วิช่วลคััลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์ /อัพซีรี่ส์ : เด็กกับอดีต (จบ)

วิช่วลคััลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

อัพซีรี่ส์ : เด็กกับอดีต (จบ)

มีผู้ติดตามอัพซีรี่ส์มากมายเพราะรู้สึกว่าคุ้นเคยและเติบโตมาพร้อมกับเด็กๆ เหล่านี้ หนังจะทำให้นึกถึง 7Up ที่ฉายในปี พ.ศ.2507 และจำได้ว่าหลายคนเคยมีบุคลิกอย่างไร

ทุกตอน มีการสัมภาษณ์ด้วยคำถามเดิม คือเกี่ยวกับการศึกษา, อาชีพการงาน, เพื่อนต่างเพศ, การมีลูก-หลาน, ความฝันและความกลัวต่ออนาคต

แต่ชีวิตและวัยของผู้ตอบเปลี่ยนไป เช่น ใน 21Up แอนดรูว์และชาร์ลส์ได้เข้าเรียนเคมบริดจ์และทำงานดีๆ แจ๊กกี้กับลินน์ซึ่งมาจากอีสต์เอนด์ได้แต่งงาน พอลซึ่งเป็นเด็กกำพร้าย้ายไปอยู่ออสเตรเลีย

ในตอนต่อมา บางคู่ยังอยู่กันดี แต่แจ๊กกี้หย่าร้างสองครั้ง และลินน์ซึ่งอยู่ใน 56Up ถึงแก่ความตายในปี พ.ศ.2560

เด็กที่มีดราม่าและกลายเป็นที่พูดถึงคือโทนี่ ซึ่งเคยบอกว่าอยากเป็นจ๊อกกี้

ในวัย 14 เขาได้เข้าวงการม้าแข่งจริงๆ แต่ต้องออกเพราะทำได้ไม่ดีพอ

ใน 28Up เขากลายเป็นคนขับแท็กซี่ในลอนดอน โดยที่ยังคงบุคลิกช่างพูดและกล้าหาญไว้ตามเดิม

ใน 63Up โทนี่คุยเรื่องการแข่งขันกับอูเบอร์แท็กซี่ และการโหวตเรื่องเบรกซิทด้วย

และที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ นีล ฮิวส์ เด็กที่เคยบอกว่าจะเป็นนักบินอวกาศ แต่พบกับความล้มเหลว เขากลับมาใหม่เมื่ออายุ 42 กลายเป็นนักการเมืองฝ่ายลิเบอรัลเดโมแครตและนักเทศน์

มีอะไรเกิดขึ้นกับเด็กที่น่ารักและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ นีลฝันจะไปเรียนที่ออกซ์ฟอร์ด แต่สอบตกในการสัมภาษณ์

และกลายเป็นสิ่งที่หลอกหลอนอยู่นาน

เขาหันไปทำงานกรรมกรและต้องพึ่งพาเงินสวัสดิการจากรัฐ ใน 28 Up เริ่มมีอาการทางประสาท และกลายเป็นคนไร้บ้านในไฮแลนด์

ต่อมาได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนในซีรี่ส์นี้ที่ชื่อบรูซ บัลเดน ผู้สนใจศาสนาและเคยสอนหนังสือในบังกลาเทศและอีสต์เอนด์ บรูซหาที่อยู่ให้นีลและทำให้เขาได้เรียนจนจบมหาวิทยาลัย

ในวัย 63 นีลยังฝันถึงการช่วยชุมชน เช่น รณรงค์ให้ซ่อมทางรถไฟสายหนึ่ง

เมื่อพูดเรื่องนี้ ตาของเขายังเป็นประกายเหมือนเด็กอายุเจ็ดขวบที่อยากเป็นนักบินอวกาศ

เมื่อ 63Up ออกฉายในปีนี้ แคลร์ ลูอิส หนึ่งในทีมสร้างหนัง บอกว่าประเด็นยังเหมือนเดิม เช่น คำขวัญที่ว่า เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่วันหน้านั้นจริงไหม?

และข้อสงสัยที่ว่า ธรรมชาติหรือวัฒนธรรม (nature/culture) กันแน่ที่เป็นตัวกำหนดชีวิต?

อย่างไรก็ตาม ขณะที่หนังตอนแรกๆ เน้นด้านสังคมและชนชั้นในอังกฤษ ตอน 63Up จะกลายเป็นเรื่องส่วนตัวและเน้นด้านจิตวิทยามากขึ้น

 

แต่ดราม่าไม่ได้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทำให้มีผู้ติดตาม อัพซีรี่ส์ค้นพบเสน่ห์ที่แท้จริงของภาพยนตร์หรือภาพเคลื่อนไหว

นั่นคือ ทำให้การเปรียบเทียบมีความลึกซึ้งและคมคายมากขึ้น ไม่ว่าจะเปรียบกับเด็กคนเดียวกันหรือกับผู้ดูเอง เพราะความเปลี่ยนแปลงจะปรากฏอย่าง “ต่อหน้าต่อตา”

เช่น เมื่อเด็กที่น่ารักกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เต็มไปด้วยริ้วรอย ร่างกายของเขาจะเปลี่ยนไปด้วย

ในแง่นี้ เจตนาของผู้สร้างหนังอาจจะไม่เด่นเท่าการทำให้ผู้ดูได้เพ่งพินิจสีหน้าท่าทางและเห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กและผู้ใหญ่กลุ่มนี้

โรเจอร์ อีเบิร์ท นักวิจารณ์หนังชื่อดัง เคยบอกว่าอัพซีรี่ส์เป็นการใช้สื่อ ภาพยนตร์ที่งดงามและให้แรงบันดาลใจได้ดีที่สุด ทุกวันนี้ถ้าใครจะทำหนังแบบนี้โดยไม่อ้างอิงซีรี่ส์นี้เห็นจะไม่ได้

แบบแผนของซีรี่ส์ถูกใช้ทำหนังสารคดีแบบเดียวกัน ทั้งในสหรัฐอเมริกา แอฟริกา จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย เช่น Age 7 in America (1991) ซึ่งเริ่มจากชีวิตของเด็ก 7 ขวบหลายคนที่ต่างกันทั้งสีผิว เชื้อชาติ และชนชั้น เป็นหนังที่ร่วมกันสร้างโดยไมเคิล แอพเท็ด และวิกกี้ บิบเพิร์ต กำกับฯโดยฟิล โจนู และบรรยายโดยเมอร์ริล สตรีพ หนังเรื่องนี้ตามมาด้วย 14 Up in America (1998) และ 21 Up in America (2006)

รวมทั้ง Boyhood (2014) หนังดราม่าของริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ (ผู้กำกับหนังชุด Before Sunrise, Before Sunset และ Before Midnight) ซึ่งนำแสดงโดยเอลลาร์ โคลแทรน, แพทริเซีย อาร์เคท และอีธาน ฮอกส์

แอนดรูว์ ซาลาดิโน เห็นด้วยกับอีเบิร์ท ใน Some Kind of Connection- the Up Series เขาบอกว่า ซีรี่ส์นี้เป็นที่ชื่นชอบไม่ใช่เพราะชีวิตของเด็กบางคนเหมือนของเรา แต่เพราะ “เวลา” ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของสื่อภาพยนตร์หรือเจ็ดปีระหว่างตอน คือสิ่งที่เราสัมผัสได้ว่าจริง และมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับเด็กเหล่านั้น

สำหรับอัพซีรี่ส์ ความเปลี่ยนแปลงจึงไม่ได้เป็นเพียงเทคนิค แต่มีความสำคัญมาก และนั่นเป็นสิ่งที่ตรึงผู้ดูเอาไว้ทุกครั้งที่ดู เขาเห็นตัวเองเท่าๆ กับที่เห็นคนในหนัง วาทะของซาลาดิโนคือ “เวลาเป็นเรื่องราวที่แท้จริง และเราเป็นตัวละคร”

 

ทุกวันนี้ Selfie, Facebook Lives, Reality Television รวมทั้งภาพที่ให้อารมณ์ nostalgia ในสื่อสังคมพูดถึงอดีตในแง่ที่สวยงาม และถ้าเป็นของเซเลบก็มักจะโชว์การใช้ชีวิตแบบที่เขาต้องการคือหรูหราและมีดราม่าเท่านั้น

อัพซีรี่ส์ต่างออกไป มันเป็นหนังสำหรับคนธรรมดาซึ่งพูดถึงระบบสังคม รวมทั้งสิ่งที่ยึดมั่น เด็กๆ ใน 7 Up และตอนอื่นๆ พูดถึงตัวเองอย่างตรงไปตรงมากันทุกคน ไม่มีคำว่าอัจฉริยะหรือความสำเร็จ ซีรี่ส์ทำหน้าที่สำรวจตรวจตราชีวิต สิ่งที่ผู้ดูเห็นจึงมีทั้งด้านที่ประสบความสำเร็จและด้านที่ล้มเหลว ที่สำคัญ ไม่ได้ทำให้ผู้ดูรู้สึกอิจฉาหรือดูหมิ่นเด็กคนไหนได้เลย

และได้พิจารณาชีวิตของตัวเอง เหมือนกับที่นิคเมื่ออายุราวห้าสิบเคยพูดในหนัง “อัพซีรี่ส์อาจจะสะท้อนชีวิตของผมได้น้อย แต่สะท้อนชีวิตของคนอื่นๆ ได้มาก”