เศรษฐกิจ / หุ้นร่วงผล็อยต้อนรับ รบ. ‘ลุงตู่ 2’ วัดฝีมือแก้ปม ศก.ท่ามกลางโลกซบเซา จะหมู่หรือจ่า…รู้กัน

เศรษฐกิจ

 

หุ้นร่วงผล็อยต้อนรับ รบ. ‘ลุงตู่ 2’

วัดฝีมือแก้ปม ศก.ท่ามกลางโลกซบเซา

จะหมู่หรือจ่า…รู้กัน

 

ผ่านเลยครึ่งปีแรกไปแล้วด้วยอาการที่ไม่ค่อยดีนัก เพราะเหลืออีกไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ปีใหม่อีกครั้ง แต่ปัจจัยที่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจโลก และตลาดหุ้นทั่วทุกภูมิภาคดูเหมือนจะยังไม่คลายตัว และยังยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง

จนทำให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยกว่าเป้าหมายคาดการณ์ทั้ง 2 ไตรมาสแรกของปี

ซึ่งสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ออกมาเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.3% ชะลอตัวลงจาก 2.8% ในไตรมาสแรก จน สศช.ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือ 2.7-3.2% จากเดิมคาดการณ์ที่ 3.3-3.8% จากปัจจัยลบสำคัญคือภาคการส่งออกที่เผชิญความเสี่ยงจากสงครามการค้า และภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา สศช.ได้คาดการณ์ส่งออกปีนี้จะติดลบ 1.2%

ไม่เพียงการส่งออกที่ส่ออาการร่อแร่ แต่ภาวะตลาดทุนอย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ส่ออาการเดียวกัน!!

 

จากต้นปีเหมือนท้องฟ้าเปิด ไร้เมฆดำตั้งเค้า ทุกอย่างดูดี สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนทำท่าจะคลี่คลาย ในประเทศได้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งพร้อมบริหารให้ประเทศเดินหน้าได้ตามกฎกติกาของนานาชาติ ถึงขนาดที่นักวิเคราะห์หลายสำนักตั้งเป้าดัชนีจะวิ่งฉิวแตะ 1,800-1,900 จุดทีเดียว

แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่าเปรี้ยงลงเมื่อดัชนีสามารถเคลื่อนไหวขึ้นไปแตะระดับกว่า 1,700 จุด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนก็ปะทุขึ้นรอบใหม่

ประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะขึ้นภาษี 10% จากสินค้าจีน ขณะที่ภายในประเทศ เสถียรภาพของรัฐบาลโดนเขย่าอยู่เป็นระยะๆ ผนวกกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ประกาศใช้มาตรการสกัดเงินทุนต่างชาติที่เข้ามาทำกำไรในตลาดทุนไทย จนส่งผลเกิดการไหลออกอย่างต่อเนื่อง

ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนเป็นกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หันไปลงทุนทองคำซึ่งถือเป็น Safe Heaven แหล่งลงทุนที่ปลอดภัยที่สุด ส่งผลให้ดัชนีหลุด 1,600 จุด ซึ่งเป็นจุดแนวจิตวิทยา และทำให้นักลงทุนเกิดอาการตื่นตกใจว่าดัชนีจะรูดลงถึงไหน

แต่สุดท้ายดัชนีสามารถกลับมายืนเหนือ 1,600 จุดได้ แต่ไม่สามารถไต่ขึ้นไปที่ 1,700 จุดได้ดังเดิม

 

“ประกิต สิริวัฒนเกตุ” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด มองว่า ภาพรวมตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 ข้าง ข้างที่แย่สุดๆ กับข้างที่ทำได้แค่ดี แต่ไม่ได้ดีที่สุด

ปัจจัยที่จะทำให้ภาพตลาดอยู่ในข้างแย่สุดๆ คือประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเกิดความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยไม่มีการเจรจากันเกิดขึ้น และสถานการณ์ความไม่ชัดเจนระหว่างสหรัฐและอิหร่าน รวมถึงกรณีการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) หรือเบร็กซิท

สงครามการค้าที่เกิดขึ้นกำลังกลายสภาพเป็นสงครามการเงิน หากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐปรับค่ากลางให้ค่าเงินอ่อนค่าลง จากที่จีนปรับลดค่าเงินหยวนสู้กับสหรัฐไปก่อนหน้า

แน่นอนว่าสกุลเงินเยนและยูโรก็คงจะไม่สามารถยอมได้ จึงเชื่อว่าน่าจะเกิดนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อดึงให้ค่าเงินของตัวเองไม่อ่อนมากกว่าต่างประเทศมากนัก

 

ส่วนข้างดีที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ยังเป็นผลพวงจากสงครามการค้า หากสหรัฐทำให้สกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า สกุลเงินหลักอื่นๆ ก็ต้องทำให้ค่าเงินอยู่ในระดับเดียวกันได้ โดยใช้นโยบายทางการเงินผ่อนคลายมากขึ้นตามคาด

สิ่งที่ตามมาคือการพิมพ์พันธบัตรมากขึ้น ซึ่งต้องไหลไปตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่

จึงคาดว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาพรวมดีขึ้นได้ โดยไทยจะได้รับอานิสงส์ด้วย

อีกเหตุผลคือสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างตลาดพันธบัตร เมื่อเกิดภาวะอัตราผลตอบแทนลดลงจนเกือบติดลบในหลายประเทศในห้วงเวลานี้ ซึ่งผิดธรรมชาตินั้น ทำให้เกิดการโยกเงินมาอยู่ในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยเฉพาะตลาดหุ้น

และยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้

แต่เป็นการฟื้นตัวในลักษณะพักฐาน

 

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ว่า ตลาดกังวลมากเกินไปกับภาวะดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว แม้ว่าภาวะดังกล่าวจะถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ในอดีตสามารถใช้คาดการณ์การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยล่วงหน้าได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประสิทธิภาพดังกล่าวอาจลดลง เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่เศรษฐกิจชะลอลงทั่วโลกในรอบนี้เป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงภาคเศรษฐกิจที่มีปัญหาในปัจจุบันเกิดขึ้นในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความสำคัญลดน้อยลง เมื่อเทียบกับภาคบริการที่มีความสำคัญมากขึ้น

นอกจากนี้ ภาวะที่เกิดขึ้นก็มาจากผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่เข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวในช่วงก่อนหน้า รวมถึงเป็นผลจากการที่กองทุนต่างๆ เข้าลงทุนในพันธบัตรเพื่อประกันความเสี่ยง หากท้ายที่สุดภาวะดังกล่าวเป็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยจริง จากสถิติจะมีเวลาประมาณ 12-24 เดือน ก่อนเศรษฐกิจจะถดถอยจริง

ทำให้นักลงทุนน่าจะพอมีเวลาปรับสัดส่วนการลงทุนได้

 

จากปัจจัยที่เหลือ ดูท่าจะค่อนข้างหนักหน่วง โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกประเทศเป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมได้ จึงเหลือปัจจัยในประเทศที่พอจะพยุงภาวะเศรษฐกิจร้ายๆ ให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง

ซึ่งไม่รู้ว่าควรต้องเอาใจช่วย หรือคอยดูฝีมือ รัฐบาล “ลุงตู่ 2” ที่ถนัดกับวิธีแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ที่ใช้มา 5 ปีในรัฐบาล “ลุงตู่ 1” นั่นก็คือ แจกแหลกให้กับคนฐานราก

รอบนี้อนุมัติใช้เงินงบประมาณอีก 3.1 แสนล้าน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ดีขึ้น เป็นมาตรการที่ตอบโจทย์ ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นคนไทยทั้งประเทศกล้าจับจ่ายใช้สอย เกิดแรงกระเพื่อมให้ภาคเอกชนขยับการลงทุนจากที่นิ่งๆ Wait and See ก็น่าจะพอยืนหยัดกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังเป็นกังวลว่าจะเกิดภาวะถดถอยในปีหน้าหรือไม่

ก็หวังใจว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะสัมฤทธิผล

    อย่าเป็นการใช้ภาษีประชาชน โดยเฉพาะเงินภาษีจากคนชั้นกลางมาตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเลย…เพี้ยง!