วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / ปิดไทยรัฐ-ค้นมติชน

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ 

ปิดไทยรัฐ-ค้นมติชน

 

แม้กาลเวลาล่วงเลยถึงพุทธศักราช 2523 หลังจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสิ่ง พิมพ์ทุกฉบับเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แล้วเริ่มทยอยให้จัดพิมพ์ได้ในวันรุ่งขึ้นเรื่อยมา กระทั่ง “ปิดตาย” หนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และนิตยสารบางฉบับ รวม 13 ฉบับ

แม้เมื่อหลังการปฏิวัติอีกครั้งโค่นล้มคณะรัฐมนตรีที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินตั้งมากับมือเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2521 คำสั่งการปิดหนังสือพิมพ์ทั้ง 13 ฉบับนั้นยังไม่ยกเลิก

ทั้งยังมีการจ้องจับผิดหนังสือพิมพ์ที่ออกจำหน่ายในเวลานั้น สม่ำเสมอ มีข่าวระแคะระคายออกมาประจำว่าจะปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น จะปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ แม้หนังสือพิมพ์รายวันมติชนไม่พ้นจากระแคะระคายนั้น กระทั่งนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ออกมาแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2523 ได้สองสามฉบับ การปิดหนังสือพิมพ์จึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการปิดที่แสดงพลังของผู้สั่งปิดกับผู้ถูกปิดที่ชัดเจนที่สุด

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 7-13 กันยายน 2523 หน้า 8 รายงานเรื่อง “ปิดไทยรัฐ ขบวนการเชือดไก่ให้ลิงดู”

มีเนื้อหาดังนี้

 

คําสั่งสายฟ้าฟาดจากปทุมวัน เมื่อบ่ายวันที่ 29 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันศุกร์สุดสัปดาห์ให้ถอนใบอนุญาตการเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายวัน โดย พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ ในฐานะเจ้าพนักงานการพิมพ์ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คำสั่งระบุว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันที่ 29 สิงหาคมตีพิมพ์โฆษณาว่า “มนต์ชัย เดือดดาล ลูกน้องทำงามหน้า บุกกรมตำรวจฉกยา” เข้าลักษณะโฆษณาข้อความและพาดหัวหนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเท็จ หรือในลักษณะที่อาจจะทำให้ประชาชนแตกตื่นหรือวิตกกังวลหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นความผิดต่อคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่  42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519

ภายหลังจากคำสั่งดังกล่าวเดินทางไปถึงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นขณะเดียวกับคำขออุทธรณ์เปิดหนังสือพิมพ์ตามปกติก็เดินทางออกจากไทยรัฐ, ไปถึงกระทรวงมหาดไทย

เหตุการณ์ระหว่างนั้นจะเป็นอย่างไร ข่าววงนอกมิได้แจ้ง แต่ข่าววงในแจ้งว่า เมื่อหนังสือขออุทธรณ์ถึงมือนายเดชชาติ วงศ์โกมลเชษฐ์ ในฐานะรองปลัดกระทรวง ขั้นตอนรับหนังสือร้องเรียนก็ดำเนินไปด้วยความรวดเร็วกระทั่งถึงมือนายประเทือง กีรติบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ผลที่ปรากฏออกมาคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรับคำอุทธรณ์ไว้ และอนุญาตให้ไทยรัฐจัดพิมพ์จำหน่ายในชื่อเดิมต่อไปได้

ยังกะหนังกำลังภายในที่มีการประลองยุทธ์ทั้งใต้ดินบนดิน และทุกกระบวนท่า ที่ฝ่ายหนึ่งพยายามล้มช้าง เพื่อเป็นการฆ่าลิงให้ไก่ดู แต่แล้วเหนือฟ้าก็คือฟ้า เหนืออธิบดีตำรวจยังมีรัฐมนตรีมหาดไทย คำสั่งปิดไทยรัฐจึงมีผลชั่วระยะเวลาที่หนังสือพิมพ์กรอบแรกออกจำหน่ายไปแล้ว และกรอบหลังจากนั้น คือกรอบเช้ายังไม่มีการตีพิมพ์ ผลก็คือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐถูกปิดเหมือนไม่ถูกปิด ไม้เรียวที่ถูกหวดแหวกไปในอากาศเสียงดังเควี้ยวคว้าวนั้นอาจฟังน่ากลัวจริง แต่ไม่เจ็บเนื้อ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว นายกรัฐมนตรีคนโสด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ต้องการให้มีการปิดหนังสือพิมพ์ในยุคที่ตนบริหารราชการแผ่นดินในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และด้านกระทรวงมหาดไทยก็ยังไม่เคยมีวี่แววที่จะปิดกั้นเสรีภาพหนังสือพิมพ์

นอกจากนั้น หนังสือพิมพ์ยังให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในหลายด้าน ทางด้านการเสนอข่าวยังเป็นไปชนิดที่เรียกว่าตรงไปตรงมา

 

ข่าวนี้กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งวิทยุบีบีซีถึงกับนำไปเป็นข่าวใหญ่ พร้อมคำวิจารณ์ว่าหนังสือพิมพ์ที่มีจำนวนจำหน่ายสูงไม่น่าถูกปิด โดยเฉพาะประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกจะไม่มีการปิดหนังสือพิมพ์ แม้ในสภาวะสงคราม มีแต่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการเท่านั้นที่คุกคามเสรีภาพและสั่งปิดหนังสือพิมพ์

ในข้อหาที่อธิบดีกกรมตำรวจนำขึ้นมาอ้างโดยมีฐาน ปร.42 รับอยู่นั้น มิใช่แต่เพียงว่าใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่รู้กันอยู่แล้ว และหลายฝ่ายพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกเสีย ข่าวที่นำลงพิมพ์นั้นไม่เห็นว่าจะทำให้ประชาชนตื่นตระหนกแต่อย่างใดกลับยังเห็นว่าน่าจะเป็นไปได้เสียอีก เพราะเกียรติตำรวจของไทยนับวันมีแต่จะขาดการยอมรับนับถือลงไปทุกที

สิ่งที่อธิบดีกรมตำรวจจะต้องกระทำโดยเร็วที่สุดไม่ใช่การวิ่งปิดหนังสือพิมพ์ แต่ต้องรีบฟื้นฟูระเบียบวินัยของตัวตำรวจเองให้เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น เพื่อข่าวในด้านดีของตำรวจจะได้ปรากฏออกมาต่อสาธารณชน และเป็นกำลังใจแก่ตำรวจดีๆ ตำรวจอาชีพที่สละความสุขส่วนตัวให้สมกับที่ว่า พิทักษ์สันติราษฎร์อีกด้วย

 

หลังจากนั้นไม่นาน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2523 มีรายงานในคอลัมน์ “มติชนบุ๊คสโตร์” ผู้รายงานคือ เมฆ วรรณกรรม ว่า

ฮือฮากันไปทั้งวงการ เมื่อนายตำรวจ สารวัตรใหญ่ สารวัตรสอบสวน สารวัตรปราบปราม และนายร้อยเวร รวม 4 คนเต็มตามอัตรานายตำรวจผู้ใหญ่ประจำโรงพักสำราญราษฎร์ เดินขึ้นมาบนสำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน ถนนเฟื่องนคร พร้อมแจ้งกับขรรค์ชัย บุนปาน บรรณาธิการด้วยวาจาว่า ได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ให้มาขอตรวจค้นเอกสารบางฉบับที่เกี่ยวกับ 14 ตุลาคม… 0 หลังจากตรวจค้นดูทุกห้องทุกชั้นจนเป็นที่พอใจแล้ว สารวัตรสอบสวนก็เขียนบันทึกรายงานการตรวจค้นยืนยันว่า ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น แล้วให้เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ลงนามรับทราบ…0

จากการตรวจสอบตั้งแต่ระดับอธิบดีกรมตำรวจผู้เป็นเจ้าพนักงานการพิมพ์ และผู้กำกับการแผนกเอกสารและสิ่งพิมพ์ลงมาถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไม่พบว่าเป็นคำสั่งของใคร เว้นเสียแต่ผู้กำกับการนครบาล 1 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในท้องที่นี้ บอกมาว่าขอให้เป็นผู้รับผิดชอบเองก็แล้วกัน…0

กิตติ ชูพินิจ ประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์เพิ่งเดินทางกลับจากร่วมคณะนายกรัฐมนตรีไปเมืองจีน ถึงกรุงเทพฯ เย็นวันศุกร์ รู้ข่าว เรียกประชุมพิจารณาปัญหานี้ทันทีในวันรุ่งขึ้น ระบุเป็นการคุกคามการประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์โดยแท้…0

เมื่อตรวจค้นหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้ก็มีสิทธิตรวจค้นหรือคุกคามฉบับอื่นๆ อีกต่อไป พล.อ.เสริม ณ นคร รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และหนอนหนังสือตัวยง รู้สึกบ้างไหมว่านี่คือการคุกคามเสรีภาพหนังสือพิมพ์และวงการวรรณกรรม…0