หน้า 8 : ประชา(รวย)รัฐ

แม้แนวคิด “ประชารัฐ” ของรัฐบาลชุดนี้จะเป็นแนวคิดที่ดี

ดึงภาคเอกชนรายใหญ่มาร่วมกับรัฐบาล ช่วยเหลือประชาชน

ประสานทุกฝ่ายให้ช่วยกัน

คนตัวใหญ่ ต้องช่วยคนตัวเล็ก

แม้แนวคิดจะดี แต่ปฏิกิริยาที่ตอบรับกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด

เพราะมีความหวาดระแวงเกรงว่ากลุ่มธุรกิจใหญ่จะได้ประโยชน์

เพราะดูเหมือนว่าโครงการใหญ่ของรัฐบาล อะไรๆ ก็ “รายใหญ่”

อะไรๆ ก็ซีพี และ เจ้าสัวเจริญ

ดังนั้น เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ “รายใหญ่” ของ “ประชารัฐ” จะถูกจับตามองเป็นพิเศษ

ล่าสุดก็เรื่องการต่อสัญญาการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จาก 25 ปี เป็น 50 ปี

เพราะบริษัทที่ได้รับการต่อสัญญา คือ บริษัทเอ็นซีซี แมนเนจเมนท์ฯ

ของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี”

ประเด็นนี้ค่อนข้างซับซ้อนยาวนาน

“เจริญ” ได้สัมปทานศูนย์สิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2539

ระยะเวลา 25 ปี

หมายความว่าสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2564

มีความพยายามแก้ไขสัญญามาโดยตลอด

เจ้าสัวเจริญเคยเสนอขอขยายระยะเวลาสัญญาเป็น 50 ปี ตั้งแต่ปี 2551

กรมธนารักษ์ศึกษาและเสนอเข้า ครม. หลายครั้ง

แต่ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าอนุมัติ

จนเมื่อวันที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ครม.ชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็แสดงความกล้าหาญอนุมัติให้มีการต่อสัญญา

โดยไม่มีการประมูลใหม่

ทำให้ “เจริญ” หยิบชิ้นปลามันในที่ดินทำเลทองไปถึงปี 2589

เรียบร้อย “ประชารัฐ”

ประเด็นที่คนทั่วไปสงสัยและแปลกใจ ก็คือ ครม. ไม่มีการแถลงข่าวเรื่องนี้

กรมธนารักษ์ เจ้าของเรื่องก็เงียบ

จนนักข่าวสามารถเจาะข่าวได้ จึงกลายเป็นเรื่องเป็นราวในวันที่ 24 มกราคม

หลังการอนุมัติ 1 สัปดาห์

แน่นอน ทันทีที่ข่าวหลุดออกมา คนจำนวนมากก็ตั้งข้อสังเกตกับมติ ครม. ครั้งนี้ทันที

และมีการโยงกับเรื่องการซื้อที่ดินของครอบครัวหนึ่ง มูลค่า 600 ล้านบาท เมื่อปี 2556

เพราะคนซื้อมีชื่อ “เจริญ” อย่างบังเอิญ

และซื้อในช่วงที่ คนขาย เป็นผู้มีตำแหน่งบิ๊กเบิ้ม

ผ่านไป 4 ปี ที่ดินแปลงนี้ก็ยังว่างเปล่า ไม่มีการก่อสร้างอะไรเลย

ถ้าคิดดอกเบี้ยเงินกู้แค่ร้อยละ 5

4 ปี ก็เสียดอกเบี้ยไปแล้ว 120 ล้านบาท

คนในวงการอสังหาริมทรัพย์เคยสงสัยว่าเอาดอกเบี้ยทิ้งน้ำแบบนี้คุ้มไหม

วันนี้ทุกคนสรุปได้แล้วว่า…

…คุ้ม