ลึกแต่ไม่ลับ : “ป.ย.ป.” ลูกข่ายขับเคลื่อน…มา ช้า ดี กว่า ไม่มา

จรัญ พงษ์จีน

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงนามในคำสั่งที่ 3/2560 เรื่องการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยอาศัยอำนาจตาม “มาตรา 44 “แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557

เพื่อกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ “ป.ย.ป.” ให้มีคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองเรื่อง เสนอ ป.ย.ป. อีก 4 คณะ ได้แก่

1.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ 3.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

ตามข่าวระบุว่า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ออกสตาร์ตรวดเร็วกว่าใครเพื่อน คัดตัวกลั่น เพื่อเตรียมเสนอรายชื่อเป็นคณะกรรมการชุดที่ตัวเองรับผิดชอบ

คัดพิมพ์นิยมจากผู้นำเหล่าทัพ ส่งเข้าประกวดจำนวน 19 คน ล้วนมาจากตำแหน่งหลัก อาทิ 1.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม 2.พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด 3.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก 4.พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ 5.พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ 6.พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 7.พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนกระทรวงกลาโหม 8.พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รอง เสธ.ทบ. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ของ คสช. 9.พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม

คณะกรรมการชุดสามัคคีปรองดอง ซอยแยกย่อยออกเป็น 4 ชุด คือ คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น 23 คน คณะอนุกรรมการจัดทำความเห็นร่วม 22 คน คณะอนุกรรมการจัดทำกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ 17 คน คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ 17 คน ส่วนใหญ่ ผู้ที่จะมาร่วมคัดตัวมาจากเหล่าทัพ ระนาบ พล.ท. หน่วยละ 2 คน จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากกรมพระธรรมนูญ และกระทรวงมหาดไทย

แนวคิดจัดตั้ง “ป.ย.ป.” เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ นำพาประเทศคืนสู่ความสันติสงบสุขอีกครั้ง ของ “คสช.” วาดหวังถึงขั้นจะเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมาเซ็น เอ็มโอยู แต่ดูเหมือนจะไม่รื่นอภิรมย์สักเท่าไหร่ คล้ายจะยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

เพราะคู่ขัดแย้ง โดยเฉพาะตัวแทนจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ คือ ประชาธิปัตย์ กับเพื่อไทย ยังเล่นลีลาเก่า ดาหน้าออกมาเกทับบลั๊ฟฟ์แหลกกันในเชิง

คู่ปฏิปักษ์ร่วมเมือง พูดจาภาษาดอกไม้กันไม่รู้เรื่อง แผนปรองดองสามัคคี มีแนวโน้มสูงยิ่งที่จะมุขแป้กอีกตามเคย

หนักไปกว่านั้น ในจำนวนบุคลากรที่จะมาทำหน้าที่กรรมการกลาง เพื่อความสามัคคีปรองดอง เพื่อคนในชาติ ชุดแรกที่กระทรวงกลาโหมเปิดซองปล่อยของออกมา ไม่ว่าจะ “โดยตำแหน่ง” หรืออื่นๆ

ปรากฏว่า เป็นทหาร และเจ้าหน้าที่เพียวๆ ไม่มีชื่อของคู่ขัดแย้ง และผู้เชี่ยวชาญ ผู้สันทัดกรณี ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับเรื่องปรองดองสมานฉันท์ ที่พอจะมาทำหน้าที่ “คนกลาง” มีแต่ “คนมีสี” และภาระหน้าที่ก็ไปทับซ้อนกับที่ปฏิบัติอยู่แล้ว

“การปรองดอง” หมายถึง การจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่แตกแยก ต่อสู้และปะทะกันทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในการตกลงเพื่อเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ ระหว่างกลุ่มต่างๆ โดยไม่ใช้ความรุนแรง และการสร้างองค์กรหรือสถาบันที่เป็นประชาธิปไตยในการเข้ามาช่วยปรองดองและต่อรองอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ

ซึ่งอาจจะรวมถึงการใช้มาตราออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาความเสียหายโดยเริ่มจากการแสวงหาความจริงในอดีต สาเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงของความคิดแต่ไม่หาคนผิด การจัดสรรอำนาจใหม่ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

“แต่ควรระลึกด้วยว่า การใช้กฎหมายนิรโทษกรรมแต่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริงได้ การปรองดองจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อต้นตอของความขัดแย้งในสังคมได้รับการแก้ไข การจะเริ่มแก้ไขได้ก็โดยการพิสูจน์ทราบ บันทึก และชี้แจงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสังคมมีสิทธิในการเข้าถึงความจริง การรับทราบความจริง จึงจะนำมาสู่ความเข้าใจ การให้อภัย เมื่อนั้นการปรองดองจึงเกิดขึ้นได้”

“5 หลักการเพื่อการปรองดองสมานฉันท์”

1. ความถูกต้อง ผู้บริหาร ผู้นำ พึงปฏิบัติตนให้ถูกต้อง ยึดหลักความเป็นธรรม

2. ความเหมาะสม รู้จักยืดหยุ่น ผ่อนหนักผ่อนเบา รู้จักพิจารณาเหตุ สังเกตผล รู้จักกาลเวลา

3. ความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ต้องใจซื่อ มือสะอาด ปราศจากอคติ

4. ความยุติธรรม ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเที่ยงธรรม เสมอกัน ตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติด้วยความลำเอียง หรือ “อคติ 4”

5. ความเสียสละ ผู้นำ หรือนักปกครอง ที่มีอำนาจเหนือผู้อื่น ฟัง ลดมานะ ละทิฏฐิ ด้วยความเสียสละความสุขส่วนตน และสละความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์สุขของหมู่คณะ หรือเพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม

แผนปรองดอง สมานฉันท์ของ “คสช.” ถึงกับตั้ง “ป.ย.ป.” ขึ้นมาเป็นลูกข่ายขับเคลื่อน เหมือนกับมาเรือเกลือ เพราะโรดแม็ปการเมืองใกล้จะสำเร็จรูป เหลืออยู่ไม่กี่ขั้นตอน จะได้เลือกตั้งกันแล้ว

แต่ถึงอย่างไร มาสายก็ยังดีกว่าไม่มา