ธงทอง จันทรางศุ | เจ้าพระยาเกรี้ยวกราดโกลา

ธงทอง จันทรางศุ

ช่วงเวลาประมาณสองเดือนเศษที่ผ่านมา สำหรับความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษและต่อเนื่อง เห็นจะไม่พ้นจากเรื่องคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าทำหน้าที่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปผ่านพ้นไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน

คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันนี้มีทั้งรัฐมนตรีหน้าเก่าและหน้าใหม่ หลายท่านเคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายรอบแล้ว

รัฐมนตรีประเภทนี้ผมยังพอนึกชื่อนึกหน้าออกได้บ้าง เพราะเห็นหน้าค่าตากันมานาน

แต่ก็มีอีกหลายท่านที่เป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่ ถ้าเดินสวนกันกลางถนนและไม่มีใครชี้ให้ดูเป็นพิเศษ ผมก็คงนึกไม่ออกเหมือนกันว่าท่านเป็นรัฐมนตรีชื่ออะไร และอยู่กระทรวงไหน

รัฐมนตรียุคหลังๆ นี้เขาว่ากันว่า เปลี่ยนกันบ่อย เปลี่ยนกันเร็ว เรื่องนี้ผมเอาตัวผมเองเป็นมาตรฐานก็ขอรับรองว่าเห็นจะจริง เพราะบางคนผมยังไม่ทันรู้เลยว่าเป็นรัฐมนตรี ท่านก็พ้นจากตำแหน่งไปเสียแล้ว

สู้รัฐมนตรีเมื่อสมัยผมเป็นเด็กไม่ได้ ตอนผมเป็นนักเรียนชั้นประถมนั้น นายกรัฐมนตรีชื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ท่านเป็นนายกฯ ต่อเนื่องตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2506 ต่อเนื่องจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จอมพลถนอมท่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรับช่วงยืดยาวไปจนถึงต้นปีพุทธศักราช 2512

ช่วงเวลาหกปีนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร มีแต่สภาร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในทางการเมืองแล้ว ทุกอย่างจึงสงบราบคาบเรียบร้อยพ้นที่จะประมาณ ใครเป็นรัฐมนตรีก็เป็นกันแบบยั่งยืนยาวนานเลยล่ะครับ

หลายท่านเป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์แล้วยังเป็นต่อในรัฐบาลจอมพลถนอมอีกด้วย

สรุปแล้วบางท่านจึงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีไม่น้อยกว่าสิบปีเลยทีเดียว

เด็กสมัยนี้คงหัวร่อขำกลิ้งไปถ้าจะบอกว่า ข้อสอบสมัยผมเป็นเด็กชั้นประถมมีการถามชื่อรัฐมนตรี ว่ารัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ชื่ออะไร เราต้องตอบให้ถูกนะครับ แต่เนื่องจากท่านเป็นนานๆ หลายปี เด็กนักเรียนทั้งหลายก็จำชื่อรัฐมนตรีไปได้ในที่สุดเพราะได้ยินในวิทยุโทรทัศน์ทุกวัน

รัฐมนตรีเมื่อผมเป็นเด็ก หลายท่านเป็นขุนนางตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านจึงมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน หลวง พระ พระยาติดตัวมาด้วย

ที่ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ก็เช่น พระยาอรรถการีนิพนธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พระประกาศสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

และพระบำราศนราดูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ฟังราชทินนามของทุกท่านแล้วเข้าใจเลยครับ แต่ละท่านมีความเก่งหรือความเชี่ยวชาญในด้านไหน

เข้าใจแล้วก็พลอยทำให้เกิดความนับถือเลื่อมใสขึ้นมาด้วย

ชื่อของรัฐมนตรีที่จำยากที่สุดเมื่อตอนผมเป็นเด็กคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ท่านชื่อ พล.อ.ท.มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ เพราะท่านเคยเป็นคุณพระเวชยันต์รังสฤษฎ์มาก่อน แล้วต่อมาท่านลาออกจากบรรดาศักดิ์ แต่ท่านก็ยังนำราชทินนามดั้งเดิมมาต่อท้ายชื่อและนามสกุลของท่าน

ไม่เห็นใจเด็กประถมชั้นปีที่สี่กันบ้างเลยหรืออย่างไร

ถ้าความจำผมไม่ผิดพลาด จนเมื่อผมเข้ามหาวิทยาลัยเรียนหนังสืออยู่ในคณะนิติศาสตร์แล้ว รัฐมนตรีในรัฐบาลช่วงนั้นยังมีบางท่านเหมือนกันที่เคยเป็นขุนนางเก่าแบบที่มีบรรดาศักดิ์มาก่อน แต่ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์และไม่ได้ขอพระราชทานกลับคืนสู่บรรดาศักดิ์ แบบเดียวกันกับคุณพระเวชยันต์

แต่คนทั้งหลายก็รู้อยู่ว่าท่านเคยเป็นท่านขุนหรือเป็นคุณหลวงมาก่อนอยู่ดี

เช่นในรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อพุทธศักราช 2516 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สิทธิสุนทร ท่านเคยเป็นคุณหลวงมาก่อน ดูเหมือนจะมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่าหลวงอรรถสิทธิ์สุนทร คนก็ยังติดปากเรียกท่านว่า “คุณหลวง” อยู่เสมอ

หรืออีกท่านหนึ่งในรัฐบาลชุดเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งนั้นชื่อ พล.อ.ครวญ สุธานินทร์ ท่านเคยเป็นขุนมาก่อน มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามว่า ขุนครวญใคร่รบ

ฟังแล้วเป็นทหารสุดฤทธิ์สุดเดชไหมล่ะครับ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนบทความในหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน พูดถึงรัฐมนตรีการกระทรวงกลาโหมท่านนี้ โดยแปลราชทินนามของท่านเป็นภาษาอังกฤษว่า Cry to make war

เยาวชนคนรุ่นใหม่อ่านข้อเขียนของผมวันนี้คงสงสัยว่าอะไรคือบรรดาศักดิ์และอะไรคือราชทินนาม เพราะผมพูดซ้ำไปซ้ำมามาหลายหนแล้ว ลองไปเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกันดูไหมครับ

ท่านอธิบายคำว่า “บรรดาศักดิ์” ว่า ฐานันดรศักดิ์ที่พระราชทานแก่ข้าราชการหรือบุคคลทั่วไป แบ่งออกเป็น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน และทนาย โดยมีราชทินนามต่อท้าย เช่น เจ้าพระยายมราช พระยาพลเทพ

ผมขออธิบายขยายความว่า ราชทินนาม คือชื่อที่ได้รับพระราชทานให้ใช้ประกอบกับบรรดาศักดิ์นั้น ล้วนแต่เป็นชื่อที่ทรงคัดสรรแล้วอย่างไพเราะและมีความหมายเป็นสิริมงคล

บ่อยครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถพิเศษหรือภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้นั้น

เช่น สุนทรภู่ กวีเอกของเมืองไทย ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นคุณพระและมีราชทินนามว่าสุนทรโวหาร ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้มีโวหารไพเราะงดงาม

ราชทินนามนี้เหมาะสมทุกประการกับความสามารถส่วนตัวของท่านและตำแหน่งราชการที่เป็นอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง

แต่มีข้อควรระวังว่าพระสุนทรโวหารนั้นอาจมีได้หลายคน เพราะเมื่อพระสุนทรโวหารคนเดิมได้เลื่อนไปเป็นพระยา หรือเปลี่ยนไปใช้ราชทินนามอื่น หรือถึงแก่ความตายไปแล้ว ราชทินนามสุนทรโวหารว่างอยู่ อาจจะทรงหมุนเวียนนำไปใช้เพื่อพระราชทานให้ผู้อื่นเป็นพระสุนทรโวหารอีกก็ได้

เมื่อพูดถึงขุนนางในสมัยนั้น เพื่อความไม่สับสนผิดพลาดจึงต้องมีวงเล็บบอกชื่อและนามสกุลจริงของเจ้าตัวอยู่ข้างท้ายด้วยจึงจะปลอดภัย

เช่น พระยาอรรถการีนิพนธ์ที่กล่าวถึงมาข้างต้น ถ้าเขียนให้ครบเครื่องแล้วก็ต้องบอกว่า พระยาอรรถการีนิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) หรือเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) อย่างนี้เป็นต้น

คำว่า สุนทรภู่ ที่เราเรียกกันจนติดปากนั้น แท้ที่จริงก็คือแบบย่อของคำว่า พระสุนทรโวหาร(ภู่) นั่นเอง แต่สุนทรภู่ไม่มีนามสกุลนะครับ เพราะสุนทรภู่เกิดและมีชีวิตจบสิ้นก่อนที่จะมีนามสกุลเกิดขึ้นในประเทศไทย

แบบธรรมเนียมของการมีบรรดาศักดิ์และราชทินนามสำหรับข้าราชการทั่วไปได้ยกเลิกไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อพุทธศักราช 2475 จะมีผู้ที่มีบรรดาศักดิ์และราชทินนามตกค้างอยู่ก็เป็นคนรุ่นเก่า ที่ได้รับพระราชทานมาก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งสิ้น และไม่น่าจะเหลือใครที่เป็นขุนนางรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตยืนยาวมาถึงปัจจุบันนี้แล้วครับ

ผมเคยนึกเล่นๆ ว่า ถ้าจะนำธรรมเนียมนี้กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งคงครึกครื้นไม่ใช่เล่น จำนวนข้าราชการมีเป็นแสนเป็นล้าน ผู้มีหน้าที่คิดราชทินนามถวายเพื่อทรงเลือกสำหรับพระราชทานคนโน้นคนนี้คงมีงานตลอดทั้งปีและวันละ 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุดพักเลย

แม้ไม่ได้มีหน้าที่เป็นอาลักษณ์ แต่ผมก็ได้คิดราชทินนามเผื่อไว้ได้หลายชื่อแล้วครับ หากจะนำระบบนี้มาใช้อีกครั้งหนึ่ง ผมมี เจ้าพระยาเกรี้ยวกราดโกลา เป็นชื่อแรกเลยที่ขอนำเสนอ

และถ้าตัวเองจะได้มีวาสนามีบรรดาศักดิ์กับราชทินนามกับเขาบ้าง ผมคิดว่าผมเหมาะที่สุดแล้วที่จะได้เป็น พระยาประชุมตลอดศก (ธงทอง จันทรางศุ)

ส่วนใครเหมาะจะเป็นเจ้าพระยาเกรี้ยวกราดโกลานั้น เรามาทายกันสิครับว่าเราคิดตรงกันไหม