ทุบแล้วหวาน (ไม่กลัวถูกทุบ) / ฉบับประจำวันที่ 23-29 สิงหาคม 2562

ต้องยอมรับการเข้าบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่ราบรื่นอย่างยิ่ง
ตั้งแต่ปัญหายากๆ อย่างปัญหาเศรษฐกิจ ที่ตกต่ำเกินความคาดหมาย
ปัญหาทางการเมือง ก็มีมากมาย ตั้งแต่การมีเสียงปริ่มน้ำในสภา ทำให้พ่ายฝ่ายค้านมาแล้วถึง 2 ครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเกิดต่อไป
ปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่การเลือกตั้ง นั่นคือ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่
ต่อเนื่องมาถึงปัญหาการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
รวมถึงการแถลงนโยบายที่ไม่ระบุแหล่งที่มาของเงิน ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเช่นกัน
ปัญหาทางความมั่นคง กรณีเกิดเหตุระเบิดต่อเนื่องหลายจุดในพื้นที่ราชการและธุรกิจ ที่จนบัดนี้ยังขยายผลไปถึงมาสเตอร์มายด์ยังไม่ได้
เป็นต้น
ปัญหาเหล่านี้รุมเร้ารัฐบาลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีเวลาหายใจหายคอ
และนำไปสู่การประเมินอายุของรัฐบาล ว่าอาจจะไม่ยาวนาน
“อุบัติเหตุ” สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะขอรับผิดชอบเพียงคนเดียว กรณีปัญหาการถวายสัตย์ ก็ถูกตีความในทันทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ถอดใจจะลาออก
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกมาให้ความมั่นใจในเวลาต่อมาว่า ไม่เคยคิดลาออก
พร้อมจะเดินหน้าทำงานต่อไป
และแปรวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการออกเดินสายตรวจงานพื้นที่ต่างๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการออกไปพบปะประชาชนแล้ว
ยังเป็นเหตุผลสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ยกเป็นข้ออ้างไม่เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร
โดยเฉพาะการตอบกระทู้สด กรณีการถวายสัตย์
ซึ่งนอกจากจะเลี่ยงการถูกฝ่ายค้านรุม “ทุบ” แล้ว
ยังเป็นการซื้อเวลา เพื่อที่จะให้เรื่องการถวายสัตย์ไปเข้าสู่กระบวนการอื่นนอกเหนือจากสภา นั่นคือ ให้เรื่องไปสู่ผู้ตรวจการรัฐสภา ที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้ว่าควรจะส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
หากส่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็จะใช้เป็นเหตุผลบอกสภาว่าไม่มีอะไรชี้แจงเพราะต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ซึ่งกว่าจะถึง “จังหวะ” นั้น เรื่องที่ร้อนก็น่าจะเย็นลง
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ก็พยายามแปรวิกฤตเป็นโอกาส
สร้าง “วาระงาน” ในต่างจังหวัด ที่จะไปตรวจอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าประชุมสภา
ขณะเดียวกัน ก็เร่งหาทางปิดจุดอ่อนที่เกิดขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน ว่ารัฐบาลของตนจะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปตรวจปัญหาความแห้งแล้งที่ จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์
ซึ่ง ณ ที่นั่น พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้โอกาสสร้างจุดแข็งให้ตนเองหลายจุดแข็ง
นับตั้งแต่การสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล โดยกล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับว่า
“พูดก็เหนื่อยเหลือเกิน พอทำเหนื่อยกว่าอีก เหนื่อยมา 5 ปีแล้ว เดี๋ยวจะหาว่าผมมาบ่น ผมไม่ได้มาบ่น เขาบอกว่าบ่นมากก็ให้ออกไปสิ แหม ทำไมใจร้ายกับผมจริงๆ วันนี้เรามาช่วยทำงานในรัฐบาลใหม่ ไม่ได้บ่นอย่างนั้น แต่บางทีผมบ่นตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับใครเลยสักคน”
“ผมยังไม่ลาออกแน่นอน ไม่มีลาออก”
“เอาอย่างนี้ดีกว่า ผมเหมือนกระท้อน ยิ่งทุบ ยิ่งตี ยิ่งอร่อย ยิ่งหวาน ผมชอบ”
ถือเป็นการสยบข่าวลือเรื่องลาออกอีกครั้ง
และครานี้ยังเปรียบตนเองเป็น “กระท้อน” ที่ยิ่งทุบ ยิ่งหวาน
เหมือนเป็นการส่งสัญญาณไปยังฝ่ายค้านและฝ่ายต่อต้าน ว่ายิ่งถูกโจมตี ยิ่งแข็งแกร่ง

กระนั้นก็มีเสียงนินทามาจากฝ่ายค้าน
คือขณะ ปากบอกว่าไม่กลัวการถูกทุบ
แล้วไฉนจึงทำทุกวิถีทางที่จะไม่เข้าประชุมสภา
จนทำให้ดูเหมือนพูดอย่าง (ไม่กลัวถูกทุบ)
แต่ทำอย่าง (หนีสภาไม่ยอมตอบกระทู้เพราะกลัวถูกทุบ)
คำพูดดูจะขัด-ขัด กันพิกล
———————