แยกรัชโยธินโมเดลแก้จราจร เสียงสะท้อนสู่การปฏิบัติ บิ๊ก ตร.ระดมสมองปรับแผน

ปัญหารถติดยังคงเป็นปัญหาโลกแตกของคนกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมร ที่ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นวันทำการหรือวันหยุดทำการ เสาร์ อาทิตย์ แทบไม่ต่างกัน ทุกหัวถนนต่างคับคั่งไปด้วยยวดยานพาหนะ

ที่ล่าสุดจุดที่ติดขัดอย่างหนัก คือจุดที่กำลังก่อสร้างรถไฟฟ้า หรืออุโมงค์ทางลอด ภาระการจัดการจราจรตกอยู่กับตำรวจจราจร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณแยกรัชโยธิน เป็นถนนเส้นหลักที่รองรับยวดยานพาหนะ จากหลายเส้นทาง อาทิ ถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต จึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีการจราจรหนาแน่น เมื่อการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดินหน้าจัดสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 2 ปี ส่งผลให้มีการรื้อถอนสะพานข้ามแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ทดแทนในการข้ามแยก

โดยพบว่าผู้สัญจรไปมาในเส้นทางดังกล่าว สะท้อนปัญหารถติดมากน้อยผ่านโซเชียลมีเดียและสื่อกระแสหลักไม่เว้นแต่ละวัน

เจ้าหน้าที่ตำรวจทดลองปิดสะพานข้ามแยกดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2559 และปิดถาวร วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 เวลา 01.00 น. เป็นต้นมา ในบางวันพบรถยังเคลื่อนตัวได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมความพร้อม วางแผนการเดินทาง และหลีกเลี่ยงเส้นทาง

กระทั่งวันที่ 24 มกราคม 2560 รฟม. จะรื้อย้ายสาธารณูปโภคใต้ดิน บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 46 ถึงแยกรัชโยธิน เพื่อก่อสร้างอุโมงค์แยกรัชโยธินนั้น จึงต้องการปิดการจราจรบางช่วงบนถนนรัชดาภิเษกและถนนพหลโยธิน เพื่อให้ผู้รับเหมาขุดเจาะอุโมงค์ข้ามแยกสะพานรัชโยธิน ตั้งแต่เวลา 24.00 น. วันที่ 23 มกราคม 2560 ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 เป็นเวลา 4 เดือน

พร้อมวางแนวแบริเออร์กั้นบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อทำเป็นวงเวียนเดินรถ 3 ช่องทาง ความยาวช่องทางละ 3 เมตร

จนทำให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก การแก้ปัญหาจราจรจุดดังกล่าวจึงต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

 

พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) นั่งหัวโต๊ะ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาจราจรครั้งนี้ โดยมี พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร. ตัวแทนจากบริษัทอิตาเลียนไทย ร่วมประชุม

ภายหลังประชุม พล.ต.ต.จิรสันต์ ผบก.จร. เผยว่า การบริหารการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินเป็นแผนการปฏิบัติการอยู่แล้ว เมื่อมีการรื้อสะพานข้ามแยกเสร็จ จะต้องขุดเจาะอุโมงค์ตรงกลางแยกในแนวของถนนรัชดาภิเษก จากการวางแผนไว้นั้นจะขุดเจาะในช่วงปิดเทอม เนื่องจากการใช้ระยะเวลา 4 เดือน จะแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเวลาเปิดเทอมพอดี ถนนบริเวณดังกล่าวจะกลับมาใช้การได้ปกติ เพื่อให้ประชาชนที่ใช้รถบนท้องถนนได้รับการกระทบน้อยที่สุด

“สำหรับการบริหารจัดการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินที่ผ่านมาใช้การควบคุมด้วยสัญญาณไฟทั้ง 4 ด้าน ถือว่าอยู่ตัวแล้ว ประชาชนเริ่มคุ้นชิน เมื่อถึงห้วงเวลาที่มีการขุดเจาะจึงจำเป็นต้องล้อมพื้นที่บริเวณกลางแยก จึงมีการวางระบบการเดินรถใหม่โดยทำกลางแยกให้เป็นวงเวียน แต่การควบคุมบริหารจัดการรถบนท้องถนนยังใช้ระบบสัญญาณไฟควบคุมอยู่ ผลปรากฏว่ายังมีประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าบริเวณดังกล่าวปรับให้เป็นวงเวียนแล้ว ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการเดินรถ ทำให้เกิดการชะลอตัวในแต่ละด้าน

“ประกอบกับเมื่อทำเป็นวงเวียนบริเวณวงเวียนด้านนอก 3 ช่องทาง แต่บริเวณวงเวียนด้านนอกอาจจะเบียดกับผิวฟุตปาธทำให้รถไม่ค่อยมาใช้บริเวณวงเวียนด้านนอก ส่งผลให้รถไปเบียดอยู่วงเวียนด้านใน เป็นอีกสาเหตุที่ทำในการจราจรติดขัด เกิดผลกระทบเส้นทางอื่นๆ ในวงกว้าง

“จากการประเมินสถานการณ์ในช่วงเช้าวันที่ 24 มกราคม ที่มีการแชร์รูปภาพการจราจรบริเวณแยกรัชโยธินที่มีการติดขัดอย่างมากนั้น บริเวณติดขัดมากที่สุด บริเวณสายเหนือ ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก ท้ายแถวอยู่บริเวณสะพานพระราม 7 ถนนประชาชื่น อยู่บริเวณแยกประชานุกูล ถึงซอยกรุงเทพ-นนทบุรี บริเวณแยกวงศ์สว่าง ถนนวิภาวดีรังสิต ท้ายแถวสะสมอยู่บริเวณแยกหลักสี่ตัดถนนแจ้งวัฒนะ และบริเวณถนนพหลโยธิน ท้ายแถวอยู่บริเวณสถานีรถไฟดอนเมือง ทั้งนี้ ตำรวจจราจรจะดำเนินการประสานปรับปรุงสภาพการจราจรให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด

“ในวันเดียวกันนั้นคณะทำงานได้ประชุมหารือ มีการปรับแผนในช่วงบ่ายเพื่อเร่งระบายรถ โดยมีการปรับวงเวียนให้เป็นสี่เหลี่ยมเพื่อบีบพื้นที่เพื่อปฏิบัติการ ในการทำงานเมื่อบีบพื้นที่เข้าไปทำให้ช่องทางในการเดินรถแต่ละด้านเพิ่มขึ้นเป็น 4 ช่องทาง ทำให้รถผ่านได้สะดวกขึ้น การบริหารจัดการรถบริเวณดังกล่าวคล่องตัวขึ้น เมื่อแก้ไขปัญหาในช่วงบ่ายวันที่ 24 มกราคม ในช่วงเช้าวันที่ 25 มกราคม ปรากฏว่าการจราจรเป็นที่น่าพอใจ ไม่เกิดผลกระทบในวงกว้างหรือแยกใกล้เคียงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่จะต้องสัญจรผ่านเส้นทางนี้ หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น เพราะจะทำให้การจราจรเบาบางลง” ผบก.จร. เผย

พร้อมแนะเส้นทางเลี่ยง ประกอบด้วย

ถนนวิภาวดีขาเข้า ลาดพร้าว พหลโยธิน 21 และรามอินทรา ส่วนเส้นทางลัดที่มีผู้จอดรถกีดขวางจะให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจเข้าไปเจรจา แต่หากยังมีรถกีดขวางอยู่ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย

 

จะเห็นว่าแม้รัชโยธินจะเป็นเพียงแยกเดียว แต่ด้วยถนนหนทางในกรุงเทพฯ ที่เชื่อมต่อเป็นใยแมงมุม ทำให้ส่งผลกระทบถึงกันเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะจุดตัดผ่านถนนสายหลักและย่านธุรกิจ ทำให้ต้องระดมบิ๊กตำรวจมาร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในภาพรวมไปพร้อมๆ กัน รวมถึงการทำประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน

กรณีแยกรัชโยธินจึงเป็นโมเดลสำหรับหลายจุดที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าและอุโมงค์ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร

ที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน!!