วิเคราะห์ : มอง 2 ฝั่ง หนุน-ค้าน อินโดนีเซียย้ายเมืองหลวง

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทันทีที่นายโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ตัดสินใจย้ายเมืองหลวงจาก “จาการ์ตา” บนเกาะชวาไปตั้งในบริเวณจังหวัดคาลิมันตัน เกาะบอร์เนียว ห่างกัน 1,300 กิโลเมตร มีเสียงทั้งสนับสนุนและวิพากษ์วิจารณ์

ความจริงแล้วแนวคิดการย้ายเมืองหลวงจาการ์ตาเริ่มมาตั้งแต่สมัยนายซูการ์โน ผู้นำคนแรกของอินโดนีเซีย เมื่อ 70 ปีก่อน

เวลานั้นนายซูการ์โนเห็นว่าจาการ์ตาหรือปัตตาเวียคือสัญลักษณ์อาณานิคมของดัตช์

การย้ายเมืองหลวงออกไปเท่ากับเป็นการลบภาพเก่าๆ ที่ดัตช์เคยครอบครองอินโดนีเซีย

สำหรับนายโจโกวีมีแนวคิดย้ายเมืองหลวงหลังได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำอินโดนีเซียเมื่อปี 2559 เพราะมองว่ากรุงจาการ์ตาไม่ใช่สัญลักษณ์ของประเทศอินโดนีเซีย

และปัจจุบันเป็นเมืองไม่น่าอยู่น่าอาศัย

 

“จาการ์ตา” มีประชากรอยู่กันอย่างแออัด เต็มไปด้วยปัญหาหมักหมมสารพัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจราจรติดขัด ควันพิษ หมอกควัน น้ำเน่าเสีย สลัม หรือต้องเผชิญความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด

เมื่อปีที่แล้ว “จาการ์ตา” เพิ่งถูกขึ้นบัญชีดำให้เป็นเมืองเปื้อนมลพิษอันดับ 1 ของโลก

สาเหตุหลักๆ มาจากการที่รถนานาชนิด ทั้งรถเก๋ง รถบรรทุก มอเตอร์ไซค์ สามล้อ พากันปล่อยควันพิษบนท้องถนนมากเกินไป

ชาวจาการ์ตาซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซค์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9 เปอร์เซ็นต์ ถนนจึงอัดแน่นไปด้วยยานพาหนะ

ช่วงเวลาเร่งด่วน ระยะทาง 5 กิโลเมตร รถยนต์ในกรุงจาการ์ตาใช้เวลาแล่น 2 ชั่วโมง

สภาพปัญหาจราจรของจาการ์ตาเป็นโจทย์ที่แก้ยาก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านขนส่งมวลชน แต่ทำได้กระท่อนกระแท่นเนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวจาการ์ตา 30 คนรวมตัวยื่นฟ้องร้องรัฐบาลเรียกร้องค่าเสียหาย อ้างว่าล้มเหลวในการจัดการควันพิษทำลายสุขภาพประชาชน

 

นอกจากปัญหาควันพิษแล้ว “จาการ์ตา” ยังมีปัญหาหนักหนาสาหัส นั่นคือ ชายฝั่งทรุดตัว

ทุกๆ ปีชายฝั่งทางด้านทิศเหนือของจาการ์ตาทรุดตัวลงปีละกว่า 2 นิ้ว สาเหตุมาจากชาวเมืองพากันลักลอบเจาะบ่อบาดาลดึงน้ำมาใช้ในครัวเรือน โรงงานอุตสาหกรรม

พื้นที่ราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของจาการ์ตาอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล

ทุกครั้งที่ฝนตกหรือน้ำทะเลหนุนสูงก็จะเกิดปัญหาน้ำท่วมขังตามมา

คาดการณ์กันว่าภาวะโลกร้อนจะทำให้กรุงจาการ์ตาเป็นเมืองหลวงแรกๆ ของโลกที่เผชิญกับน้ำทะเลท่วมสูง

แนวคิดย้ายเมืองหลวงของ “โจโกวี” ได้รับแรงหนุนจากหลายฝ่าย

แต่ฝ่ายเห็นแย้งวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลนายโจโกวีจะได้ประโยชน์มหาศาลจากแผนการย้ายเมืองหลวง เช่น ส่งคนไปกว้านซื้อที่ดินไว้ล่วงหน้า เตรียมแผนสร้างอาคารศูนย์การค้า หมู่บ้านไว้รองรับ

 

ย้อนอดีตกลับไปเมื่อราว 30 ปี สภาพปัญหา “จาการ์ตา” ในความเป็นเมืองไม่น่าอยู่ ถ้ามองเปรียบเทียบกับกรุงเทพมหานคร หรือเมืองใหญ่ๆ ของโลก มีความเหมือนกันเป๊ะๆ

ผู้นำอินโดนีเซียในขณะนั้นพยายามผลักดันประเทศให้ก้าวข้ามความล้าหลัง ความด้อยพัฒนา วิธีการที่นิยมกันคือการใช้แนวนโยบายเศรษฐกิจเสรี เปิดประตูให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างไร้ขีดจำกัด

เป้าหมายคือต้องการให้เงินไหลเข้ามาในอินโดนีเซีย

“จาการ์ตา” กลายเป็นจุดเด่นของนักลงทุนต่างชาติเพราะเป็นศูนย์กลางของการบริหารประเทศและมีความเจริญมากที่สุด

เงินที่ทะลักเข้าไปเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของโรงงาน ตึกคอนโดฯ ศูนย์การค้า หมู่บ้าน ทั่วกรุงจาการ์ตา แต่การเติบโตของเมืองเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐคอร์รัปชั่นร่วมมือกับกลุ่มนายทุนหลีกเลี่ยงกฎหมาย รุกล้ำพื้นที่สาธารณะหรือก่อสร้างอาคารโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

การบังคับใช้กฎหมายล้มเหลว ระบบผังเมืองไร้ประสิทธิภาพ ประกอบกับผู้คนในชนบทหลั่งไหลเข้ามาทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกสารพัด

จำนวนประชากรในกรุงจาการ์ตาจากเดิมแค่ 5 ล้านคน ในห้วงเวลาเพียง 3 ทศวรรษ พื้นที่ของกรุงจาการ์ตารวมกับเขตเทศบาลอีก 12 แห่ง มีประชากรแห่เข้าไปอยู่อาศัยเกือบ 20 ล้านคน

 

เมื่อความเป็นเมืองเติบโตอย่างไร้ทิศทางเช่นนี้จึงนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมม แก้ยังไงก็ไม่จบสิ้น หรือถ้าจะรื้อฟื้นล้างพิษก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

รัฐบาล “โจโกวี” ประเมินว่าการปรับโฉมกรุงจาการ์ตาให้เป็นเมืองน่าอยู่อีกครั้งต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

“โจโกวี” ตัดสินใจทิ้ง “จาการ์ตา” เพราะคิดว่าลงทุนไปก็ไม่คุ้ม และการย้ายเมืองหลวงไปที่ใหม่เพราะไม่ต้องการให้ติดกับกับสภาพปัญหาที่แก้ไม่ได้ เช่น การทรุดตัวของชายฝั่งและมลพิษ

สำหรับเมืองหลวงแห่งใหม่ผู้นำอินโดฯ วาดหวังให้เป็นเมืองสีเขียวยั่งยืนและมีระบบบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพ ใช้ 3 ประเทศเป็นโมเดลคือ สิงคโปร์ซึ่งปลูกต้นไม้ร่มรื่นเขียวชอุ่มและมีการดูแลรักษาความสะอาด

โมเดลกรุงโซล เกาหลีใต้ สำหรับการบริหารจัดการเมืองที่มีประสิทธิภาพทันสมัย

ส่วนการจัดผังเมืองแบ่งพื้นที่เป็นเขตธุรกิจ พื้นที่สำหรับภาครัฐและพื้นที่อยู่อาศัยใช้โมเดลกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

โครงการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ นายโจโกวีบอกว่า ศึกษามานาน 3 ปี ประเมินจะใช้งบฯ ราว 33,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นเงินงบฯ ของรัฐบาล 19 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมาจากการระดมทุนของภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ

 

ส่วนเกาะบอร์เนียวซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่เป็นพื้นที่ป่าชุ่มชื้นที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นแหล่งที่อยู่ของลิงอุรังอุตัง ไม่เคยมีภัยธรรมชาติร้ายแรงมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด

พื้นที่รอบๆ ของคาลิมันตัน ปัจจุบันเป็นเขตทำเหมืองแร่ถ่านหินและสวนปาล์ม

ระยะแรกของโครงการสร้างเมืองหลวงใหม่เริ่มต้นปี 2564 มีเป้าหมายก่อสร้างทำเนียบประธานาธิบดี อาคารของกระทรวงต่างๆ บ้านพักเจ้าหน้าที่รัฐ และถนนทางหลวง

ปี 2567 เริ่มแผนย้ายเมืองหลวง

ระยะ 5 ปีหลังจากนั้น ประเมินว่าเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดฯ จะมีประชากรอยู่อาศัยราว 3 แสนคน

ภายใน 10 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน พร้อมกับเตรียมแผนคุมไม่ให้มีประชากรล้นเมืองซ้ำรอยกรุงจาการ์ตา