“สำหรับสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำราชอาณาจักรไทย และทำเนียบ แต่เดิมตั้งอยู่ที่ถนนวิทยุโดยมีสถานทูตสหรัฐอเมริกาเป็นเพื่อนบ้าน นับเป็นทำเลที่ดีมาก เราเช่าอยู่ แต่เมื่อที่ดินถูกขาย เราจึงย้ายมาอยู่ที่ปัจจุบันนี้ ซึ่งประกอบด้วยนักการทูตสามคน หัวหน้าคณะทำงาน เจ้าหน้าที่แผนกวีซ่า ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ผู้ช่วยทูตฝ่ายตำรวจ ซึ่งบุคคลเหล่านี้มาจากสเปน ส่วนที่เหลือเป็นคนไทยและส่วนใหญ่พูดภาษาสเปนได้ดี”

“รวมทั้งหมดแล้วประมาณกว่า 20 คน”

ท่านทูตเอมิลิโอ กาลาเบีย เกิดปี ค.ศ.1965 ที่กรุงมาดริด (Madrid) ประเทศสเปน เริ่มทำงานกับกระทรวงต่างประเทศสเปนเมื่ออายุ 25 ปี หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชานิติศาสตร์ที่สเปน

นอกจากภาษาสเปน ท่านทูตพูดภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เข้าใจอิตาเลียน และขณะนี้กำลังหัดพูดภาษาไทย

“ความสนใจเกี่ยวกับการทูตของผมเริ่มมาตั้งแต่สมัยเรียนในมหาวิทยาลัย โดยมีความอยากรู้อยากเห็นในวัฒนธรรมอื่นๆ อยู่เสมอ ชอบท่องเที่ยวเพื่อที่จะได้ดื่มด่ำกับบรรยากาศของวิถีชีวิตและเสน่ห์ของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจใคร่รู้เป็นอย่างมาก”

“สำหรับการท่องเที่ยวยังต่างประเทศนั้น ผมมีคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้พาไปฝรั่งเศสเป็นครั้งแรก ต่อมาในช่วงฤดูร้อน ผมเดินทางไปประเทศไอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการไปเรียนภาษาอังกฤษ”

“เมื่อไปเที่ยวกับกลุ่มเพื่อน เราใช้บัตรโดยสารอินเตอร์เรล (interrail) ซึ่งเป็นบัตรสำหรับการเดินทางโดยรถไฟใน 30 ประเทศในยุโรป ที่ราคาไม่แพง ด้วยวิธีนี้ผมจึงได้ไปเยือนฝรั่งเศส เดนมาร์ก สวีเดน เยอรมนี ออสเตรีย บูดาเปสต์ในฮังการี และอิสตันบูลในตุรกี กรีซ และอิตาลี รวมแล้ว 9 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เรานอนในรถไฟ”

มหาวิหารหลวงอัลมูเดนา กรุงมาดริด

การท่องเที่ยวช่วยทำให้ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละเชื้อชาติ ได้ทำความเข้าใจถึงแนวคิดและกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณี ช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และมีพัฒนาการทางมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถเปิดใจยอมรับแนวคิดใหม่ๆ หรือเข้าใจถึงกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันได้ง่ายขึ้น

และประเทศไทยสำหรับท่านทูตเอมิลิโอ กาลาเบีย ก็ไม่ใช่ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่ทำงานแปลกใหม่ เพราะมีประสบการณ์ตั้งแต่ครั้งแรกในตำแหน่งเลขานุการเอก (ค.ศ.1996-1997) และครั้งที่สองในตำแหน่งอุปทูต (ค.ศ.1997-1999) ของสถานทูตสเปนประจำประเทศไทย

“ตำแหน่งล่าสุดของผมที่กรุงมาดริด คือรองอธิบดีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิก และฟิลิปปินส์ (Deputy Director-General for Southeast Asia, the Pacific and the Philippines) เป็นเวลานานถึงหกปี ดังนั้น ก่อนที่จะเดินทางมารับหน้าที่เป็นเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยในครั้งนี้ ผมก็ทราบถึงประเด็นต่างๆ ในกรุงเทพฯ หมดแล้ว”

เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ปี ค.ศ. 2017