จรัญ พงษ์จีน : โควต้า ส.ส.-ส.ว. ในคณะกรรมาธิการ

จรัญ พงษ์จีน

“ฝ่ายบริหาร” ได้แก่ “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เสียงที่ “ปริ่มน้ำ” อยู่แล้วต้องปริ่มน้ำหนักขึ้นอีก เมื่อ “พรรคเล็ก ได้แก่ “มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยศรีวิไลย์ กับ “พิเชษฐ สถิรชวาล” บัญชีรายชื่อพรรคประชาธรรมไทย กอดคอกันถอนสมอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ปลีกวิเวกไปเป็นฝ่ายค้านอิสระ

ทำให้เสียงสนับสนุนรัฐบาล “บิ๊กตู่” ที่เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรอยู่นิดหนึ่งหน่อยเดียว ยิ่งสาละวันเตี้ยลง เกินดุลอยู่ 2-3 เสียง ถือว่าเหนื่อยโคตร ถึงโคตรเหนื่อย กะพริบตาแทบมิได้ อันตรายน่าดู

ขณะที่ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ก็มิใช่ย่อย จริงอยู่ในสัดส่วนของ “วุฒิสมาชิก” ดูประหนึ่งว่าไม่วิตกกังวลอะไรสักเท่าไหร่ ดูจาก “แบ่งเค้ก” การแต่งตั้งประธานกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 26 ชุด ลงตัวด้วยความเรียบร้อย

ประกอบด้วย “นายสังศิต พิริยะรังสรรค์” เป็นประธานกรรมาธิการการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ “พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์” ประธานคณะกรรมาธิการการกีฬา “พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ”ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ “พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ” ประธานกรรมาธิการการคมนาคม

“นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” ประธานกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง “นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์” ประธานกรรมาธิการการต่างประเทศ “พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” ประธานกรรมาธิการทหารและความมั่นคงของรัฐ “พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร” ประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว “พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช” ประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น “พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์” ประธานกรรมาธิการการบริหารราชการแผ่นดิน “พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์” ประธานกรรมาธิการการพลังงาน

“นายเสรี สุวรรณภานนท์” ประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน “นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์” ประธานกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส “พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์” ประธานกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและกิจการตำรวจ “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” ประธานกรรมาธิการแรงงาน “พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง” ประธานกรรมาธิการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” ประธานกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและการโทรคมนาคม

“นายมหรรณพ เดชวิทักษ์” ประธานกรรมาธิการการศาสนา คุณธรรม จริยธรรมฯ “นายตวง อันทะไชย” ประธานกรรมาธิการการศึกษา “นายเจตน์ ศิรธรานนท์” ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข “นายกล้านรงค์ จันทิก” ประธานกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ “พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ” ประธานกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริต ประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล “นางอภิรดี ตันตราภรณ์” ประธานกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม “นายสมชาย แสวงการ” ประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค “พล.อ.ชาติอุดม ดิตถะสิริ” ประธานกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณ

ดังที่ทราบ ประธานกรรมาธิการของวุฒิสภา ลงตัวตาม “ใบสั่ง” ส่วนใหญ่คัดเกลามาจากอดีตรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ฝีมือจัดโผประสานสิบทิศของคนชื่อ “บิ๊กกี่-พล.อ.นพดล อินทปัญญา” วิป ส.ว.คนดัง เพื่อนเลิฟของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

ตอนแต่งตั้งมีสะดุดบ้างเล็กน้อย อาทิ กรรมาธิการตำรวจ ที่หวยออกที่ “พล.ต.อ.ชัชวาลย์” แทนที่จะเป็น “พล.ต.อ.อดุลย์” ที่เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.มาก่อน แต่บังเอิญว่า “พล.ต.อ.อดุลย์” ก่อนหน้านี้ เคยนั่งว่าการกระทรวงแรงงานมาล่าสุด จึงถูกโยกไปนั่งประธานกรรมาธิการแรงงาน

แต่ที่กระเพื่อมมากที่สุดคือ ประธานกรรมาธิการการทุจริต ประพฤติมิชอบฯ ซึ่งปรากฏว่ามีกรรมาธิการ “ผู้เหมาะสมกว่า” อยู่หลายคน ผ่านงานมาอย่างโชกโชน ผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทั้ง “นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ” อดีตประธาน ป.ป.ช. “นายประมนต์ สุธีวงศ์” อดีตประธานองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” แต่หวยล็อกกลับมาออกที่ “พล.ร.อ.ศิษฐวัชร” น้อง “บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร”

แค่กระเพื่อม แต่คลื่นลม “สภาบน” ไม่มีอะไรรุนแรง

 

ขณะเดียวกันหันไปดู “สภาล่าง” ผลจากการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อจัดสรรตำแหน่งกรรมาธิการสามัญ จำนวน 35 คณะ ซึ่งบรรยากาศจบลงแบบชิล-ชิล

แบ่งสันปันส่วนกันลงตัวด้วยความราบรื่น เรียบร้อย ปรากฏว่า “พรรคเพื่อไทย” ที่มี ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด หยิบชิ้นปลามันไป 10 คณะ ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมาธิการพลังงาน 2.ศึกษาธิการ 3.การศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ 4.ต่างประเทศ 5.กิจการองค์กรรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน และกองทุน 6.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ 7.คุ้มครองผู้บริโภค 8.อุตสาหกรรม 9.ป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย 10.การปกครอง

“พรรคพลังประชารัฐ” 8 ตำแหน่ง คือ 1.ประธานกรรมาธิการการตำรวจ 2.การสื่อสารและโทรคมนาคม 3.การเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน 4.กิจการสภาผู้แทนราษฎร 5.การทหาร 6.การศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 7.ป้องกันและปราบปรามฟอกเงินและยาเสพติด 8.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม

“อนาคตใหม่” 6 คณะ ประกอบด้วย 1.ประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.ความมั่นคงแห่งรัฐ 3.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน 4.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน 5.การพัฒนาเศรษฐกิจ และ 6.แรงงาน

“ประชาธิปัตย์” 4 คณะ ประกอบด้วย 1.การพาณิชย์ 2.การเกษตรและสหกรณ์ 3.สวัสดิการสังคม 4.การแก้ไขปัญหาหนี้สินแห่งชาติ

“ภูมิใจไทย” 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คมนาคม 2.ท่องเที่ยว 3.การกีฬา และ 4.สาธารณสุข

เห็นได้ว่า ในการแบ่งเค้กประธานกรรมาธิการของสภาล่าง พรรคที่ “เหนือเมฆ” เหลือรับประทานคือประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย เพราะสามารถล็อกสเป๊กเก้าอี้ประธานกรรมาธิการ แมตชิ่งกันด้วยความลงตัว กับตำแหน่งที่คนของพรรคตัวเองดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีระนาบว่าการได้ทั้งหมด

ขณะที่ “รัฐมนตรี พปชร.” จำนวนมาก ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ เป็นโควต้าของฝ่ายตรงข้ามคือ “พรรคเพื่อไทย”