เทศมองไทย : ศึกตะวันออกกลาง ป่วนน้ำมันโลกสะเทือนไทย

เยเมนมีสงครามกลางเมืองมาเนิ่นนานเต็มที ปีนี้ถือเป็นปีที่ 15 เข้าไปแล้ว ที่กองกำลังกบฏของกลุ่มชาติพันธุ์ฮูธีลุกฮือขึ้นแย่งชิงการปกครองจากอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ ประธานาธิบดีผู้รวมชาติเยเมนเหนือกับเยเมนใต้ขึ้นเป็นสาธารณรัฐเยเมนในราวกลางปี 2004

จากการก่อกบฏกลายเป็นสงครามกลางเมือง และทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังจากกลายเป็น “สงครามตัวแทน” ในระยะหลังนี้

เป็นสงครามตัวแทนระหว่างอิหร่าน ฝ่ายหนึ่งซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มฮูธี ที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ในขณะที่คู่แข่งอิทธิพลในตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย ให้การสนับสนุนรัฐบาลเดิมที่กลายเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของประธานาธิบดีอาดรับบูห์ มันซูร์ ฮาดี ที่สืบทอดตำแหน่งจากประธานาธิบดีซาเลห์

ต่างชาติเข้าแทรกแซงมา 5 ปี ยิ่งสู้รบกันหนักหน่วงรุนแรง ทำผู้คนล้มหายตายจากไปเป็นเรือนแสน ยังไม่ยุติ

แต่ไม่เคยส่งผลสะเทือนถึงเอเชียและถึงไทยเหมือนเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา

 

ฮูธี หรือไม่ก็อิหร่าน ใช้วิธีหนึ่งวิธีใดยังไม่แน่ชัด โจมตีสถานที่สำคัญในการผลิตน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย แห่งแรกเป็นโรงแปรรูปน้ำมันที่เมืองอับคออิค แห่งที่สองเป็นบ่อน้ำมันใกล้เคียงกันที่เมืองคูราอิส ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ตัวโรงงานกับบ่อน้ำมันเสียหายหนัก จำเป็นต้องปิดทำการจนกว่าจะซ่อมแซมทุกอย่างให้กลับคืนสู่สภาพปกติอีกครั้ง

ทั้งหมดนั้นยังคงจำกัดเป็นเพียงแค่ปัญหาของซาอุฯ กับอิหร่านและคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง ถ้าหากไม่บังเอิญว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ปริมาณการป้อนน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกของซาอุดีอาระเบียหายไปถึงเกือบครึ่ง คือหายไปราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก เหตุการณ์นี้ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งโลกอย่างช่วยไม่ได้

ราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าในตลาดโลกพุ่งสูงแบบก้าวกระโดด เปิดตลาดวันจันทร์ขึ้นมาไม่กี่ชั่วโมง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นระดับราคาที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือนไปชั่วข้ามคืน

นักวิเคราะห์ในแวดวงการค้าน้ำมันโลกบอกว่า เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อเอเชียมากเป็นพิเศษ ด้วยเหตุผลสำคัญสองสามประการด้วยกัน นอกเหนือจากเหตุผลพื้นฐานคือปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงเฉียบพลันแล้ว

ประเด็นแรกสุดคือ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่ส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกโดยรวมก็จริง แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ของซาอุดีอาระเบียเป็นชาติในเอเชีย ราว 80 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันดิบทั้งหมดที่ซาอุดีอาระเบียส่งออกนั้น เป็นการส่งออกไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกทั้งหลาย ตั้งแต่ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, จีน รวมทั้งชาติบริโภคน้ำมันในอาเซียนอย่างไทยเรา

เมื่อศักยภาพในการผลิตของผู้ส่งออกรายสำคัญของเอเชียอย่างซาอุดีอาระเบียหายไปเกือบครึ่ง ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศเหล่านี้โดยตรง และมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอื่นของโลกที่ไม่ได้เป็นผู้ซื้อโดยตรง เพียงแค่ได้รับผลกระทบจากราคาเท่านั้น

 

ทําไมไทยหรือประเทศอื่นๆ ในเอเชียเราถึงได้เจาะจงซื้อแต่น้ำมันจากซาอุดีอาระเบียเป็นหลัก?

คำตอบคือเหตุผลประการที่ 2 ที่ทำให้ชาติในเอเชียตะวันออกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์ครั้งนี้

นั่นคือ ซาอุดีอาระเบียเป็นเพียงไม่กี่ชาติที่มีโรงงานแปรรูปน้ำมันดิบดูไบ ซึ่งเป็นชื่อเรียกสั้นๆ สำหรับชนิดของน้ำมันดิบจากแหล่งน้ำมันดิบในตะวันออกกลาง ที่มีคุณลักษณะเหนียวหนืดและมีกำมะถันสูง ซึ่งฝรั่งเรียกว่าน้ำมันดิบชนิดเฮฟวี่ แอนด์ ซาวร์ (หนักและเปรี้ยว) เพื่อเปลี่ยนให้เป็นน้ำมันดิบชนิดที่มีความข้นน้อยกว่าและมีกำมะถันต่ำ ซึ่งเรียกกันว่าไลต์ แอนด์ สวีต (เบาและหวาน)

ความต่างของน้ำมันดิบทั้งสองชนิด ส่งผลให้โรงกลั่นน้ำมันดิบทั้งสองชนิดแตกต่างกันออกไปด้วย โรงกลั่นในเอเชียส่วนใหญ่ใช้กลั่นน้ำมันดิบไลต์สวีตเท่านั้น รวมทั้งโรงกลั่นของไทย

โรงงานแปรรูปน้ำมันดิบที่อับคออิคที่ถูกโจมตีในครั้งนี้ คือโรงงานแปรรูปน้ำมันให้เป็นชนิดไลต์สวีต เพื่อขายให้กับภูมิภาคเอเชียนั่นเอง เมื่อเสียหายไปย่อมส่งผลกระทบต่อเอเชียโดยตรง

ตลาดน้ำมันดิบไลต์สวีตที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีอยู่ 2 แห่ง คือตลาดเท็กซัส อินเตอร์มีเดียต (ดับเบิลยูทีไอ) ที่ภูมิภาคเอเชียใช้ราคาของที่นั่นเป็นราคาอ้างอิง กับตลาดขายน้ำมันดิบชนิดไลต์สวีตที่ดีที่สุดในโลก คือตลาดน้ำมันดิบเบรนต์จากทะเลเหนือที่ลอนดอน

การที่สหรัฐอเมริกาประกาศให้นำน้ำมันดิบในคลังน้ำมันสำรองเชิงยุทธศาสตร์ออกมาขายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ช่วยทำให้ราคา “นิ่ง” ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ช่วยชาติเอเชียรวมทั้งไทยมากไปกว่านั้น

 

นี่คือเหตุผลประการที่สามที่ทำให้ชาติในเอเชียตะวันออกไกลมีปัญหากับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ

น้ำมันดิบที่ผลิตได้ในซาอุดีอาระเบีย ส่งออกผ่านราส ทานูรา เมืองท่าสำหรับการส่งออกน้ำมันของซาอุฯ เพื่อเดินทางมายังท่าเรือสิงคโปร์ ใช้เวลาในการเดินทาง 19-20 วัน

ถ้าเราสั่งซื้อน้ำมันจากสหรัฐอเมริกา น้ำมันจะถูกลำเลียงลงสู่เรือที่ท่าเรือฮุสตัน กว่าจะเดินทางถึงสิงคโปร์ ใช้เวลา 54 วัน กว่าจะผ่านการแปรรูปเพื่อเป็นน้ำมันสำหรับจำหน่ายหน้าปั๊มในประเทศไทย กินเวลานานไม่น้อยกว่าสองเดือน ประเทศไหนมีน้ำมันสำรองนานขนาดนั้น ก็สามารถสั่งซื้อได้ตั้งแต่บัดนี้

แต่ถ้ามีคลังน้ำมันสำรองไม่เพียงพอ ก็ต้องเป็นปัญหาใหญ่หลวงแล้วละครับ