เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ประสบการณ์อ่านและเรียนรู้ อาชีพที่ถูกเปรียบว่าไส้แห้ง

การมีอาชีพนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ เมื่อก่อนนั้น เป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงแม้แต่น้อย ดังที่มีคำกล่าวถึงการเป็นนักเขียน มักพูดกันว่า “นักประพันธ์ไส้แห้ง” แต่ยังมีผู้ที่หลงใหลในอาชีพนี้ไม่น้อย

หัสเดิมเริ่มแรกของการเข้ามามีอาชีพนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ของใครคนใดคนหนึ่ง คนนั้นมักจะเป็นนักอ่านมาก่อน ครั้งที่แล้วผมว่าถึงการพูดคุยกันระหว่าง พี่เสถียร จันทิมาธร กับ ขรรค์ชัย บุนปาน ที่เกิดขึ้นระหว่างห้วงเวลาพักชั่วโมงเรียน ไม่แต่เพียงจะพูดคุยถึงนักเขียนต่างประเทศเท่านั้น ยังพูดคุยกันถึงนักเขียนไทยรุ่นก่อนด้วย บางคนผมรู้จักจากงานเขียน บางคนไม่รู้จักมาก่อน

อาทิ ครูมาลัย ชูพินิจ อิศรา อมันตกุล สด กูรมะโลหิต มนัส จรรยงค์ “ศรีบูรพา” – กุหลาบ สายประดิษฐ์ เสนีย์ เสาวพงศ์ และที่มีเรื่องให้พูดคุยกันจากงานเขียนซึ่งเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เข้ามาเป็นนักเขียนนักหนังสือพิมพ์คือ “หม่อมเจ้าอากาศดำเกิง” ผู้เขียนละครแห่งชีวิต มีตัวชูโรงเป็นนักหนังสือพิมพ์

ในจำนวนนั้นมี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมอยู่ด้วย พร้อมกับนักเขียนรุ่นก่อนนั้นและรุ่นเดียวกันนั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนที่ต่อสู้กับเผด็จการมานักต่อนัก เช่น สุวัฒน์ วรดิลก ทวีป วรดิลก ฯลฯ

ขรรค์ชัย บอกไว้ในหนังสือ เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์ ว่า

“ความจริงนะต้องบอกลูกบอกหลาน บอกกับทุกคนที่อยู่ในอาชีพนี้ หนังสือหรือกลอนเราจะเขียนไม่ได้ เขียนไม่ออกเลย ถ้าเราไม่อ่านก่อน มันจะไม่มีคำเขียน ไม่รู้เอาคำอะไรมาเขียนต่อๆ กันแล้วมันจะเพราะ มันจะรื่นหู เราต้องอ่านมาก่อน พออ่านเยอะๆ อ่านมากเข้า สมองเราจะสะสมคำไปในตัว เราจะจำคำได้เยอะ เรียกว่ามีสต๊อกคำศัพท์สะสมในสมองเยอะ ของพวกนี้ใครก็เอาของเราไปไม่ได้ พอเรามีคำเยอะ อยากหยิบเอามาใช้ตอนไหนก็สะดวก จะเดินอยู่ข้างถนน หรือนั่งในห้องน้ำ เราก็คิดของเราได้”

เด็กรุ่นผมเติบโตพอรู้ความรุ่นสุดท้ายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทันกับเหตุการณ์เลือกตั้งสกปรกปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2500 มีเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงของนิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลัก

จากนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ผมกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันจึงเป็น “เด็กในยุคปฏิวัติของข้าพเจ้า” ที่เป็นยุคเผด็จการตั้งแต่นั้น ต่อเนื่องถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร ก่อนมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

เด็กยุคนั้นจึงเติบโตมาด้วยแนวทางความคิด 2 ด้าน คือด้านเผด็จการ และด้านประชาธิปไตย

เด็กที่อยู่ในฝั่งเรียกร้องประชาธิปไตย คือเด็กที่อ่านหนังสือ ศึกษาความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สุดมีโอกาสเข้าร่วมเป็นนักเคลี่อนไหวทางการเมือง

ก่อนจอมพลสฤษดิ์จะถึงแก่อสัญกรรม เมื่อเดือนธันวาคม 2506 ผมโตพอที่จะพูดคุยกับน้าสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ และอ่านหนังสือพิมพ์ ติดตามข่าวทางการเมือง รวมทั้งรู้จักกับ ขรรค์ชัย บุนปาน สุจิตต์ วงษ์เทศ ทั้งรู้จักกับ พี่เสถียร จันทิมาธร แล้ว

ย่ำค่ำคืนหนึ่ง เมื่อผมกลับจากเรียนที่วิทยาลัยครูสวนสุนันทา เข้าบ้าน ขึ้นไปพบน้าสำราญบน “เล่าเต๊ง” คือชั้นสองของตึกแถว น้าสำราญบอกว่า “ปั๋ง ครูมาลัยตายแล้ว”

ที่มีการบอกเล่ากันอย่างนั้น เนื่องจากห้วงเวลานั้น รุ่นราวคราวเดียวกันอ่านหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยต่างรู้จักนักเขียนนาม “มาลัย ชูพินิจ” จากงานเขียนหลากหลายนามปากกา ผมอ่านเรื่องที่ครูมาลัยเขียนแทบทุกวันในคอลัมน์ระหว่างบรรทัด ใช้นามปากกา “น้อย อินทนนท์”

ครูมาลัย ชูพินิจ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2506 ด้วยอายุ 57 ปี (25 เมษายน 2449 – 20 สิงหาคม 2506)

หลังครูมาลัยเสียชีวิต มีผู้เขียนถึงจำนวนมาก ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง กวีหญิงผู้หนึ่งคือ นภาลัย ฤกษ์ชนะ สุวรรณธาดา เขียนบทกลอนจบบาทสุดท้ายให้จดจำถึงวันนี้ คือ

“แม้ไม่เหลือมาลัยในปฐพี ก็ยังมีมาลัยคล้องใจคน”

ประวัติโดยละเอียดของครูมาลัย ชูพินิจ ตีพิมพ์ในหนังสือ นักเขียน ฉบับพิเศษ 5 พฤษภาคม 2549 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย “ศรีศตวรรษ พุทธธรรม พุทธทาส – ร้อยมาลัย ร้อยปี มาลัย ชูพินิจ”

 

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าทำไมผมจึงเรียก “มาลัย ชูพินิจ” ว่า “ครู” ทั้งที่ไม่เคยสอนผม หรือผมเคยรู้จักท่าน คำเฉลยเป็นเพราะในวงการนักเขียนนักหนังสือพิมพ์เด็กรุ่นหลังมักเรียนขานนักเขียนนักหนังสือพิมพ์รุ่นก่อนตามรุ่นพี่ที่เรียกกัน เช่น “ครูมาลัย” ลุงแจ๋ว (สง่า อารัมภีร) ครูพัฒน์ (พ. เนตรรังษี) ท่านผู้นี้เคยมีอาชีพครู อาจวง (จวงจันทร์ จันทรคณา – พรานบูรพ์) หรือรุ่นหลังๆ พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ “พี่ปุ๊” (“รงค์ วงษ์สวรรค์) แม้แต่ “พี่เส” เสนีย์ เสาวพงศ์ พวกเราในมติชนต่างเรียกพี่ไปตามๆ กัน เป็นต้น

ก่อนโรงพิมพ์พิฆเณศจะก่อตั้งขึ้น ผมมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ไม่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชนขึ้นในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ พร้อมเปิดให้บรรณาธิการและผู้ทำงานด้านหนังสือพิมพ์เข้าเรียนในวิชาการหนังสือพิมพ์ หลักสูตรประกาศนียบัตร 3 ปี ดังกล่าวไปแล้ว

การเรียนในวิชาการหนังสือพิมพ์ ผมได้ประโยชน์จากการเรียนการสอนอย่างมาก ตั้งแต่วิชาการเขียนข่าว การสื่อข่าว การบรรณาธิกร วิชาปรัชญา วิชากฎหมายว่าด้วยหมิ่นประมาททั้งอาญาทั้งแพ่ง การเขียนบทบรรณาธิการ การสัมภาษณ์ วิชาประชามติ และภาษาอังกฤษ

มหาวิทยาลัยเปิดการเรียนเป็น 2 ภาค ใช้ปีกขวาด้านหลังของตึกโดมเป็นห้องเรียนใหญ่ (หันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา) แม้หลักสูตรจะเปิดให้เรียน 3 ปี และเปิดรับสมัครเพียง 3 รุ่น ก็ปิด แต่ยังให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนถึง 7 ปี ระหว่างนั้นผมเข้ารับการเกณฑ์ทหาร จึงมีเวลาอ่านหนังสือ ปีหลังๆ สอบได้หลายวิชา

การสอบมีทั้งสอบผ่านและสอบไม่ผ่าน กระทั่งปีสุดท้ายของหลักสูตร มีเพื่อนหลายคนสอบผ่านประกาศนียบัตร ขึ้นไปเรียนในระดับปริญญาตรีและสำเร็จปริญญาตรี เป็น “วารสารศาสตรบัณฑิต”

ผมสอบผ่านได้ทุกวิชาเว้นวิชาสุดท้ายซึ่งเป็นภาคเรียนสุดท้ายคือวิชาประชามติ สอบมา 2-3 ครั้งปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน จึงไม่ได้ทั้งประกาศนียบัตรและขึ้นไปเรียนปริญญาตรีตามที่คาดหวังไว้ ได้แต่ปลงว่าคงไม่มีโอกาสได้ปริญญาตรีกับใครเขาแน่

กระนั้น ยังปลอบใจตัวเองว่า แม้ไม่มีปริญญาแต่ได้ประสบการณ์ไม่น้อยในวิชาการหนังสือพิมพ์มาทำมาหากินถึงทุกวันนี้