หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ/ ‘เขี้ยว’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - ก่อนการใช้เขี้ยว อันเป็นเครื่องมือสำคัญ เสือจะใช้วิธีการซุ่มรอจนเหยื่อเข้ามาใกล้

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เขี้ยว’

 

หลายปีกับโอกาสที่ได้อยู่ร่วมกับงานวิจัยเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ มีบทเรียนมากมายที่เสือ “สอน” เอาไว้

โดยเฉพาะในเรื่องของ “ระยะห่าง”

สัตว์ป่าเป็นครูซึ่งไม่ได้สอนด้วยคำพูด

พวกมันสอนด้วยการกระทำ

วันหนึ่ง เสือซึ่งเปรียบเสมือนครูใหญ่ สอนผมอย่างใกล้ชิด

โดยใช้เขี้ยวของมันเป็นเครื่องมือ…

 

“เขี้ยวเสือ”

เมื่อพูดถึงคำนี้ ก็มักหมายถึงเครื่องรางของขลัง อันเป็นที่ต้องการอย่างมากของคนที่เชื่อมั่นในสิ่งของเหล่านี้

แต่หากเป็นในงานของนักวิจัย ที่ศึกษาเรื่องสัตว์ผู้ล่า เขี้ยวเสือบอกอะไรๆ ได้หลายอย่าง

ความสมบูรณ์แข็งแรงของเขี้ยวเสือ บอกให้รู้ว่า มันจะแกร่งและครอบครองพื้นที่ไปได้อีกนาน

หากเขี้ยวสึกกร่อนหรือหัก ไม่สมบูรณ์ นักวิจัยก็รู้ว่า เสือตัวนี้ย่อมจะพบกับหนทางชีวิตอันยากลำบากแล้ว

เกิดเป็นเสือ ชีวิตพวกมันขึ้นอยู่กับการล่าที่ประสบผลสำเร็จ

อาวุธที่สำคัญที่สุดของมันคือเขี้ยว

เสือจะหมอบ ย่อง หรือซุ่มรอจนได้ระยะ มันจะกระโจนเข้าหาเหยื่อ แม้ว่าเหยื่อจะมีขนาด รวมทั้งน้ำหนักมากกว่าก็เถอะ มันใช้เล็บแหลม กดลงไปในร่างเหยื่อให้ลึกที่สุด จากนั้น จึงลงเขี้ยวบริเวณลำคอด้านหลัง

นี่คือการทำให้ระบบประสาทของเหยื่อถูกทำลาย และสิ้นใจอย่างรวดเร็ว

หากเป็นเหยื่อที่ขนาดไม่ใหญ่มากนัก หรืออายุยังน้อยๆ การกัดแถวลำคอด้านหลังจะทำให้กระดูกกะโหลกส่วนหลังแตก

ตอนร่วมกับทีมติดตามการทำงานของเสือ เราพบซากที่มีลักษณะนี้บ่อยๆ…

รอบๆ บริเวณ ไม่มีร่องรอยดิ้นรน

เหยื่อสิ้นใจก่อนจะรู้ตัว

เสือใช้เวลาเพียงชั่วครู่ในการทำงาน

 

เขี้ยวเสือมีลักษณะเป็นรูปลิ่ม แหลมคม และมีเส้นประสาทรับรู้ต่อแรงกดจำนวนมาก กล้ามเนื้อกรามมีปฏิกิริยาตอบสนองรวดเร็วกว่ากล้ามเนื้อส่วนอื่น

สิ่งสำคัญอีกประการคือ ขนาดและรูปร่าง เขี้ยวเสือนั้นถูกออกแบบมาให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการแทงทะลุผ่านชั้นกล้ามเนื้อแถวคอของเหยื่อ

เสือมีฟันน้ำนมจำนวน 24 ซี่ ฟันจะเปลี่ยนเป็นฟันแท้เมื่ออายุราว 5 เดือน มีฟันหน้าซ้าย ขวา ข้างละ 3 ซี่ เขี้ยวซ้าย ขวา ข้างละหนึ่งซี่

รวมทั้งหมด เสือจะมีฟัน 28-30 ซี่

โครงสร้างของฟันเสือ เหมาะสมกับการเป็นสัตว์กินเนื้อ อีกทั้งเสือจะมีหน้าสั้นกว่าสัตว์กินเนื้อชนิดอื่นเพราะจำนวนฟันที่ลดลง

นี่คือเหตุผลอันทำให้เสือเพิ่มแรงกดที่เขี้ยวได้มากขึ้น เพราะเขี้ยวอยู่ใกล้จุดต่อกับกรามที่แข็งแรง

การกัดได้อย่างรุนแรง หนักหน่วงนี้ เพื่อให้เหยื่อสิ้นใจโดยเร็วไม่ทรมาน…

 

ตลอดเวลาที่อยู่กับทีมวิจัย

เสือโคร่งหลายตัวได้รับการสวมปลอกคอติดวิทยุเพื่อติดตามการดำเนินชีวิตของมัน

ขณะเสืออยู่ในฤทธิ์ยาสลบ ร่างกายของมันจะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด

เขี้ยวทั้งสองถูกวัดขนาดทุกครั้ง

เมื่อได้สัมผัส ผมพบว่า ขนเสือนุ่มกว่าที่เคยคิด อุ้งตีนไม่หยาบกร้าน กลิ่นกายไม่ได้เหม็นอย่างที่เข้าใจ

ในสภาวะนี้ การโอบกอดทำได้

หากในภาวะปกติ การอยู่ใกล้ชิดหรือทำเช่นนี้ ย่อมไม่มีหนทาง

กระนั้นก็เถอะ วันหนึ่งเสือที่อยู่ในสภาวะปกติตัวหนึ่ง

ให้โอกาสผมเห็นเขี้ยวมันอย่างใกล้ชิด

 

หลังเคารพธงชาติตอนแปดโมงเช้า ก่อนเข้าป่าเพื่อทำงานตามหน้าที่

ผมเดินจากบ้านพักไปที่ครัวที่เราใช้กินข้าว ใบหน้าครึ่งหนึ่งปิดด้วยผ้าพันแผล มือด้านซ้ายก็ถูกพันไว้ด้วยผ้าพันแผลเช่นกัน แขนทั้งสองข้างมีร่องรอยขีดข่วนเป็นทาง

“สวัสดีตอนเช้า เป็นอย่างไรบ้าง” ดร.เดวิด ชายอาวุโสจากมินนิโซตา ผู้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาทีมวิจัยเสือโคร่ง ทักทาย

ผมตอบคำทักทายเบาๆ การขยับใบหน้า ทำได้ไม่ถนัดนัก ผ่านมาหนึ่งคืน บาดแผลเริ่มระบม

“นอนหลับไหมครับ” ดร.เดวิด ที่พวกเราเรียกเขาว่าเดฟ ถามต่อ

ผมส่ายหน้าช้าๆ

“ปวดแผล หรือคิดถึงเรื่องเมื่อวาน” น้ำเสียงเขาเจือความกังวล

“ทั้งสองอย่างเลยครับ”

ปวดเพราะแผลระบมนั้นเรื่องหนึ่ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผมเมื่อวาน ด้วยสมรรถภาพของเสือโคร่ง

ดูเหมือนบาดแผลที่ผมได้รับ ช่างน้อยนิด…

 

“เรื่องนี้จะทำให้คุณได้หยุดคิดอะไรๆ ได้ดีขึ้น” เดฟพูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง

หลังกินข้าว เขาชงกาแฟหอมกรุ่น และชงโกโก้ร้อนให้ผม

ขณะศึกษาระดับปริญญาเอกที่เนปาล เขาถูกแรดนอเดียววิ่งเข้าชนได้รับบาดเจ็บสาหัส

เขาถูกส่งตัวมารักษาต่อที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ

“เราทำงานในป่า ไม่แปลกหรอกที่เราจะเจออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ป่า” เดฟพูดเบาๆ

ผมรับคำ เห็นด้วยกับเขา…

 

เสือกระโจนเข้าหา ทับผมล้มลง ตีนมันตบเข้าใบหน้าด้านขวา

อ้าปากกว้าง เขี้ยวแหลมพร้อมบดขยี้

ความแข็งแกร่งของเขี้ยวทำให้เลนส์เทเลโฟโต 300 มิลลิเมตร หักสะบั้น

เพราะเลนส์ที่ผมใช้ดันเข้าปากเสือ

ทำให้ผมไม่บาดเจ็บมากไปกว่านี้

 

21.45 นาฬิกา

ผมนั่งอยู่บนขั้นบันไดบ้านพัก คืนข้างแรม ท้องฟ้ามืดสนิท ดาวส่องประกายระยิบ

“ได้หยุดคิดอะไรๆ บ้าง” ผมนึกถึงที่เดฟพูด

จะไม่เกิดเหตุการณ์นี้หรอก ถ้าผมเคารพกฎในการอยู่ร่วมกัน รักษาระยะห่างไว้

ผมนึกถึง “เขี้ยว” ที่เห็นใกล้ๆ

ไม่ใช่เลนส์ 300 มิลนั่นหรอกที่ช่วยเอาไว้

เจตนาเพียงแค่อยาก “สั่งสอน” ของเสือต่างหาก ทำให้ผมมีบาดแผลแค่นี้

บาดเจ็บเพราะครูผู้สอนคือเสือ คล้ายเป็นเรื่องธรรมดา

 

บทเรียนที่เสือสอนบทนี้ ผมจำได้ขึ้นใจ

สำหรับสัตว์ป่า พวกมันอนุญาตให้เข้าใกล้ได้เพียงระยะหนึ่ง

ผมจะถอยห่างออกมาอีกสักหน่อย

เพื่อที่ว่า ระหว่างเรา สัตว์กับคน

จะเข้าใกล้กันได้มากกว่าเดิม…