พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู : แนวทางการปรองดองแบบมาตรฐาน

พลโท ดร. พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ปรองดองนั้น ไม่ทราบว่าเริ่มมาอย่างไร แต่การปรองดองและอยู่ร่วมกันอย่างพหุวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และสร้างความรุ่งเรืองให้ประเทศและสังคมได้ การปรองดองนี้มีบทเรียน ประสบการณ์ ทฤษฎีรองรับชัดเจน มีการดำเนินการในหลายสิบประเทศ เพียงแต่ว่าต้องดำเนินการอย่างถูกต้องผลจึงจะออกมาดี มิฉะนั้นจะกลายเป็นเรื่องเสียของ จึงขอนำเสนอโดยย่อแต่มีเนื้อหาค่อนข้างอัดแน่นดังต่อไปนี้

นิยามการปรองดองคือ การฟื้นคืนความสัมพันธ์ที่แตกหักแล้วและเรียนรู้ที่จะอยู่กับฝ่ายเห็นต่างสุดขั้วกันได้อย่างไร้ความรุนแรงและหลีกเลี่ยงการเป็นศัตรู ดังนั้นการปรองดองไม่ใช่เรื่องการร่วมกันใช้อำนาจ เช่นรัฐบาลแห่งชาติ หากแต่เป็นการรับรู้ว่ามีฝ่ายเห็นต่างอื่นที่มีตัวตน มีความชอบธรรมและมีสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นการร่วมกันสร้างชาติหรือการใช้อุดมการณ์เดียวครอบงำกลุ่มอื่นไม่เคยประสบความสำเร็จในที่ใดในโลกมาก่อน

การเริ่มต้นที่ควรคือการได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในทุกระดับเสียก่อนในการสร้างความปรองดอง ดังนั้นการปรองดองจึงไม่ใช่การออกคำสั่งแต่เป็นการยินยอมพร้อมใจ องค์กรพัฒนาเอกชนในระดับนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศควรเป็นผู้ริเริ่มดำเนินการโดยการเข้าไปสู่ชุมชนและสังคมที่มีการขัดแย้งนั้นเพื่อนำเทคนิคในการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน การสร้างความรับรู้ว่ามีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย มีความสูญเสีย บาดเจ็บ ล้มตาย อย่างชัดแจ้งตรงไป ตรงมา ทั้งควรทราบว่าจะมีกลุ่มที่ไม่ยินยอมที่จะปลงใจด้วยเนื่องจากคำพูดว่า คนเหล่านี้เคยสังหารพวกเรา เคยกวาดล้าง ทำลายล้างพวกเราและลูกเมียของเรา และตั้งใจอย่างจริงจังว่า จะทำการรับรู้เหตุการณ์ในอดีตเพื่อเป็นบทเรียน แก้ไขเท่าที่ทำได้ในปัจจุบันนี้เพื่อสร้างการอยู่ร่วมกันในอนาคต

ความขัดแย้งที่ผ่านมานั้น มาจากความไม่เป็นธรรมที่มีอยู่ ๓ ด้านได้แก่ ด้านแรกกระบวนการยุติธรรมที่ถูกทำให้ไม่ยุติธรรมในช่วงความขัดแย้ง ซึ่งหากไม่ล้มเหลวไปทั้งระบบก็จำเป็นต้องหาทางฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ด้านที่สอง การรับรองการกระทำที่ผิดกฎหมายมีหรือไม่? เช่นการยอมรับการรัฐประหาร การยอมรับการใช้กำลังสังหารประชาชน การยินยอมให้มีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และด้านที่สาม มีการเลือกปฏิบัติหรือไม่? ทั้งด้านการเมืองและทางเศรษฐกิจ รวมถึงการไม่กระจายอำนาจทางการเมืองอย่างทั่วถึงทุกระดับและการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ความไม่ยุติธรรมดังกล่าวนี้ บางสังคมอาจยอมรับได้ แต่บางสังคมการแก้แค้นเท่านั้นที่จะทำให้รู้สึกว่าเกิดความเป็นธรรมขึ้น ด้วยเหตุนี้การกดไว้ด้วยอำนาจให้เกิดความสงบจะไม่อาจยั่งยืนได้ มีแต่การสร้างประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะมีความยั่งยืนในระยะยาว มิฉะนั้นจะเกิดการแตกหักขึ้นในที่สุดและนำไปสู่การแก้แค้นที่สะสมอยู่นานแล้วระเบิดขึ้น

การสร้างความปรองดองมีองค์ประกอบ ๕ ประการคือ เรื่องธรรมาภิบาล การค้นหาความจริง การพิจารณาคดี การชดเชยและการสร้างความยุติธรรมใหม่ให้ทั่วถึง กระบวนการนี้เป็นการใช้วิธีการทางจิตวิทยาเพื่อให้มีการรับรู้ความเจ็บปวดในอดีต การยอมรับความสูญเสีย และยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างความแตกต่างสุดโต่งนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อยุติความรุนแรง สลายกลุ่มขั้วความขัดแย้งที่แท้จริง และมีการจัดการไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก รวมถึงความยินดีที่จะอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่าง  การสร้างความปรองดองนี้ดำเนินการตามลำดับดังนี้

เรื่องธรรมาภิบาล ดูจากระดับความแตกแยกและสมรรถนะของกระบวนการยุติธรรมว่า รุนแรงและล้มเหลวขนาดไหน และเริ่มต้นจากการตกลงกันว่า กระบวนการยุติธรรมจะมีการจัดตัวใหม่ไม่เหมือนเดิมที่ผ่านมา ยินยอมให้มีการค้นหาความจริง การตรวจสอบและการดำเนินคดีโดยไม่เลือกปฏิบัติ แม้แต่คนในกระบวนการยุติธรรมเดิมนั้นด้วย มีข้อกำหนดในการชดเชยและเยียวยา ความผิดพลาดในอดีตอย่างครบถ้วนและครบทุกกลุ่ม ประการสำคัญคือ มีการจัดโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมใหม่ที่ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่ามีความยุติธรรมตามมาตรฐานสากลจริง เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลที่ยั่งยืนในอนาคต

เรื่องการค้นหาความจริง มีคณะกรรมการที่ทุกฝ่ายเชื่อถือ โดยอาจร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศที่สามที่มีความก้าวหน้าในการสืบสวน สอบสวน ที่เป็นกลางและยุติธรรมเข้ามาขุดหารากปัญหาความขัดแย้งทั้งปวง การละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำมาเปิดเผย ทั้งที่ไม่กล้าพูด ซุกซ่อน และไม่เป็นธรรม รวมถึงคำแนะนำถึงอนาคตในเรื่องการมีสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและโอกาสในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ต้องหลีกเลี่ยงความต้องการแก้แค้นและการตัดสินว่าใครผิดหรือถูก รวมถึงความทุกข์ยากที่ผ่านมาแล้ว โดยต้องบันทึกอย่างละเอียดของผู้ถูกกระทบทุกคนและทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อรับทราบอดีต แก้ไขปัจจุบันและสร้างแนวทางแก้ไขสำหรับอนาคตไว้

เรื่องการพิจารณาคดี ปกติจะใช้องค์กรศาลระหว่างประเทศ เช่นศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาเป็นตัวกลางในเรื่องจัดสร้างมาตรฐานความยุติธรรมและการพิจารณาคดีผู้เกี่ยวข้องอย่างตรงไป ตรงมา ทั้งนี้เพราะกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่มีการแตกแยกทุกแห่งนั้นมักจะเป็นเครื่องมือของการสร้างความไม่ยุติธรรมนั้นเสียเอง ทั้งนี้ จะมีการก่อตั้งวัฒนธรรมของความยุติธรรมเสียใหม่ จึงจะหลีกเลี่ยงปัญหาใหญ่ในอนาคตได้ และมีการวางมาตรฐานด้านมนุษยธรรมที่สมควรลงในสังคมแห่งความขัดแย้งนั้น เพื่ออนาคตที่ดีกว่า

เรื่องการชดเชย เพื่อลดความบาดหมางและทำให้คืนสภาพเดิม จะดำเนินการให้ผู้กระทำผิดได้ ขอโทษต่อผู้ถูกกระทำโดยปกติรัฐจะดำเนินการแทนรัฐในอดีต การขอโทษนี้ต้องกระทำอย่างจริงจังหากทำไปแบบแกนๆ ผู้คนจะรู้สึกได้และจะกลับเป็นผลเสียร้ายแรงกว่าเดิม สร้างความจริงใจด้วยการมีอนุสรณ์สถาน มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อุทิศให้ มีประวัติความขัดแย้งเพื่อเตือนใจ มีพิธีฉลองที่เหมาะสม เพื่อให้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน ส่วนเรื่องเงินนั้นต้องระมัดระวังเพราะมักจะเป็นการให้แบบเหวี่ยงแหและน้อยเกินไปเสมอ จึงอาจไม่จำเป็นหรือหากจะมีต้องรอบคอบอย่างยิ่ง

เรื่องการสร้างความยุติธรรมให้ทั่วถึง หมายถึงทุกกลุ่มในสังคม ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำงุบงิบกันเพื่อใช้อำนาจร่วมกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการแตกหักในอนาคต  หากแต่ความปรองดองคือการสร้างความยุติธรรมให้ทั่วถึงเมื่อผู้เสียหายได้รับการชดเชย มีการนำความจริงที่โปร่งใส และรู้ทั่วกันมาเปิดเผย สร้างความปราณีได้แก่ การยอมรับ การอภัย การอยู่ร่วมกันและการเยียวยา เพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความปรอดภัย การเคารพซึ่งกันและกัน ความสงบและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต

แนวทางสร้างความปรองดองแบบมาตรฐานนี้ หากดูถึงตรงนี้อาจเห็นว่ากล่าวถึงประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ทำการพิสูจน์มาแล้วจากหลายสิบประเทศจนเป็นหลักสากลไปแล้ว กรณีของไทยใกล้เคียงกับอาฟริกาใต้ในเรื่องการรักษาสถานภาพเดิมของชนชั้นนำและรวันดาในเรื่องการใช้คำพูดในการกดผู้อื่นให้ต่ำกว่าความเป็นมนุษย์ เนื้อหาดังกล่าวข้างต้นค้นหาได้จากรายงานของสหประชาชาติและตำราว่าด้วยการแก้ไขความขัดแย้งทั่วไป

ในกรณีของประเทศไทย เป็นเรื่องความขัดแย้งที่เป็นอสมมาตร หมายถึงผู้เหนือกว่า (upperdog) กระทำต่อผู้อ่อนแอกว่า (underdog) หรือรัฐกระทำต่อประชาชน ไม่ใช่ระหว่างพรรคการเมืองกันเอง ไม่ใช่ระหว่างเหลืองหรือแดง เพราะประชาชนทุกฝ่ายต่างถูกกระทำทั้งสิ้น ความจริงเรื่องนี้จำเป็นต้องนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ผู้ที่อยู่ฝ่ายรัฐทั้งข้าราชการที่เกษียณไปแล้วหรือทำหน้าที่อยู่ซึ่งรวม ทหาร ตำรวจ พลเรือน ต่างเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนทั้งสิ้น ไม่ควรปฏิเสธความจริงนี้ หากเริ่มต้นอย่างจริงใจและยอมรับ คู่กรณีทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายประชาชนที่โกรธแค้นควรหลีกทางให้กับผู้ที่เป็นกลางอย่างแท้จริงเข้ามาดำเนินการเพื่อความสงบ สันติและความเจริญ รุ่งเรืองของลูกหลานของเราในอนาคต

ความปรองดองจะสำเร็จได้ต่อเมื่อการคิดกดผู้อื่นให้ต่ำกว่าตนยุติลง และหันมามองมนุษย์ผู้อื่น ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ กำเนิด หรือความเชื่อแบบใดก็ตามว่าคือมนุษย์เช่นเดียวกับเรา