ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ /Otherhood

ใส่บ่าแบกหาม/พรพิมล ลิ่มเจริญ

Otherhood

เธอจ๊ะ

Otherhood สร้างจากนิยายเรื่อง Whatever Makes You Happy เขียนโดย William Sutcliffe ออกขายเมื่อปี 2008 นู่น

เขาว่าเขาเป็นหนังตลก กำกับการแสดงโดย Cindy Chupack ผู้ซึ่งเคยเขียนบทและกำกับฯ Sex and the City และส่งเข้าชิงรางวัลในวงการทีวีหลายที่

นอกจากนั้น ก็ยังมีซีรี่ส์อย่าง Everybody Loves Raymond และ Modern Family ที่ซินดี้ไปเขียนบทและเป็นผู้ร่วมผลิตซีรี่ส์ ฉันชอบดูทั้งสามเรื่องเลย

Otherhood เป็นเรื่องของคนเป็นแม่ 3 คนที่เป็นเพื่อนกัน แสดงโดย Patricia Arquette, Angela Bassett และ Felicity Huffman และนักแสดงสามท่านยังเป็น Executive Producer ของหนังอีกด้วย

ฉันสนับสนุนแนวคิดนี้เธอก็รู้ นักแสดงอยากแสดงหนังแบบไหนก็รวมตัวรวมใจกันมาผลิต แล้วก็ส่งไปในระบบ streaming ให้ผู้ชมได้ดูชม

นักแสดงไทยชอบขายคลิปชีวิตประจำวันของตนเองยาวห้านาทีสิบนาที พร้อมแทรกโฆษณาขายครีมขายผงชงดื่มลงยูทูบ ดูเบื่อๆ ไยเขาไม่คิดการใหญ่ๆ ผลิตงานศิลปะบันเทิงแบบนี้กันบ้าง?

 

Otherhood เป็นคำที่ไม่มีในพจนานุกรมแหละ ในหนังเขาก็ใส่มาให้เราได้รู้ความหมายที่มาที่ไป

Well, at this stage, it doesn’t feel like

motherhood. It feels like “otherhood.”

ถึงตอนนี้ มันไม่รู้สึกว่าเป็นแม่แล้ว

เหมือนเป็นคนอื่นละสิไม่ว่า

เอาตัว m ออกตัวเดียว เหลือเป็น other จากแม่กลายเป็นคนอื่นเลย

แม่พูดและคิดแนวนี้แม่ต้องน้อยอกน้อยใจอะไรบางอย่างสินะ ลูกในไส้เห็นแม่เหมือนเป็นคนอื่นที่เธอไม่เคยสนใจ เหมือนเป็นเพียงสิ่งที่เธอคุ้นเคยแต่มองข้ามไป ใจเปี่ยมด้วยรักและความห่วงใยฉันนั้นให้ทุกอย่าง อยากให้เธอเจอะเจอแต่วันที่ดี แต่แม่ต้องทำอะไรผิดพลาดไปสิ ลูกถึงปฏิบัติต่อแม่เยี่ยงนี้ในวัยหนุ่ม

แต่แม่ในหนังไม่เศร้าสร้อยน้อยใจอยู่บ้านเฉยๆ ไม่เฝ้าเอาแต่รอลูกคิดออก ไม่รอลูกสำนึกหรือสำเหนียก ด้วยว่าแม่นี้อดทนรอลูกมาจนสุดทางแล้ว ถึงเวลาบุกตะลุยไปเคลียร์สิ่งค้างคาใจกับลูกได้แล้ว

เรื่องนี้มีสามแม่ ได้แก่ แครอล จิลเลี่ยน และเฮเลน

Everyone’s heard of the city

that never sleeps.

What about the mothers who never sleep

because their boys move

to the city and never call?

ทุกคนเคยได้ยินเมืองไม่เคยหลับ

แต่เรื่องแม่ๆ ผู้ไม่เคยหลับ

เพราะลูกๆ ย้ายไปอยู่ในเมือง

และไม่เคยโทร.มาหา?

แม่เปรยๆ เชิงตัดพ้อให้คุณผู้ชมได้ยินตั้งแต่ต้นเรื่องเลย ลูกๆ ไปปักหลักอยู่ในแมนฮัตตันกันหมดแล้ว

แม่เลี้ยงลูกมาให้พึ่งตัวเองได้ พอลูกโต ลูกก็ย้ายจากบ้านไปมีชีวิตของตัวเอง มันยากลำบากใจก็ตรงลูกติดต่อกลับมาน้อยมาก ลูกตัวเป็นๆ แทบจะไม่ได้เห็นกันเลย เหล่าแม่ๆ ทั้งสามก็ได้ความเป็นเพื่อน เป็นแก๊ง เป็นกลุ่มที่คอยปรับทุกข์ใส่กันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าลูกหายไป เขาไปไหนกันหนอ? เราผิดอะไรที่ไหนกันหรือ?

สามคนเรียกว่าโชคดีได้เป็นเพื่อนกัน พบเจอกันในตอนแรกก็เพราะลูกๆ

In fact, that’s what bonded us

when the boys’ friendship

launched our friendship

on a playground in Poughkeepsie.

สิ่งที่เชื่อมสัมพันธ์เราไว้

เด็กๆ เป็นเพื่อนกัน เราก็เลยได้เป็นเพื่อนกัน

ที่สนามเด็กเล่นแห่งหนึ่งในเมืองเพอคิพซี่

 

Poughkeepsie เป็นชื่อเมืองหนึ่งในนครนิวยอร์ก ห่างจากแมนฮัตตันโดยการขับรถยนต์ไปมาก็จะนับได้ประมาณ 1.40 ชั่วโมง ใกล้แค่นี้ ลูกไยไม่มาเยี่ยมเยียนแม่บ้างเลยหนอ?

เมืองนี้คนจะอ่านผิดบ่อยๆ ว่า โพ-คีพ-ซี่ จริงๆ มันอ่านด้วยเสียงสั้นๆ ว่า เพอ-คิ้พ-ซี่

สามคนมีธรรมเนียมปฏิบัติที่นัดกันไว้ว่า ทุกๆ ปีในวันแม่ ทั้งสามคนจะมาเจอกัน อย่างเช่นวันนี้ปีนี้ นัดกันมารวมตัวที่บ้านของจิลเลี่ยน คุณแม่ๆ ทั้งสามก็จะมีประเด็นกับลูกชายแตกต่างกันไป

จิลเลี่ยนนี้สามีตายแล้ว เลยอยู่บ้านหลังใหญ่อยู่คนเดียวเปลี่ยวเอกา เพื่อนมาถึงบ้านก็พบว่าสถานที่ก็จัดแล้ว โต๊ะก็จัดเรียบร้อย มีดอกไม้ดอกไร่ใส่แจกันสวยตกตะลึงจังงัง อาหารยิ่งสวยใหญ่ เพื่อนต้องออกปาก

Look at this spread.

ดูอาหารเต็มโต๊ะนี้สิ

a spread ใช้กับอาหาร จะหมายถึง อาหารมากมายที่จัดวางไว้บนโต๊ะตัวใหญ่ แบบโต๊ะอาหารในงานปาร์ตี้ งานประชุมสัมมนา ให้แขกมางานได้เลือกกินตามชอบใจได้

แครอลนี้ ยังแต่งงานอยู่ดีมีสามีข้างกาย ลูกชายเป็นนักเขียน แม่จะมีประเด็นกับคนรักของลูก ไม่ชอบแฟนลูกว่างั้นก็ได้ แฟนลูกประกอบอาชีพเป็น hairstylist คุณแม่กลับลดสถานะเรียกเป็น hairdresser ซะงั้น!

แครอลกล้าหาญไปบอกลูกชายว่าผู้หญิงคนนี้ไม่ดีพอ ลูกเลยอันเฟรนด์เข้าให้เลย

จิลเลี่ยนมีลูกชายทำงานเป็นอาร์ตดีไซเนอร์ให้นิตยสาร คุณแม่คนนี้มีประเด็นว่าสามีตาย ลูกชายก็ไม่ค่อยมาเยี่ยมเยียน ลูกชายสมัยเมื่อครั้งยังเด็กถูกปล่อยไว้กับพ่อที่เอาแต่เคี่ยวเข็ญให้เก่งกีฬาและนานาทักษะ

ณ จุดหนึ่ง จิลเลี่ยนสารภาพกับเพื่อนว่าดอกไอริสช่อโตในแจกันบนโต๊ะนั้น…

I sent myself the flowers.

And each year it gets

more and more depressing

so I get bigger and bigger flowers.

ฉันส่งดอกไม้ให้ตัวเอง

ก็ทุกปีๆ มันหดหู่ขึ้นทุกทีๆ

เลยสั่งดอกไม้ช่อโตขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนเฮเลนนั้นหย่ากับสามีเก่า และแต่งงานใหม่แล้ว ลูกชายหายแซบหายสอยไม่ต่างจากเพื่อน

Mother isn’t just a noun,

it’s a verb. It requires action.

แม่ไม่ได้เป็นแค่คำนาม

เป็นคำกริยาด้วย มันถึงต้องทำอะไรสักอย่าง

 

เฮเลนตัดสินใจรวดเร็ว ไหนๆ ก็วันแม่แล้ว ลูกไม่ไยดีขนาดนี้ จะมาส่งเพียงข้อความสั้นๆ ผ่านทางโทรศัพท์ เราบุกไปหาเขากันเลย ว่าแล้วก็จัดกระเป๋าขับรถเข้าเมืองแมนฮัตตันบุกไปหาลูกเลย

ลูกจิลเลี่ยนตกใจ และสงสัยแม่มาทำไม

You caught me off guard.

แม่มาทำผมตกใจไม่ทันตั้งตัว

แครอลรอลูกชายจนค่ำมืดดึกดื่น ลูกก็ไม่กลับบ้านเสียที แม่เลยต้องไปอยู่โรงแรมก่อนในคืนนั้น

I’m gonna ambush Daniel when it’s light.

เดี๋ยวสว่างจะไปแอบดักแดเนียล

when it’s light หมายถึง ตอนที่ฟ้าสว่างตามธรรมชาติ คือสว่างจากแสงอาทิตย์, it gets light ก็ใช้

ส่วนเฮเลนผู้ห้าวหาญชาญชัยชวนเพื่อนมาปฏิบัติภารกิจทวงคืนความเป็นแม่ ไม่กล้าเคาะประตูบ้านลูกชายเลยด้วยซ้ำไป หาข้ออ้างให้ตนเองตามระเบียบ

Paul’s got his plate full

and he doesn’t need a house guest

on top of it, you know?

พอลนั้นหน้าที่การงานเต็มมือ

ไม่ต้องมีแขกมาเพิ่มให้ยุ่งยากเข้าไปอีก

have/get (one’s) plate full หมายถึง ทั้งงาน ภาระ ปัญหาเต็มมือเต็มไม้ไปหมดแล้ว

on top of it สำนวนนี้ใช้เวลาเราเพิ่มเติมบางสิ่งที่ไม่น่าพึงใจเข้าไปอีก อย่างทุกวันนี้ต้องพูด I can’t find a cab, and on top of that it starts raining. แท็กซี่ก็หาไม่ได้ หนำซ้ำ ฝนกำลังจะตกแล้วด้วย

หนังดูเพลิน เนื่องในวันแม่ ดูแม่ๆ มีชีวิตชีวา จัดการและเผชิญหน้ากับปัญหา ที่ผิดก็ต้องรับ ที่ถูกก็ต้องลงมือทำ อายุมากต้องฉลาดให้มาก หาทางสนุกกับชีวิตให้มากตามไปติดๆ สินะ

ฉันเอง