สุจิตต์ วงษ์เทศ : พิธีฝังศพ ยุคแรกเริ่ม รอขวัญคืนร่าง (ยังไม่พิธีพุทธ)

เรียกขวัญหลายวันหลายคืน ขวัญไม่กลับเข้าร่าง จนศพเปื่อยเน่า แสดงว่าขวัญหายไม่กลับแน่แล้ว ต้องเอาศพไปฝัง รอขวัญคืนร่าง

โดยฝังเครื่องมือเครื่องใช้ไปกับศพ พร้อมอุปกรณ์เรียกขวัญหรือทำขวัญ เช่น ภาชนะลายเขียนสีรูปขวัญ (พบที่บ้านเชียง อุดรธานี)

ขณะเดียวกันก็สร้าง “เฮือนผี” คร่อมหลุมศพ หวังให้ผีขวัญใช้เหมือนตอนมีชีวิตปกติ ยังไม่ตาย

พิธีฝังศพ

มีร่องรอยฝังศพตามความเชื่อดั้งเดิม (ก่อนรับศาสนาพุทพธ) อยู่ในกลุ่มไทแถงเมืองกว่า ทางภาคเหนือของเวียดนาม (ติดกับลาวทางทิศตะวันตก) จากงานวิจัยของ อ.สุมิตร ปิติพัฒน์ จะคัดมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงต่อไปนี้

“ก่อนการฝังศพ ลูกหลานของผู้ตายจะต้องเดินทางไปป่าช้า เพื่อใช้ไข่ไก่เสี่ยงทายที่จะขุดหลุมศพ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ขุดฮู” “ไปเบิ่งบ่อนนอนผู้เฒ่า บ่อนเหลอ””

โยนไข่ไก่ลงพื้นดิน หากแตกบริเวณใดแสดงว่าคนตายอยากให้ฝังตรงนั้น ผู้ที่ไปก็ช่วยกันขุดหลุมศพเตรียมไว้ แล้วจึงกลับไปยังเรือนคนตาย

เมื่อหามศพลงเรือนจะต้องหามข้ามศีรษะลูกหลานที่นั่งเรียงกันตามลำดับอาวุโส (ชายจะนั่งหน้าหญิง)

เมื่อมาถึงหน้าปากทางเข้าป่าช้าจะวางโลงศพลง และลูกเขยจะแก้มัดห่อข้าวและไก่ต้มจากใบตอง ทำพิธีเชิญผู้ตายมากินอาหาร “กินเข่ากินน้ำ” แล้วหามเข้าป่าช้าไปฝัง

หลังจากฝังเสร็จ เหนือหลุมศพลูกหลานจะช่วยกันสร้าง “เฮือนผี”

เริ่มต้นจากการผ่าไม้ไผ่ขนาดยาวเท่าโลง แล้ววางบนดินเหนือโลง (คล้ายเป็นพื้นเรือน) ปูด้วยเสื่อเล็กๆ ผืนเก่า วางทับด้วยแผ่นไม้ วางจานใส่หมูปิ้ง 1 จาน ข้าวและหมากพลู 1 จาน เหล้าจูม ถุงย่ามผู้ตาย ตะเกียง เหล้า 1 ขวด จอก 1 ใบ สิ่งของเหล่านี้จะวางบริเวณส่วนหัวผู้ตาย ส่วนบริเวณปลายเท้าจะวางกระบุง หมวก ตั่งไม้ (สิ่งของทั้งอยู่ภายในเรือน)

จากนั้นจึงผ่าไม้ไผ่ปักรอบหลุมทำเป็นฝาเรือน และนำใบก้อมามุงเป็นหลังคา ด้านหลังเรือนซึ่งอยู่บริเวณปลายเท้าผู้ตายมีการสร้างกลอนประตู ติดเรือนจะสร้างคอกหมูไว้ โดยจะนำหัวหมูที่เหลือแต่กระดูกมาวาง คล้ายเป็นการเลี้ยงหมูจริงๆ

ลูกสาวลูกสะใภ้ที่เดินตามมาทีหลัง นำกิ่งไม้มาปักริม “เฮือนผี” กล่าวว่า “แม่เฒ่า…ลูกหลานมาปลูกไม้ ปลูกเฮอะแม่เฒ่าเอ็ดสวน มีผักมีหญ้ากินเน้อแม่เฒ่า”

กิ่งไม้ประกอบด้วย เผือกเมน เผือกเมนกวยหมา มันต้น (มันสำปะหลัง) ขิงเจ้อ (ตะไคร้) กอฮ่อม (ใช้ย้อมผ้าให้ดำ) ปูแก่ว (พลู) กอหมาก กอหมี่ (ต้นขนุน) กอกล้วย กอแต่ (ใบชา) อ้อย กอหมากทัน (พุทรา) ฯลฯ

เมื่อปลูกเสร็จก็จะแกะผ้าขาวที่มัดผมออกวางไว้บนหลังคาเฮือนผี

จากนั้นลูกเขยเชิญผู้ตายมา “กินข้าวงาย” มีไก่ต้ม 1 ตัว ข้าว 1 ถ้วย เหล้า 1 ขวด และหมากพลู 1 คำ แล้วลูกหลานนั่งรอบเฮือนผี

เมื่อทุกคนกลับมาถึงเรือนจะทำพิธี “ระลึกบุญคุณ” โดยปฏิบัติสำหรับผู้ตายที่เป็นแม่เท่านั้น คือ

ลูกชายจะต้องสวมบทบาทเป็นแม่เมื่อตอนคลอดลูก พิธีจัดขึ้นบริเวณเตาไฟบนเรือน กลุ่มหญิงอาวุโสจะจัดเตรียมอุปกรณ์คล้ายมีการคลอดลูกจริงๆ ลูกชายนั่งรอบเตาไฟ กินข้าวกับเกลือที่รองด้วยใบตอง หญิงอาวุโสเอาใบไม้ (สมุนไพร) มาประคบตัวลูกชาย ลูกสะใภ้มายืนบีบนวดสามี รินน้ำต้ม (ยารากไม้) ให้ลูกชายดื่ม พร้อมทั้งสั่งสอนถึงความยากลำบากในการคลอดลูก

หลังจากนี้อีก 3 วัน จะมีการนำอาหารไปเลี้ยงผู้ตายที่ป่าช้าและเชิญผู้ตายมาอยู่ที่ “จองเซอ” ถือเป็นการเสร็จพิธี

[ปรับปรุงจากหนังสือ คนไทเมืองกว่า : ไทแถงและไทเมืองในประเทศเวียดนาม โดย รองศาสตราจารย์สุมิตร ปิติพัฒน์, ดร.ฮวง เลือง สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543 หน้า 49-50]

ยังมีคำถาม

ประเพณีฝังศพที่ยกมาแม้เป็นงานปัจจุบัน แต่บางอย่างสะท้อนโครงสร้างหลักของประเพณีย้อนกลับได้ลึกและไกลมาก

ซึ่งยังมีคำถามอีกไม่น้อยที่ต้องค้นหาคำอธิบายลึกซึ้งเพิ่มอีกว่าตรงไหนเป็นอดีต แท้จริง และส่วนไหนเป็นปัจจุบันเพิ่งมี