วิช่วลคัลเจอร์ / ประชา สุวีรานนท์ / พิมพ์ดีดกับนักเขียน (1)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

พิมพ์ดีดกับนักเขียน (1)

 

ในตอนเป็นเด็ก ผมเริ่มหัดใช้พิมพ์ดีดเรมิงตัน 11 เพราะมีทั่วไปตามโรงเรียนและห้างร้าน แต่เมื่อโตขึ้นและพยายามเขียนบทความส่งตามนิตยสารจึงซื้อเป็นของตัวเอง

ตอนที่ไปซื้อนั้น โอลิมเปีย รุ่น Traveller de Luxe เป็นที่นิยมใช้กันมาก แต่เนื่องจากผมคิดว่า โอลิเวตตี้ รุ่น Lettera 32 นั้นสวยกว่า และยังมีขายอยู่บ้าง จึงเลือกเครื่องนี้

และในตอนนั้นพิมพ์ดีดกำลังจะถูกโละหรือแทนที่โดยคอมพิวเตอร์ ก็ต้องซื้อให้ได้ จำได้ว่าต้องไปเดินหาซื้อตามร้านที่หลังกระทรวงกลาโหม ริมคลองหลอด ซึ่งเป็นแหล่งเครื่องพิมพ์ดีดที่ไม่แพงนัก

ตอนนั้นแม้จะยังไม่ได้ใช้พิมพ์มากนัก แต่ก็รู้ว่าถ้าส่งต้นฉบับที่เป็นตัวพิมพ์ดีดจะทำให้แลดูเหมือนมืออาชีพจริงๆ

พิมพ์ดีดคือความเป็นนักเขียนอาชีพ

ซิลเวีย แพรธ

 

ในบทความ “พิมพ์ดีดกับการพิชิตดินแดน” (มติชนสุดสัปดาห์ ธันวาคม 2560) ผมบอกว่าต่างกับตัวพิมพ์ตะกั่ว ซึ่งมีชีวิตมานานหลายปีก่อนหน้านั้น มันคือการพิมพ์แบบ “ด้วยตัวเอง” เป็นครั้งแรก

และสิ่งที่ได้คือเอกสารที่แลดูสะอาด มีความสม่ำเสมอและเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 พิมพ์ดีดมีความสำคัญต่อรัฐ ทั้งในตะวันออกและตะวันตก เพราะทำหน้าที่กระจายคำสั่งและนำข่าวสารข้อมูลจากแดนไกลกลับมา เอกสารที่เป็นทางการหรือมีความเป็น “พระราชโองการ” กำเนิดขึ้นในยุคนี้

และต่อมา เมื่อกลายเป็นเครื่องมือของบริษัทห้างร้านหรืออุปกรณ์ส่วนตัวของคนทั่วไป พิมพ์ดีดก็แพร่ออกไปทั่วทุกมุมโลก

สำหรับนักเขียน ซึ่งเพิ่งพ้นมาจากยุคที่ยังเป็นลายมือ ต้นฉบับที่เป็นตัวพิมพ์ดีดบอกความเป็นมืออาชีพ นอกจากนั้น การแสดงพลังของการคิดและเขียนของปัจเจกชน โดยเฉพาะถ้าต้องถ่ายรูปในฐานะมืออาชีพ รูปของนักเขียนอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการปรากฏของเครื่องมือนี้ด้วย เมื่อผ่านมาราวร้อยปีและพิมพ์ดีดถูกเผยแพร่ไปกว้างมาก สิ่งนี้ก็ยังเป็นแบบแผนการถ่ายรูปของนักเขียนทั่วโลก

มารู้ทีหลังว่า นักเขียนชื่อดังหลายคน เช่น คอร์แม็ก แม็กคาร์ที, เลียวนาร์ด โคเฮน, วิลล์ เซลฟ์, เจ.ดี. ซาลิงเจอร์, โทมัส พินชอน, มาร์ติน อามิส, ฟิลิปส์ รอธ, อิตาโล คัลวิโน และซิลเวีย แพรธ ก็ใช้ Lettera 32

สำหรับแม็กคาร์ที ผู้เขียน All the Pretty Horses, The Crossing และ No Country for Old Men มีข่าวว่าเครื่องพิมพ์ดีดของเขา (ซึ่งซื้อมาในราคาห้าสิบเหรียญ) ขายในตลาดคริสตี้ส์ได้ราว 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ สิ่งนี้พิสูจน์ความศักด์สิทธิ์ของพิมพ์ดีด ทั้งๆ ที่เป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ของนักเขียน

หรือที่มีบางคนพูดถึงเครื่องมือของแมคคาร์ทีว่า “เขาใช้มีดสวิสอาร์มี่แกะรูปปั้นที่เมาท์รัชมอร์”

ฟิลิปส์ รอธ
อิตาโล คัลวิโน

 

Lettera 32 เป็นหนึ่งในตำนานของพิมพ์ดีดและวงการออกแบบโลก สมบูรณ์แบบทั้งในแง่การใช้งานและความสวยงาม มีขนาดเล็กกว่า Lettera 22 ซึ่งเป็นรุ่นที่ประสบความสำเร็จมาก่อน และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในเบสต์ดีไซน์ของศตวรรษที่ 20 โดยสถาบันเทคโนโลยีอิลลินอยส์ (ITT) ที่ชิคาโก และเป็นของสะสมในพิพิธภัณ์ศิลปะสมัยใหม่ (MOMA) ที่นิวยอร์ก

ในแง่กลไกนั้น ไม่มีอะไรแตกต่างกับรุ่นก่อนมากนัก ส่วนในแง่รูปทรงและฟังก์ชั่นต่างๆ ถือว่ายอดเยี่ยมพอกัน ทั้งสองรุ่นเป็นผลงานของมาเซลโล นิโซลี นักออกแบบชาวอิตาลี

เครื่องของผมซึ่งเป็นตัวพิมพ์ภาษาไทย มีปุ่มกดทำด้วยพลาสติก ซึ่งใช้อักษรแบบที่ฝังแน่นไม่มีการลบเลือน ด้านหลังพิมพ์ดีดมีร่อง เข้าใจว่าเวลาใช้เสร็จก็หงายเครื่องขึ้นเพื่อวางตั้ง ทำให้โต๊ะมีที่ว่างมากขึ้น เข้าใจว่าเขาสรุปจากการใช้ในสำนักงานหรือบนโต๊ะที่รกหรือมีพิมพ์ดีดวางไว้จำนวนมาก เช่น สำนักงานหนังสือพิมพ์รายวัน

Lettera 32 มีด้านล่างที่ปิดทึบ ทำให้วางบนตักได้ ซึ่งบางคนเรียกพิมพ์ดีดแบบนี้ว่าแล็ปท็อปรุ่นโบราณ หรือ ancient laptop

นับเป็นพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วที่แข็งแรงมาก ตัวถังหรือเปลือกเครื่องพ่นสีแบบขรุขระหรือมีเท็กซ์เจอร์ (ต่างกับรุ่นก่อนซึ่งใช้สีเดียวกันแต่เรียบ) แม้จะไม่มีกระเป๋าสวยเหมือนรุ่นก่อน แต่กระเป๋าพลาสติกสีดำก็แข็งแรงทนทานดี

นอกจากนั้น ยังเป็นแบบอย่างของการผลิตของสินค้าอิตาลีในช่วงทศวรรษ หกศูนย์และเจ็ดศูนย์ คือถูกส่งไปผลิตทั้งในอิตาลี สเปน และที่อื่นๆ ในยุโรป อันที่ผมมีผลิตในยูโกสลาเวีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอยู่แล้ว เพราะแตกตัวเป็นประเทศต่างๆ เช่น โครเอเชีย และมาซิโดเนีย