วิเคราะห์ : จับตาโลกร้อน “ฮินดูกูช-หิมาลัย”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

คราวที่แล้วพูดถึงกลาเซียร์บนเกาะกรีนแลนด์ เกาะไอซ์แลนด์ และเทือกเขาหิมาลัย คราวนี้มาพูดถึงเทือกเขาฮินดูกูชซึ่งเชื่อมกับหิมาลัย แหล่งกลาเซียร์ขนาดใหญ่ที่สุดรองจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ หรือที่เรียกขั้วโลกที่สาม (Third pole)

ฮินดูกูช-หิมาลัยกำลังเป็นจุดจับจ้องของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกหลังผลประมวลข้อมูลล่าสุดพบว่า ภายในศตวรรษนี้ อุณหภูมิของพื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเพิ่มขึ้น 4.4 องศาเซลเซียส และมีผลกระทบอย่างรุนแรงกับแม่น้ำ 10 สายหลักของภูมิภาคเอเชีย

การประมวลผลข้อมูลฮินดูกูช-หิมาลัยอยู่ในรายงานชื่อ “The Hindu Kush Himalayan Assessment: Mountains, Climate Change, Sustainability and People” ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ 210 คนจาก 22 ประเทศ ใช้เวลา 5 ปีศึกษาในมิติต่างๆ ทั้งภูมิศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยั่งยืนและประชาชนในพื้นที่รอบๆ

เทือกเขาทั้งสองใหญ่โตมโหฬาร มีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ปากีสถาน อัฟกานิสถาน มาจนถึงเมียนมา เป็นต้นน้ำของแม่น้ำโขง สาละวิน อิรวดี คงคา แยงซี ฯลฯ

ผู้คนที่อยู่ริมฝั่งและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำ 10 สายหลักรวมกันแล้วราว 2,000 ล้านคน

 

อย่างที่ทราบกันว่าเทือกเขายังเป็นแหล่งกำเนิดของระบบนิเวศน์อื่นๆ ความหลากหลายทางชีวภาพ

พืชหลักๆ ไม่ว่าข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลย์ มะเขือเทศ มันฝรั่ง มีจุดกำเนิดบนเทือกเขาทั้งสิ้น

เมื่ออุณหภูมิโลกเพิ่มสูง ธารน้ำแข็งหรือกลาเซียร์บนเทือกเขาฮินดูกูชและหิมาลัยจะละลาย เกิดน้ำท่วม และเมื่อหิมะละลายหมด ความแห้งแล้งก็ตามมา

นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า ถ้าชาวโลกยังขืนดันทุรังปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้ กลาเซียร์บนเทือกเขาฮินดู และหิมาลัยจะละลายราว 2 ใน 3 ภายในปี 2563

แม้ว่าการออกกฎกติกาควบคุมปริมาณก๊าซพิษไม่ให้ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศอย่างจริงๆ จังๆ จนกระทั่งอุณหภูมิโลกพุ่งไม่สูงเกิน 1.5 ํc แต่กระนั้นกลาเซียร์บนเทือกเขาทั้งสองก็ยังละลาย แผ่นน้ำแข็งหดตัวลง 36 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณกลาเซียร์ทั้งหมดที่มีอยู่

ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากกลาเซียร์ละลาย จะเกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานเพราะน้ำท่วม

ส่วนเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำจะเผชิญกับระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

ประเทศปากีสถาน บังกลาเทศ อินเดีย เมียนมา จีน อัฟกานิสถาน ภูฏาน เนปาล จะกลายเป็นประเทศเสี่ยงภัยอันเนื่องจากกลาเซียร์ละลายในอันดับต้นๆ ของโลก

 

เมื่อปี 2551 พายุไซโคลนนาร์กิสถล่มเมียนมามีผู้คนเสียชีวิต 140,000 คน และอีก 800,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย อีก 7 ปีถัดมา มีน้ำท่วมใหญ่ โคลนถล่ม มีผลกระทบกับชาวเมียนมา 9 ล้านคน

ปากีสถานเผชิญกับคลื่นความร้อน ภัยแล้ง คนในชนบทได้รับผลกระทบอย่างมาก และผลผลิตทางการเกษตรลดลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

นอกเหนือความเสี่ยงจากภัยพิบัติแล้วในทศวรรษหน้าทั้งปากีสถานและเมียนมาจะอยู่ในภาวะความไม่มั่นคงทั้งทางการเมือง ทางสังคม สั่นคลอนภาวะสันติสุขของประเทศ

บังกลาเทศตั้งอยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหญ่ที่สุดของโลก เมื่อเกิดภาวะโลกร้อน จะเจอภัยหลากหลาย ทั้งพายุ น้ำท่วม และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

ทุกปีชาวบังกลาเทศเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเฉลี่ย 700,000 คน แต่ในอนาคตข้างหน้าไม่เกิน 3 ทศวรรษ ชาวบังกลาเทศจะเจอภัยจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงทะลักล้นเข้าไปในแผ่นดินเพิ่มขึ้นราว 20 เปอร์เซ็นต์ เกิดการอพยพหนีภัยราวๆ 20 ล้านคน

จีนเผชิญกับสภาพภูมิอากาศรุนแรง ทั้งคลื่นความร้อนและภัยแล้ง ส่งผลให้เกิดการอพยพถิ่นฐานกว่า 6 ล้านคนในระหว่างปี 2555 แนวโน้ม คนในชนบทจะอพยพเข้าไปอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและวัฒนธรรม

 

อินเดียซึ่งเป็นประเทศปล่อยมลพิษออกมามากที่สุดของโลกรองจากจีนและสหรัฐอเมริกา เผชิญกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ภัยแล้งบีบให้ชาวอินเดียต้องเคลื่อนย้ายถิ่นฐานเข้าไปหาโอกาสใหม่ๆ ในเมือง

ธนาคารโลกประเมินว่า ปีหน้าชาวอินเดียจะเผชิญแรงกดดันจากสภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรง อากาศที่เป็นพิษ ดินเสื่อมและการโค่นทำลายป่าไม้ นอกจากนี้แล้วเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศยังอพยพหนีภัยเข้ามาอยู่ในอินเดียเพิ่มขึ้นด้วย

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่อยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งจนผู้คนหยิบปืนขึ้นมาสู้รบกันเองและไม่มีทีท่าว่าจะยุติศึกได้ ยังต้องเผชิญกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดภัยแล้งยาวนาน

ส่วนภูฏานและเนปาล อยู่ท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย การเปลี่ยนแปลงของเทือกเขาหิมาลัยมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ในทุกด้าน

ถ้ากลาเซียร์บนเทือกเขาหิมาลัยละลายมากขึ้น อากาศร้อนขึ้น ผู้คนยิ่งจะเป็นทุกข์มากขึ้น

 

สําหรับประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในแนวของเทือกเขาทั้งสอง แต่จะมีผลกระทบด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นเส้นทางไหลผ่านของแม่น้ำโขง

เวลานี้ชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเผชิญกับความปั่นป่วนเพราะจีนซึ่งสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำและควบคุมการปล่อยน้ำลงมาสู่ด้านล่าง ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในหน้าแล้ง และเกิดน้ำท่วมใหญ่ในช่วงฤดูน้ำหลาก

ถ้ากลาเซียร์บนเทือกเขาฮินดูกูชและหิมาลัย ละลายจนไม่มีหิมะเหลือ น้ำในแม่น้ำโขงจะเหือดแห้งไปด้วย

คนไทยที่พึ่งพิงประโยชน์จากน้ำโขงก็เผชิญทุกข์เหมือนๆ ชาวเมียนมา ชาวปากีสถาน และชาวเมืองอื่นๆ อีกกว่าพันล้านคน

ปิดท้ายกับข่าวของ “เจย์ อินส์ลี” (Jay Inslee) ผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน ประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ

เคยเอาเรื่องราวของคุณอินส์ลีมาเล่าสู่กันฟังในคอลัมน์นี้ เพราะผู้ว่าการรัฐอินส์ลีเป็นนักรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมและปลุกกระแสต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมานาน

ตั้งแต่อินส์ลีได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐวอชิงตัน เปลี่ยนโฉมหน้าเป็นรัฐที่มีการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับแนวนโยบายสีเขียว

ชาวเมืองนิยมชมชอบผู้ว่าการรัฐคนนี้มาก

เมื่อ “อินส์ลี” นำแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อต้านโลกร้อนไปเสนอในเวทีใหญ่ ก็เป็นเรื่องหนักหนาสาหัสเนื่องจากคนอเมริกันมีความเห็นต่างในเรื่องนี้อยู่มาก คนไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนมีไม่น้อย

“อินส์ลี” คงรู้ตัวว่าเดินหน้าลุยต่อก็คงไม่ได้เสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคเดโมแครตมากเท่าไหร่นัก สู้กลับมาปักฐานเตรียมตัวลงสมัครแข่งเป็นผู้ว่าการรัฐอีกรอบน่าจะดีกว่า

เวลานี้ “อินส์ลี” อายุ 68 ปีแล้ว ถ้าได้เป็นผู้ว่าการรัฐวอชิงตันสมัยที่ 3 ก็ถือเป็นเกียรติประวัติยิ่งใหญ่