ศัลยา ประชาชาติ : กอบศักดิ์ ภูตระกูล โลกยังสวยงามแม้เศรษฐกิจทรุด ลั่นพลิกวิกฤตสู่โอกาสทอง…

ผลสะเทือนของสงครามการค้า-ค่าเงิน ลามสู่สงครามเทคโนโลยี ไม่เพียงสหรัฐอเมริกากับจีนที่เป็นคู่ขัดแย้งแต่ลุกลามกระจายทั่วทุกทวีป

ประเทศไทยไม่ได้รับสิทธิยกเว้น ต้องโดนหางเลข จากสงครามเศรษฐกิจที่เข้าสู่วัฏจักร “ถดถอย”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง – มือขวาของ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตนักกลยุทธ์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วง Sup-Prime Crisis เมื่อปี 2008 ฟันธงว่า

ครั้งนี้ “สงครามการค้าไม่ใช่วิกฤต”

“ดร.กอบศักดิ์” เชื่อว่า สัญญาณเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นเพียงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก เป็นช่วงขาลง ไม่ใช่วิกฤต เพราะโอกาสการเกิดวิกฤต คือ การสะสมปัญหาไม่ต่ำกว่า 10 ปีของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

“ถามว่า 10 ปีที่ผ่านมาใครสะสมปัญหาที่ไหนบ้าง อเมริกาไม่ลงทุน ยุโรปไม่ลงทุน ญี่ปุ่นไม่ทำอะไรเลย ประเทศใหญ่ๆ ด้านการเงินไม่มีการสุ่มเสี่ยง มีแต่ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่กู้เงินมาเยอะจนเกิดปัญหาไปแล้ว”

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ “ดร.กอบศักดิ์” วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ว่า เศรษฐกิจโลกแย่กว่าที่คิดไว้ สัญญาณต่างๆ ชะลอตัวลง 4 ไตรมาส

“เป็นปรากฏการณ์ปกติที่มีขึ้น มีลง เป็น down circle เป็นช่วงขาลง ท่ามกลางความอ่อนตัวทางเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่คาดไว้ และยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมในเรื่องสงครามการค้า”

“ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้ง หมายความว่า สงครามการค้าจะต่อเนื่องไปอีก 5 ปี ยิ่งใกล้เลือกตั้งเท่าไหร่ สงครามการค้าก็จะรุนแรงขึ้น”

“ดร.กอบศักดิ์” ไม่กังวลปัจจัยภายนอกเอฟเฟ็กต์จาก “กำแพงภาษี” เพื่อกีดกันทางการค้า-ตอบโต้ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐ เพราะมองว่าเป็นเกมการต่อสู้ของสองประเทศ

“ขณะที่จีนกับสหรัฐทำสงครามทางการค้า สินค้าส่งออกของไทยบางตัวได้ประโยชน์ เพราะไทยเป็นฐานการผลิต”

มองจากแว่นของ “ดร.กอบศักดิ์” อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ส่องปรากฏการณ์ขณะนี้ว่า “ไม่ใช่วิกฤต” เป็นเพียงการชะลอตัว แต่…

“เมื่อใดที่มีการใช้เครื่องมือค่าเงิน-สงครามค่าเงินเป็นเรื่องที่กระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้

เกมมาตรการทางภาษี ผมไม่ตื่นเต้น แต่ช่วงหลังจีนใช้ค่าเงินตอบโต้สหรัฐ ทำให้เราลำบาก ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เพราะกระทบกับภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว”

 

“ดร.กอบศักดิ์” ยังเรียกร้องความเชื่อมั่นนักธุรกิจ-นักลงทุน ให้เปลี่ยนจากการตั้งรับกลายเป็นรุก ว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ-กำลังจะทำ คือ 1.เร่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 2.ลดดอกเบี้ยนโยบาย 3.ลงทุนต่างประเทศ เช่น ซื้อเครื่องจักร 4.เอกชนไทยลงทุนต่างประเทศ 5.เร่งชำระหนี้ และควบคุมการไหลเข้า-ออกของค่าเงินบาทด้วยมาตรการแบงก์ชาติ

ถ้าเดินไปตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ 2-3 เดือน ทุกอย่างจะเข้าที่ รัฐบาลเป็นทีมมากขึ้น ทั้งหมดเป็นโอกาส ต้องมองให้ออก ความกลัวจะหายไป ทุกครั้งมีโอกาส ถ้าใจนิ่งๆ”

ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เขาฉายภาพเศรษฐกิจโลก-เศรษฐกิจไทยท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ ครม.เศรษฐกิจ

ด้วยการจี้จุด-หัวใจของปัญหาคือ “ให้รัฐมนตรีทุกคนเห็นภาพตรงกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ตั้งเป้าหมายร่วมกัน-ตรงกัน เพราะรัฐบาลผสมหลายพรรคมีความเสี่ยง เสี่ยงที่จะเกิดการแข่งขันกัน ต่างคนต่างทำ ไม่มีพลัง”

เป้าหมายร่วมเดียวกัน-ตรงกัน คือ การขยายตัวเศรษฐกิจปีนี้ 3% ปีหน้า 3.5% ด้วยแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาท

“ถ้าไม่ทำอะไรเลย เศรษฐกิจปีนี้จะโต 2.7% แต่เมื่อมีมาตรการออกมา 3 แสนล้าน ส่งผลบวกต่อการขยายตัว 0.4-0.5% หัวใจคือ การขับเคลื่อนโครงการลงทุน โครงการรัฐบาลปีนี้ เมื่อรวมมาตรการของกระทรวงการคลัง การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ของทุกกระทรวง มั่นใจ จีดีพีได้ 3% แน่นอน”

ขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2562-2563 “ดร.กอบศักดิ์” รับใบสั่งจากนายกรัฐมนตรี ให้เกาะติดข้อมูลเศรษฐกิจทุกเดือนและรายงานความคืบหน้าของมาตรการเดินเครื่องเศรษฐกิจเต็มสูบ

เขาประเมิน “พีระมิด” ในระบบทุนนิยมไว้เห็นภาพว่า “คนที่อยู่ข้างบน เจ้าสัวไปได้ ไม่มีปัญหา บริหารจัดการได้ ตรงกลางปรับตัวได้ แต่ข้างล่างเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ มีปัญหา ปรับตัวไม่ได้ จึงต้องมีมาตรการคลัง”

“ธุรกิจมีขึ้น มีลง ครั้งนี้ไม่ใช่วิกฤต แค่ชะลอ อาจจะ 1-2 ปี แต่ไม่ใช่ 5 ปี ต้องอ่านให้ออกว่าเกิดอะไรขึ้น วิกฤตปี 2008 วิกฤต 2540 กว่าจะแก้ไขได้ต้องใช้เวลา 5 ปี เหมือนเป็นมะเร็ง ต้องผ่าตัด แต่เศรษฐกิจชะลอตัว ลดดอกเบี้ย เร่งใช้จ่าย เหมือนเป็นไข้หวัด กินยาแก้หวัดก็หาย”

 

การประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ครั้งถัดไปในวันที่ 30 กันยายน จะเป็นการขันน็อต-ปลดล็อกการลงทุนและการส่งออก โดยอาศัย “ยาแรง” มาตรการดึงดูดนักลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และการเป็น “จุดศูนย์กลาง” หรือ “ไข่แดง” ของภูมิภาคที่มีประเทศรอบข้างมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 7%

“โอกาสมีเสมอในวิกฤต ส่งออกคือโอกาส ไปอเมริกา ไปจีน การค้าชายแดน CLMV บังกลาเทศและอินเดีย นักลงทุนกำลังย้ายฐานครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี ไม่มีโอกาสครั้งใดดีเท่าโอกาสในครั้งนี้อีกแล้ว ต้องทำให้บีโอไอเปลี่ยนจากใช้เบ็ดตกปลาเป็นแหหาปลา เป็นยาแรงเพื่อให้นักธุรกิจย้ายฐานมาประเทศไทย”

การประชุม “ครม.เศรษฐกิจ” ครั้งที่สาม-กลางเดือนกันยายน จะมีเป้าหมายอยู่ที่การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในช่วง “ไฮซีซั่น” และการเปิดทุกเก๊ะผลักเงินลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ในไทม์ไลน์ทั้งหมด

ขณะที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่วัฏจักรขาลง มีแต่จะถดถอย แต่ “กอบศักดิ์” ยังใจแข็ง และมองโลกสดสวยงดงามได้เสมอเช่นกัน