จุดเปลี่ยนสู่สถานะ “ซูเปอร์สตาร์” ของ “เบิร์ด ธงไชย” : บททดลองเสนอ

คนมองหนัง

ต้นเดือนสิงหาคม 2562 ในคอนเสิร์ต “Singing bird” ของ “พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์”

แขกรับเชิญคนหนึ่งคือ “แสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข” ได้เลือกนำเพลง “ไม่อาจหยั่งรู้” ที่มีเนื้อร้องอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ฝีมือการประพันธ์ของ “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” (ผู้ล่วงลับ) จากผลงานชุด “พริกขี้หนู” มาขับร้อง

โมเมนต์เล็กๆ แต่น่าประทับใจดังกล่าว ทำให้ผมย้อนคิดไปถึงคำถามที่เคยตั้งไว้ในวงสนทนาร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกันบางรายว่า “พี่เบิร์ด” นั้นโด่งดังพุ่งผงาดขึ้นเป็น “ซูเปอร์สตาร์ตัวจริง” จากจุดไหน-ช่วงเวลาใดกันแน่?

ไม่มีใครเถียงว่า “พี่เบิร์ด” คือนักร้องที่ดี (และนักแสดงที่เล่นหนัง/ละครเป็น) นับแต่จุดเริ่มต้นของเขาในวงการบันเทิง

แน่นอนว่าสตูดิโออัลบั้ม 4 ชุดแรกของ “พี่เบิร์ด” ได้แก่ “หาดทราย สายลม สองเรา” “สบาย สบาย” “รับขวัญวันใหม่” และ “ส.ค.ส.” ล้วนมีเพลงฮิตข้ามกาลเวลาบรรจุอยู่

แต่ลำพังองค์ประกอบเหล่านั้น ย่อมไม่สามารถผลักดันให้ “ธงไชย แมคอินไตย์” เปล่งประกายเจิดจ้ากลบรัศมีของ “ดารา” ร่วมสมัยคนอื่น

ถ้ามีแค่ผลงานกลุ่มนั้น “เบิร์ด ธงไชย” คงมิได้ถือครองสถานะ “ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาล” ดังที่พวกเราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้

ไม่มีผู้ใดกล้าปฏิเสธ-โต้เถียงว่า ปี 2533-2534 คือ “จุดเปลี่ยน” ซึ่งนำมาสู่ “ยุคทอง” และสถานภาพ “อภิมหาดารา” ของ “พี่เบิร์ด”

พ.ศ.2533 มหาชนคนไทยรู้จัก “เบิร์ด ธงไชย” จากอัลบั้มชุด “บูมเมอแรง” ที่มียอดขายเกิน 2 ล้านตลับ พ่วงด้วยการสวมบท “โกโบริ” ในละคร “คู่กรรม” ของช่อง 7 ซึ่งทำสถิติเป็นละครโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งความนิยมสูงสุดในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2534 อัลบั้มชุด “พริกขี้หนู” ที่ถูกผลิตออกมาต่อเนื่องเพื่อรองรับความร้อนแรงของ “พี่เบิร์ด” มียอดขายทะยานไปถึงหลัก 3 ล้านตลับ

กระแส “เบิร์ดฟีเวอร์” ในสองขวบปีดังกล่าว ผลักดันให้ “ธงไชย แมคอินไตย์” กลายเป็นซูเปอร์สตาร์อันดับหนึ่งของวงการบันเทิง

อย่างไรก็ดี ในโอกาสนี้ ผมจะมุ่งความสนใจของตนเองไปที่การประกอบสร้างผลงานชุด “บูมเมอแรง” และ “พริกขี้หนู” ซึ่งถือเป็น 2 ใน 3 “จุดเปลี่ยนสำคัญ” ของ “พี่เบิร์ด”

โดยจะทำความเข้าใจกระบวนการผลิตอัลบั้มสองชุดนั้น ผ่านหลักฐานคือข้อมูลในปกเทป-ซีดี ผสานด้วยเรื่องราวจากหนังสือ “สายธารสู่ดวงดาว” ซึ่งแจกเป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจ “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” (2491-2546)

การสร้างสรรค์ผลงานชุด “บูมเมอแรง” นั้นมีเรื่องราวข้างหลังน่าสนใจมากมาย เริ่มจากชื่ออัลบั้มและเพลงแรกหน้าเอของงานชุดดังกล่าว

“เขตต์อรัญ” ซึ่งเป็นคนเขียนคำร้องเพลง “บูมเมอแรง” เปิดเผยกับนิตยสารผู้หญิงเมื่อเดือนมีนาคม 2533 ว่า เดิมทีทีมการตลาดของแกรมมี่นั้นมีปัญหากับชื่อเพลงนี้ ซึ่ง “ไม่ใช่วัฒนธรรมไทย” และอาจไม่สอดคล้องกับวิธีคิดของผู้ฟังชาวไทย

แต่ในที่สุด เพลงนี้ก็ผ่านด่านฉลุยได้เป็นทั้งเพลงเปิดตัวและไตเติลของอัลบั้ม

“บูมเมอแรง” คืออัลบั้มชุดแรกสุดของ “เบิร์ด ธงไชย” ที่มิได้มีชื่อผลงานเป็นภาษาไทย

นี่คือความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ประการแรก

อีกประเด็นที่หลายคนอาจไม่รู้หรือหลงลืมไปแล้วคือ หัวเลี้ยวหัวต่อในฐานะนักร้องของ “พี่เบิร์ด” ก่อนมาถึงของ “บูมเมอแรง”

“เขตต์อรัญ” เคยกล่าวถึงพันธกิจส่วนบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการเขียนเนื้อเพลง “บูมเมอแรง” ของเขาว่า คือการทำอย่างไรให้ “เบิร์ด ธงไชย” “กลับไปยืนตรงที่เก่าให้ได้”

ความหมายของ “บูมเมอแรง” จึงแฝงนัยยะว่า “เบิร์ดนี่ความจริงเขายังไม่ไปไหนหรอก ยังไงเขาต้องอยู่ตรงนี้ แล้วก็จะยังอยู่อีกนาน”

นี่คงเป็นพันธกิจที่สอดคล้องกับโจทย์ทางการตลาด และ/หรือความวิตกกังวลของแกรมมี่ ว่าหลังจากอัลบั้มชุด “ส.ค.ส.” มียอดขายเกิน 9 แสนตลับแล้ว กราฟความนิยมของ “เบิร์ด ธงไชย” จะดิ่งลงหรือไม่? และทำอย่างไร ความนิยมดังกล่าวจะคงอยู่ตรงจุดเดิม?

ยอดขายกว่า 2 ล้านตลับของผลงานชุด “บูมเมอแรง” บ่งบอกว่าทีมงานแกรมมี่ประสบความสำเร็จสูงเกินกว่าโจทย์ตั้งต้นของตนเอง

ทว่าเมื่อเพ่งพิจารณาให้ลึกๆ ความสำเร็จสูงส่งข้างต้นก็เกิดขึ้นพร้อมกับ/เพราะความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่และสำคัญภายในกระบวนการผลิตผลงาน

สตูดิโออัลบั้มสี่ชุดแรกของ “พี่เบิร์ด” บวกด้วยอัลบั้มพิเศษ “พ.ศ.2501” นั้นมี “เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์” รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์

แต่พอมาถึง “บูมเมอแรง” รวมทั้ง “พริกขี้หนู” ชื่อโปรดิวเซอร์ได้เปลี่ยนแปลงเป็น “สมชาย กฤษณะเศรณี” เพื่อนนักดนตรีรุ่นราวคราวเดียวกับ “เรวัต” ซึ่งเข้ามาทำงานเบื้องหลังให้ “เบิร์ด” ตั้งแต่ผลงานชุด “สบาย สบาย”

ผลงานยุคแรกของ “พี่เบิร์ด ธงไชย” มีทีมแต่งทำนอง-เรียบเรียงดนตรีที่หลากหลายพอสมควรอยู่แล้ว

ไล่จาก “จาตุรนต์ เอมซ์บุตร” “ไพฑูรย์ วาทยะกร” “วิชัย อึ้งอัมพร” “เทวัญ ทรัพย์แสนยากร” “กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา” “ชาตรี คงสุวรรณ” “อัสนี โชติกุล” “อภิไชย เย็นพูนสุข” “สมชาย กฤษณะเศรณี” จนถึง “ยงยุทธ มีแสง”

ดังนั้น ทีมงานด้านนี้ในอัลบั้ม “บูมเมอแรง-พริกขี้หนู” จึงมิได้เปลี่ยนรูปแปลงร่างไปชนิดผิดหูผิดตา เป็นเพียงการเสริมเพื่อนร่วมทีมใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา

ได้แก่ “โสฬส ปุณกะบุตร” “สมชัย ขำเลิศกุล” “ชุมพล สุปัญโญ” “อนุวัฒน์ สืบสุวรรณ” โดยมี “นิติพงษ์ ห่อนาค” ข้ามมาแต่งคำร้อง-ทำนอง-เรียบเรียงเป็นกรณีพิเศษ ในเพลง “บ้านของเรา”

ที่เปลี่ยนแปลงเด่นชัดจริงๆ เห็นจะเป็นทีมเขียนเนื้อร้อง

ในอัลบั้ม “หาดทราย สายลม สองเรา” และ “สบาย สบาย” ผู้รับเหมาแต่งคำร้องทุกเพลงคือ “เรวัต พุทธินันทน์” (มี “นิติพงษ์” มาร่วมแต่งด้วยในเพลง “เป็นยังไงกัน”)

กระทั่งถึงอัลบั้ม “รับขวัญวันใหม่” “เต๋อ เรวัต” จึงวางมือจากภารกิจดังกล่าว แล้วส่งมอบงานให้ “นิติพงษ์” “เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์” “อรรณพ จันสุตะ” และผู้ใช้นามปากกาว่า “ก๊วย”

ส่วนอัลบั้มชุด “ส.ค.ส.” รายนามคนเขียนเนื้อร้องจะประกอบไปด้วย “นิติพงษ์” “เต๋อ” “นกน้อย” “บุษบา ดาวเรือง” และ “สีฟ้า”

มาถึงชุด “บูมเมอแรง” ทีมเขียนคำร้องของ “เบิร์ด” จะได้แก่ “เขตต์อรัญ” “อรรณพ” “สีฟ้า” “นิติพงษ์” บวกด้วยสมาชิกใหม่คือ “เปเล่” กับ “ประชา พงษ์สุพัฒน์” ผู้สั่งสมเครดิตมาจากรายการ “สโมสรผึ้งน้อย” และวง “เอ็กซ์วายแซด”

จุดน่าสนใจคือ เพลง “เงาที่หายไป” นั้นระบุเครดิตผู้เขียนเนื้อร้องว่าเป็น “สีฟ้าและคณะ”

ในงานชุด “พริกขี้หนู” นอกจากนักแต่งคำร้องหน้าใหม่ๆ อย่าง “วรัชยา พรหมสถิต” และ “สุรักษ์ สุขเสวี” แล้ว ยังปรากฏนามของ “ประมวล พร้อมพงษ์” และ “มวลหมู่” เป็นหนแรก

เป็นที่รับรู้กันในวงจำกัดว่า “ประมวล พร้อมพงษ์” และ “มวลหมู่” (รวมถึง “มวล พร้อมพงศ์”) นั้นคือ “นามปากการ่วม” ของทีมเขียนคำร้องกลุ่มแรกสุด จำนวน (บวก-ลบ) สิบชีวิตแห่งค่ายแกรมมี่ ซึ่งหมายถึง “นิติพงษ์”, “เขตต์อรัญ”, “ประชา”, “อรรณพ”, “สีฟ้า”, “นวฉัตร”, “วรัชยา”, “สุรักษ์”, “วีระเกียรติ รุจิรกุล” และ “จักราวุธ แสวงผล”

จุดเปลี่ยนสำคัญในขั้นตอนการผลิตอัลบั้มชุด “บูมเมอแรง” และโดยเฉพาะ “พริกขี้หนู” จึงได้แก่ การถือกำเนิดขึ้นของทีมแต่งเนื้อร้อง

เพราะก้าวใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมของ “เบิร์ด ธงไชย” ต้องการทีมเบื้องหลังที่ทั้งระดมสมองและแบ่งงานกันทำในลักษณะอุตสาหกรรมดนตรีมากขึ้น ต้องการแนวทางเนื้อหาที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

ซึ่งลำพัง “เรวัต” และทีมงานไม่กี่คน ไม่สามารถรับผิดชอบไหว

คนฟังย่อมสัมผัสได้ว่าอัลบั้ม “บูมเมอแรง” และ “พริกขี้หนู” นั้นมีความเป็นวาไรตี้สูงขึ้น มีเพลงป๊อปสนุกๆ กระฉับกระเฉง (เต้นได้) เป็นจุดขายมากขึ้น ต่างจากโทนรวมของผลงานสี่ชุดแรก ที่ออกไปทาง “เพลงฟัง” (easy listening)

“เบิร์ด ธงไชย” จึงเป็น “แบบเบิร์ดๆ” ได้อย่างทุกวันนี้ และไม่เหมือน “เบิร์ด” ในช่วงปี 2529-2531 ด้วยความเปลี่ยนแปลงประการนี้

Processed with VSCO with a6 preset

น่าตกใจว่าหากยึดเอาปี 2533-2534 เป็นจุดออกสตาร์ต ทีมงานเบื้องหลังอัลบั้มชุด “บูมเมอแรง-พริกขี้หนู” ก็เกาะเกี่ยวกันได้ไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ

จุดเปลี่ยนใหญ่คือ การเสียชีวิตของ “เต๋อ เรวัต” ใน พ.ศ.2539 ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสมาชิกร่วมทีมที่เหลือ ทั้งในแง่ส่วนบุคคลและในแง่โครงสร้างการทำงาน

“สุรักษ์ สุขเสวี” อดีตนักแต่งเพลงรุ่นเยาว์ของแกรมมี่เมื่อปี 2534 ให้สัมภาษณ์กับ “ธเนศ ธโนดมเดช” ในเว็บไซต์นิตยสารสารคดี (https://www.sarakadee.com/2019/08/01/sulak-suksevi/) ว่าการสูญเสีย “เรวัต” ทำให้บริษัทระส่ำระสายและไม่สามารถรักษายอดขาย “ล้านตลับ” ได้อีกต่อไป

ผู้บริหารที่เหลือจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเร่งเครื่องผลิตอัลบั้มให้มีจำนวนชุดมากขึ้น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดก้อนเดิมเอาไว้

นั่นคือเหตุผลที่กระตุ้นให้สุรักษ์เลือกเดินออกจากบริษัทใหญ่

ก่อน “เขตต์อรัญ” จะเสียชีวิตไม่นาน เขาให้สัมภาษณ์กับนิตยสารอิมเมจ (มีนาคม 2545) และพูดถึงประเด็นคล้ายคลึงกัน โดยอธิบายว่า ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แกรมมี่จึงต้องใช้กลยุทธ์แตกค่ายย่อยออกมาเยอะแยะ เพราะหวังให้ “ยอดขายรวม” ยัง “เวิร์ก” (แม้ “ยอดขายเดี่ยว” จะแย่)

นี่คือจุดแตกต่างจากนโยบายทำเพลงปีละ 10 ชุด โดยวางแผนให้ผลงานทุกชุดขายได้เข้าเป้าหมด ซึ่ง “เต๋อ” เคยกำหนดเอาไว้

แต่เอาเข้าจริง “เขตต์อรัญ” ก็ตัดสินใจลาออกจากแกรมมี่เมื่อปี 2540 ด้วยเหตุผลส่วนตัวอีกข้อ ดังที่เขาบรรยายผ่านนิตยสารอิมเมจว่า “เพลงที่ผมแต่งในระยะหลัง ส่วนใหญ่แทบจะไม่ผ่านการพิจารณาเลย ผมถือว่าเราควรพิจารณาความสามารถของตัวเอง โดยมารยาทในการทำงานก็ถือว่าสมควรต้องลาออก”

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ในนิตยสารผู้หญิงเมื่อ 12 ปีก่อนหน้านั้น ที่ “เขตต์อรัญ” เคยวางมาตรฐานขั้นสูงเอาไว้ว่าเขาไม่ควรแต่งเพลงที่ “ดร็อป” ลงจาก “บูมเมอแรง” และ “ถ้าตกลงเรื่อยๆ ก็เตรียมพิจารณาตัวเองได้”

ท่ามกลางการจากลา-แยกย้ายของบุคคลรายรอบ ตลอดจนสภาพตลาด-อุตสาหกรรมที่ผันแปรไม่เคยหยุดนิ่ง

ดูเหมือนสถานะ “ซูเปอร์สตาร์” ของ “ธงไชย แมคอินไตย์” จะได้รับการโอบกอดประคับประคองไว้อย่างไม่กระทบกระเทือน โดยผู้บริหารแกรมมี่และทีมทำเพลงหลากรุ่นที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาผลิตงานให้ “พี่เบิร์ด”

อย่างไรเสีย อัลบั้มชุด “ชุดรับแขก” (2545) และ “อาสาสนุก” (2553) ก็ยังประสบความสำเร็จทางด้านยอดขาย ในยุคสุดท้ายของเทปและซีดี

อย่างไรก็ตาม ผลงานชุด “Mini Marathon” (2561) ที่แกรมมี่ระดมยอดฝีมือรุ่นปัจจุบันทั้งในและนอกบริษัทมาทำงานร่วมกับ “พี่เบิร์ด” กลับไม่เปรี้ยงปร้างเท่าใดนัก

ราวกับว่าฐานผู้ฟังของ “พี่เบิร์ด” กับศิลปินรุ่นน้องรุ่นหลานเหล่านั้นเป็นคนละกลุ่มกัน

คอนเสิร์ตสเกลไม่ใหญ่ เช่น “Singing Bird” จึงกลายเป็นความพยายามจะย้อนกลับไปสืบหา “รากเหง้า” ดั้งเดิมบางอย่าง ด้วยการขับร้องเพลงเก่าๆ ระลึกถึงผู้คนกลุ่มเก่าๆ ด้วยบรรยากาศเรียบง่าย สบายๆ

บรรยากาศผ่อนคลายเช่นนี้ช่วยเปิดช่องว่างให้เรื่องราวข้างหลังผลงานชุด “บูมเมอแรง” และ “พริกขี้หนู” ได้เบ่งบานมีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง

อย่างน้อยก็ในการรับรู้-ความทรงจำของผู้ฟัง/ผู้ชมรายหนึ่งเช่นผม