เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์ /ประภาส…ศิลปินแห่งเพื่อน

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

ประภาส…ศิลปินแห่งเพื่อน

 

เครื่องเคียงข้างจอฉบับนี้ขอเขียนถึงเพื่อนรักของผมคนหนึ่งนะครับ

คุณประภาส ชลศรานนท์ หรือจิก หรือไอ้จิก ที่เพื่อนๆ เรียกกัน

คุณประภาสเพิ่งได้รับโอกาสอันเป็นมงคลและเกียรติยศกับชีวิตและครอบครัวอย่างยิ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ ในวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา คุณประภาสได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2561

ใช่แล้วครับ ประภาสได้รับการประกาศให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประเภทดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล

ข่าวนี้สร้างความปลาบปลื้มให้กับกลุ่มเพื่อนๆ และคนใกล้ชิดอย่างมาก และพวกเพื่อนๆ ถาปัดจัดเลี้ยงยินดีไปแล้วเมื่อหลายเดือนผ่านมา

ประภาสบอกกับเพื่อนๆ ว่า ตอนที่เข้าเฝ้าฯ นั้น มองไปยังศิลปินท่านอื่นๆ แล้วรู้สึกว่า “เด็กสุดเลยว่ะ…ท่านอื่นๆ คง 60 อัพทั้งนั้น”

ในความเป็น “ศิลปิน” ของประภาสนั้น เพื่อนๆ ไม่มีใครสงสัย และเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่การได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาตินั้น เท่ากับว่า ความเป็นอัจฉริยภาพด้านศิลปะของเขานั้นได้รับการเห็นค่าและยกย่องในระดับประเทศเลย

เฉกเช่นที่เราเห็นและชื่นชมกับศิลปินแห่งชาติท่านก่อนๆ มาแล้ว

คราวนี้เป็นเพื่อนที่ใกล้ชิดเอง จึงอดปลื้มปริ่มแทนมิได้

 

จะว่าไปแล้ว ประภาส หรือจิกนั้นก่อนที่จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติ เขามีความเป็น “ศิลปินแห่งเพื่อน” มานานแล้ว

อย่างไรน่ะหรือ?

จิกเข้ามาเป็นนิสิตสถาปัตย์ จุฬาฯ ด้วยบุคลิกที่ไม่เหมือนใคร เด็กหนุ่มจากเมืองชลตัวขาวๆ บางๆ เหมือนคนติดยา มาพร้อมกับใบหน้าแหลมๆ จมูกคุ้มงอแบบชาวยิวที่เป็นจุดเด่นบนใบหน้าของเขา ปากบางๆ ที่พูดรัวเร็ว

แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์มานานแล้ว และแม้เมื่ออายุมากขึ้น แต่สิ่งนั้นก็ยังอยู่คือ “ดวงตาของความคิด” เพราะจิกจะมีดวงตาที่มองสิ่งรอบตัวอย่างคิด วิเคราะห์ พิจารณา และแฝงด้วยความรื่นรมย์เสมอ

นี่กระมังทำให้เขาแตกหน่อออกมาเป็นงานศิลปะมากมายหลายด้าน และเป็นงานที่มีอารมณ์ของความสุข มีความหวัง มีพลังให้กับชีวิต

 

เข้ามาปีหนึ่ง กิจกรรมรับน้องเป็นสิ่งที่มีอยู่เกือบทั้งปี แค่พี่ปีต่างๆ มารับปี 1 ก็แทบจะไม่ได้ทำอย่างอื่นแล้ว นี่ยังสนุกมาจัดรับกันเองกับ “ซี้ปึ้ก 1+1” และแน่นอนที่สุราและเสียงเพลงจะเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแนวนี้เสมอ

และเราก็ได้เห็นจิกเล่นกีตาร์และร้องเพลงที่เขาแต่งเองให้ฟัง เพลงนั้นสนุกและรื่นรมย์อย่างมาก ฟังเพลินๆ เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ถ้าคิดตามคำร้องจะเห็นว่าแฝงแง่มุมความคิดที่น่าสนใจไม่น้อย

เพลง “กล้วยไข่” และ “เที่ยวละไม” ที่เป็นเพลงดังของวงเฉลียง ก็คือเพลงที่จิกเอามาร้องในวงเหล้ามาก่อน จนเพื่อนๆ เกาหัวว่า “เพลงอะไรวะ ไม่มีกระดูก…กูงง” “แถมอีกเพลงยังเอาตูดแช่น้ำอีก…เพลงอะไรมีคำว่าตูด”

จิกเล่าว่า สมัยเรียนอยู่ที่ชลบุรี เขาเคยแต่งเพลงให้กับโรงเรียนด้วย เป็นเพลงประจำโรงเรียนเพลงแรกเลยก็ว่าได้ เป็นเครื่องยืนยันว่าความสามารถในการแต่งเพลงของเขามีมานานแล้ว

และเมื่อเพื่อนๆ สนุกตั้งวงลูกทุ่ง “กระเทียมเจียว” กัน ไว้เล่นในงานของคณะ และออกไปโชว์ตามงานบ้างหากมีคนจ้าง จิกก็เป็นสมาชิกของวงร่วมกับเจี๊ยบ-วัชระ ดี้-นิติพงษ์ ตั้ว-ศรัณยู และเพื่อนคนอื่นๆ ความคิดในการดัดแปลงเพลงดังให้น่าสนใจมากขึ้นส่วนหนึ่งก็มาจากจิก

และความสามารถด้านการเขียนเพลงของเขาก็มาเห็นชัดต่อสาธารณชนเมื่อเขาก่อตั้งวงดนตรี “เฉลียง” กับเพื่อนๆ น้องๆ ขึ้นมา จนกลายเป็นวงดนตรีในตำนานวงหนึ่งของเมืองไทยในเวลาต่อมา

 

ความสามารถด้านการขีดเขียนของจิกไม่ได้มีเพียงการเขียนเพลง แต่การเขียนวรรณกรรมของเขาก็ปรากฏเด่นชัด

พื้นฐานที่ทำให้เขาเขียนเนื้อเพลงออกมาได้สวยงาม และ “มีคำ” มาจากทักษะในการแต่งกลอนของเขา จิกสนใจวิชาภาษาไทยมาตั้งแต่เด็ก วิชาอื่นอาจจะทำคะแนนไม่ดี แต่กับวิชานี้แล้ว เขาตัวพ่อคนหนึ่งทีเดียว เคยแต่งกลอนเป็นสิบๆ ชิ้นให้เพื่อนๆ เอาไปส่งครูให้ทันเวลาก็มี

สังเกตงานเขียนของเขาได้ว่ามักมีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร ที่ล้วนชวนให้สัมผัสความคิดทั้งนั้น

ไม่เพียงงานเขียนร้อยกรอง แต่งานเขียนร้อยแก้วของจิกก็มีให้ปรากฏ

ผลงานเรื่องสั้น “ขอชื่อสุธี 3-4 ชาติ” ก็เปิดโลกวรรณกรรมให้แฟนๆ อักษรได้สัมผัสงานเขียนของเขา และเป็นหนังสือที่วัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ในยุค 2520 ขึ้นไปรู้จักและชื่นชอบ

 

นอกจากนั้น เขายังเป็นมือเขียนบทละครอีกด้วย เริ่มจากวงในอย่างละครถาปัด ที่จิกและเพื่อนๆ จะล้อมวงเขียนกันอย่างสนุกสนาน พวกเพื่อนๆ ยังจำบรรยากาศของการเขียนบทได้ดีว่าสนุกเพียงไร เพราะแต่ละคนจะสรรหามุขตลกมาเสนอให้ได้หัวเราะกัน จิกเองก็มักมีไอเดียฉีกๆ แปลกๆ มาใส่ในบทละครด้วยเสมอ

วิธีการมองตัวละครของจิก เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกถึงบุคลิกของเขาต่อการมองโลกและชีวิต เพราะเขาจะมองไปถึง “จิตใจ” ของตัวละคร ว่าให้มีบุคลิกอย่างไร คิดอะไร ทำไมถึงแสดงออกมาอย่างนั้น บางครั้งเหมือนคน “มุ่งมั่นโง่ๆ” แต่มันมีที่มาที่ไป

นั่นคงเป็นสิ่งบ่มเพาะให้เขารู้จักมองสิ่งต่างๆ รอบตัวได้แตกต่าง แปลกมุมมองออกไปกว่าเพื่อนๆ และมาปรากฏเด่นชัดในผลงานรุ่นหลังๆ ของเขา

จากเขียนบทละครถาปัด จนมาเขียนบทละครโทรทัศน์ก็หลายเรื่อง เช่น ละคร “คุณยายกายสิทธิ์” “นายแพทย์สนุกสนาน” และ “เทวดาตกสวรรค์” ที่ได้รับเสียงชื่นชมและรางวัลอย่างมาก

ความเป็นนักคิดของจิกเด่นชัดจนเป็นที่ยอมรับ เมื่อเขาได้เป็นคนทำงานบันเทิงเต็มตัว งานด้านต่างๆ จึงฉายความเป็น “นักคิด” ของเขาออกมา  เหมือนแสงสว่างที่ฉาดฉายบนผืนผ้าดำ จนนำพาความสว่างของความคิดให้กับผู้รับรู้ และถูกยกย่องให้เป็นนักคิดแห่งยุคสมัยคนหนึ่ง

พวกเพื่อนๆ จึงดีใจและชื่นชมกับเขา ยิ่งที่ได้เห็น “ศิลปินแห่งเพื่อน” คนนี้ได้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” ประจำปี 2561 ยิ่งปลาบปลื้มเป็นยิ่งนัก

จิก-ประภาส ชลศรานนท์